ประเพณีแห่นางแมวขอฝน เป็นมาอย่างไร ? ได้ผลจริงไหม ?
การแห่นางแมว เป็นพิธีอ้อนวอนขอฝน ซึ่งจัดขึ้นในปีใดที่ท้องถิ่นใดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สาเหตุที่ฝนไม่ตกมีหลายประการ ปราชญ์ชาวบ้านกล่าวไว้ว่า น้ำฝนนั้นเป็นน้ำของเทวดา เป็นสัญลักษณ์ของความดี ความบริสุทธิ์ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝนไม่ตกเพราะประชาชนชาวเมืองหย่อนในศีลธรรม ผู้นำไม่ตั้งมั่นอยู่ในความเที่ยงธรรม เป็นต้น ถ้ามนุษย์อยากให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็ควรตั้งอยู่ในศีลธรรม
ชาวอีสาน (บางท้องถิ่น) ได้ทำพิธีอ้อนวอนขอฝน และการที่ต้องใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญในการขอฝน เพราะเชื่อว่าแมว เป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที จึงถือเอาเคล็ดที่แมวร้องในเวลาฝนตกว่า จะเป็นเหตุให้ฝนตกจริง ๆ ชาวบ้านจึงร่วมกันสาดน้ำ และทำให้แมวร้องมากที่สุดจึงจะเป็นผลดี และมีความเชื่อว่า หลังจากทำพิธีแห่นางแมวแล้ว ฝนจะตกลงมาตามคำอ้อนวอน และตามคำเซิ้งของนางแมว
สิ่งของที่ใช้ในพิธีแห่นางแมว
1.กะทอหรือเข่ง หรือกระบุงที่มีฝาปิดข้างบน 1 อัน
2.แมวสีดำ หรือสีสวาด ตัวเมีย 1-3 ตัว
3.เทียน และดอกไม้ อย่างละ 5 คู่
4.ไม้สำหรับสอดกะทอให้คนหาม 1 อัน
( เป็นความเชื่อเฉพาะบางกลุ่ม บางชุมชน)