เกษตรอินทรีย์ของดีทำไมไม่มีใครทำตาม
ทำเกษตรอินทรีย์ทำไมจึงดูขี้เกียจจนและโง่
ใครๆก็บอกว่าเกษตรอินทรีย์เป็นของดี ของปลอดภัย แต่ทำไมของดีไม่มีใครทำตาม
ถ้าลองไปถามชาวบ้านก็ทำไร่ทำสวน ปลูกผัก ปลูกข้าวขาย ว่าการทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีมันดีไหม
ทุกคนก็ต้องบอกว่าดี ดีทุกเรื่องเลยไม่เคยมีใครค้านว่ามันไม่ดี แต่ทำไมสิ่งที่ทำแล้วดี ก็ไม่มีใครอยากทำ
อาจารย์แสวง รวยสูงเนิน ท่านพยายามผลักดันให้เกษตรอินทรีย์มันเกิดขึ้นให้ได้ แต่ดันยังไงชาวบ้านก็ไม่เอาด้วย หรือถ้าเอาด้วยก็น้อยเต็มที บางคนเข้ามาร่วมโครงการ แต่กลับไม่ยอมทำตามแผนการที่อาจารย์ได้บอกไว้
อาจารย์ก็เลยแอบไปถามชาวบ้านเงียบๆว่า ทำไมแนวคิดของอาจารย์ถึงไม่มีคนสนใจ
ทั้งการไม่เผาฟางข้าว การไม่ต้องกำจัดวัชพืช การทำปุ๋ยหมัก การทำปุ๋ยพืชสด หรือการเก็บเอาปุ๋ยคอกมาไว้ใช้ในแปลงเกษตรของตัวเองแทนที่จะต้องไปซื้อปุ๋ยเคมี มันช่วยเราลดต้นทุนได้ แล้วมันก็ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและตัวเกษตรกรเองด้วย
ที่เขาไม่ทำเพราะไม่อยากให้คนอื่นมองว่าเขาเป็นคนขี้เกียจและโง่แค่ฟางข้าวก็ไม่ยอมเผา ไม่ขยันทำงานในแบบที่คนแถวนี้เขาทำกัน
การปล่อยนาให้รก มันมองดูเหมือนกับทำนาแบบคนมักง่าย ไม่ทำเหมือนคนอื่นทั่วไปที่เขาถือว่าเป็นคนขยันขันแข็งทำกัน
ทำตัวเหมือนคนยากจน ต้องคอยไปขนขี้วัวขี้ควาย ขี้หมู เอามาทำปุ๋ยใช้เอง ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำด้วยความยุ่งยากและเสียเวลา สู้การไปซื้อปุ๋ยเคมีที่ตลาดมาใช้สบายกว่ากันเยอะเลย
มัวมาหน้าโง่อยู่ทำไม
คำนี้เราเป็นคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสังคมชนบทแบบนั้น เราอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่คนที่โดนคนในหมู่บ้านเดียวกันดูถูกเช่นนั้น มันเจ็บใจ และไม่อยากเป็นขี้ปากชาวบ้าน จึงเลือกที่จะไม่ทำ แต่กลับไปทำเหมือนที่คนอื่นทำกันแบบเดิมๆ
อาจารย์เลยได้ข้อสรุปว่าความยากของการทำเกษตรอินทรีย์ คือมันไม่ทันสมัย ไม่ทันใจ ไม่เท่ คนทั่วไปจะดูถูกเราได้ว่าเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน มักง่าย
นี่คือความเป็นจริงของสถานการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ในมุมมองของชาวบ้าน
ต้องเข้าใจว่าการทำอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อน มันอาจจะไม่เหมาะกับขนบธรรมเนียมที่ได้เคยทำกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย และสิ่งนี้มันก็ได้ปลูกฝังกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น
ดังนั้นที่เราเห็นว่ามีเกษตรกรบางคนที่มีหัวก้าวหน้าสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้เป็นผลสำเร็จจึงมีไม่มากนะแต่ที่เป็นข่าวเพราะต้องการจะผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในสังคมเกษตรบ้านเรา
ถ้าเราได้ตามข่าวการสุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ในตลาดว่ามีสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่ ผลที่ออกมาทุกครั้งก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่คือเกือบทั้งหมดมีสารเคมีเจือปนอยู่
แต่นั่นก็ไม่น่าแปลกใจอะไร ถ้าเราไปดูที่ร้านค้าเกี่ยวกับสินค้าเกษตรเราก็จะเห็นว่ามีสารเคมีวางขายอยู่เต็มร้านแล้วก็ขายดีซะด้วย
แม้แต่ข้าวที่เรากินอยู่ทุกมื้อ ทุกวัน ก็มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีชนิดต่างๆเป็นปัจจัยการผลิต มิฉะนั้นข้าวก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้เร็วอย่างใจต้องการ
ปัจจุบันกระบวนการผลิตอย่างต้องพึ่งพาสารเคมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การฉีดยาเพื่อควบคุมวัชพืชไม่ให้งอก การเร่งการเจริญเติบโตด้วยการใช้ปุ๋ยเคมี เปิดการใช้ยากำจัดแมลงศัตรูพืชเช่นพวกกระโดดสีน้ำตาลหรือหนอนกระทู้ข้าวเป็นต้น
แต่ก็น่าจะเห็นใจเกษตรกรเพราะไม่คุ้นเคยกับการทำเกษตรแบบชีววิถีซึ่งต้องใช้ความรู้เชิงลึกเรื่องพืชและแมลงและต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานไปทำแบบที่ไม่คุ้นเคย
เหตุผลที่สำคัญก็อย่างที่เล่ามาตอนต้นคือแรงต้านของคนรอบข้างที่คอยขัดไม่ให้ริเริ่มที่จะทำสิ่งใหม่ๆขึ้นได้ ต้องทนทำสิ่งเดิมๆที่เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเองต่อไป
ถ้าลองไปตรวจหาสารเคมีในร่างกายของเกษตรกรก็คงจะให้ผลไม่ต่างกันกับการไปตรวจหาในผักผลไม้ในตลาด แล้วคนที่เป็นผู้บริโภคอย่างเราก็อยู่ในภาวะจำยอมหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะจะหาพืชผลทางการเกษตรที่ผลิตแบบอินทรีย์มาบริโภคก็ช่างเป็นเรื่องยากเหลือเกิน แถมราคาก็ยังสูงอีกด้วย
เพราะฉะนั้นการที่เราลองหันมาผลิตอาหารไว้กินเองบ้างก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่ถ้าเราเห็นความจำเป็นเรื่องความปลอดภัยจริงๆแล้วเราก็เราก็ควรจะเลือกทำ ไม่เช่นนั้นเราก็คงต้องทนบริโภคอาหารที่มีสารพิษเจือปนแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ