ดวงฤทธิ์กร้าว "กลัวที่ไหน" จ่อฟ้องกลับ DES ทั้งกระทรวง
จากกรณีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาเปิดเผยว่ากำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด (บริษัท แอคแคปฯ) ที่ทำถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีเนื้อหาอ้างว่า บริษัท แอคแคปฯสามารถจัดหาวัคซีนชิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส และสามารถจัดส่งให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ไม่สามารถติดต่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้ จนมีการเผยแพร่หนังสือฉบับดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดถึงการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีบุคคลและกลุ่มบุคคลนำไปวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวหาในทำนองว่า รัฐบาลมีการเรียกรับผลประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเข้าข่ายการหมิ่นประมาท และเสนอข้อมูลเท็จอย่างชัดเจน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนและนำเข้าวัคซีนมีระเบียบขั้นตอนการดำเนินการตามช่องทางกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าพบใครเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาเกิดความพยายามในการตั้งประเด็นโจมตีการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง อาจมีการวางแผนเป็นขบวนการเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลหรือไม่ โดยเฉพาะนายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก และแกนนำกลุ่มแคร์ คิดเคลื่อนไทย ที่มักร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย นำไปพูดคุยแสดงความคิดเห็นผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ รวมทั้งการทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกด้วย
.
เมื่อต้นเดือน พ.ค.64 นายดวงฤทธิ์ ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์อ้างว่า มีรุ่นน้องที่รู้จักกันพยายามนำวัคซีนซิโนฟาร์ม 20 ล้านโดสให้รัฐบาล และระบุว่า "ประสานไปที่คนของรัฐบาลทุกช่องทางแล้ว มันถามหาผลประโยชน์ตอบแทนกันก่อนหมดเลย" จนมีผู้มารีทวิตหรือเผยแพร่ข้อความต่อจำนวนมาก และยังมีหลักฐานว่า มีความสนิทสนมกับ นายกรกฤษณ์ กิติสิน หนึ่งในผู้บริหารของบริษัท แอคแคปฯ ด้วย
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นได้มีความเคลื่อนไหวจากนายดวงฤทธิ์ บุนนาค ทวีตข้อความเมื่อเวลา 12.22 น. วันที่ 29 พ.ค. ระบุว่า "พอเรานิ่งๆก็มาขู่จะฟ้อง เดี๋ยวผมชิงฟ้องหมิ่นประมาทก่อน อาจจะเงิบทั้งกระทรวงนะครับ อยู่เงียบๆสร้างความเจริญให้กับชาติก่อนดีมั้ย มาทำคะแนนกับคนตัวเล็กๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย" อย่างไรก็ตาม นายดวงฤทธิ์ ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกไปแล้ว
อ้างอิงจาก: Thailand Vision