"ธนาธร" ถามถึงนายกฯ หลังยืนยันจะซื้ออาวุธ ในช่วง covid-19
“ที่กองทัพบอกว่ามีความจำเป็นต้องเอางบไปซื้ออาวุธในช่วงนี้ ถูกต้องแล้วเพราะเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ผมขอถามว่าอย่างนั้นเราจะมีผู้นำไปทำไม?
หน้าที่ของผู้นำในภาวะวิกฤติคือการจัดสรรทรัพยากร ต้องโยกคนไปที่ไหน ต้องโยกงบประมาณไปที่ไหน จะเอางบประมาณจากที่ไหนไปที่ไหน ฯลฯ นี่คือผู้นำ เพราะผู้นำคือคนที่มีอำนาจ คือคนที่มีทรัพยากร คือคนที่จะต้องกระจายทรัพยากรไปในหน่วยงาน ไปในประเด็น ไปในพื้นที่ที่ต้องการ เหมาะสม ตามแต่ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ของผู้นำคนนั้นๆ
ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แล้วเราจะมีผู้นำไปทำไม? ถ้าทุกอย่างเป็นแบบล่างขึ้นบนทั้งหมด เราก็ไม่ต้องมีผู้นำก็ได้ ประเทศนี้ปกครองโดยข้าราชการไปเลย ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง
การจัดสรรทรัพยากรในประเทศไทยมีปัญหาแบบนี้มาตลอด ผมยกตัวอย่าง ในปี 2560 กระทรวงกลาโหมมีบุคลากรทั้งหมด 3.96 แสนคน ผ่านไปสามปีเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 แสนคน เท่ากับว่าในเวลาเพียงสามปี ตั้งแต่ 2560-2563 จำนวนบุคลากรของกระทรวงกลาโหม (ถ้าไม่นับทหารเกณฑ์) เพิ่มขึ้น 21.2%
แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน 2559 ประเทศไทยมีจำนวนอัตราพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่ 1.08 แสนคน ผ่านไปสี่ปี ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1.18 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 9.48% ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
ลองใช้สามัญสำนึกตัดสินดู ว่าใน 5 ปีที่ผ่านมาเราควรเพิ่มจำนวนบุคลากรของกระทรวงกลาโหมหรือควรจะเพิ่มบุคลากรพยาบาลวิชาชีพมากกว่า? คุณไม่ต้องจบสูงเลย ใช้สามัญสำนึกง่ายๆ ผมก็คิดว่าเราน่าจะตัดสินกันได้ ว่านี่คือการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดฝาผิดตัวหรือไม่?
อีกหนึ่งตัวอย่างก็คืองบปี 2565 โดยภาพรวมลดลงประมาณ 6% แต่ทราบไหมว่างบประมาณของบุคลากรกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น 1% ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินทั้งภาพรวมของปี 2565 ลดลง 6%
คำถามคือ จังหวะนี้ควรจะต้องเพิ่มบุคลากรของกองทัพหรือว่าหมอ/พยาบาล? ทำไมคุณถึงปล่อยให้งบประมาณบุคลากรของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่งบประมาณภาพรวมลดลง 6%"
(2)
“ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาพูด ว่าให้ประชาชนออกมาช่วยกันใช้จ่าย เอาเงินเก็บของทุกคนออกมาใช้ ทุกคนช่วยกันรักชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP จะเติบโตขึ้นไปถึง 4% ได้
การพูดแบบนี้สำหรับผมเป็นการพูดที่ไม่รับผิดชอบ วันนี้หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสูงมาก สูงจนน่าตกใจ ขึ้นไปเป็น 90% ของ GDP แล้ว ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ตอนนี้ก็ประมาณ 14 ล้านล้านบาท โดยเฉลี่ยคนไทยมีหนี้ 1.3 แสนบาทต่อครัวเรือน
แล้วคนที่มีเงินเก็บ ที่พอจะใช้จ่ายได้จริงๆก็คือคนที่มีเงินเท่านั้น ซึ่งคนที่มีเงินเก็บในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาทในปัจจุบันมีเพียงแค่ 1.4% ของบัญชีเงินฝากที่มีอยู่ในประเทศไทย ผมจึงรู้สึกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำคือการทำด้วยความไม่เข้าใจหัวอกของคนจน ของคนที่กำลังต่อสู้
เรื่องนี้พูดกันเยอะในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขากำลังพูดเรื่องนี้กัน ว่าเศรษฐกิจของเขากำลังจะดีขึ้น เพราะประชาชนอัดอั้นมานาน ไม่ได้ใช้จ่าย เพราะฉะนั้นประชาชนจะไปเที่ยว จะเอาเงินฝากในช่วงที่ติดโควิด อยู่บ้านไม่ได้ใช้จ่ายออกมาใช้จ่าย
แต่สิ่งที่รัฐมนตรีพลังงานพูดมันผิดฝาผิดตัวจากสภาพพื้นฐานของประเทศไทยมาก ในช่วงโควิด ประชาชนในประเทศต่างๆเหล่านั้นได้รับการดูแลอย่างดี ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อครัวเรือนมันไม่รุนแรงเหมือนประเทศไทย มันจึงเป็นเซนส์ของความรื่นเริง ความหวัง ว่าวัคซีนกำลังจะฉีดเสร็จแล้วนะ กำลังจะจัดการโควิดได้แล้วนะ ควรจะเริ่มออกมาใช้จ่ายได้แล้วนะ
มันเป็นเซนส์นั้น ที่จะบอกว่าควรออกมาใช้จ่ายแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่พอกลับมาดูเมืองไทย บัญชีเงินฝากทั้งหมดในประเทศไทย ส่วนมากถึง 80% มีเงินเก็บอยู่ไม่ถึง 50,000 บาท ดังนั้นตรงนี้มันผิดฝาผิดตัวมาก ที่จะออกมาเรียกร้องให้คนไทยใช้จ่าย
ปัจจุบันอย่าว่าแต่ใช้จ่ายเลย เขากำลังคิดกันอยู่ว่าจะออมอย่างไร จะลดค่าใช้จ่ายอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดได้ถึงสิ้นเดือน ไม่มีคนที่มีเงินเหลือในบัญชีมากพอที่จะเอามาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 1% ยังไม่รู้เลยว่าจะถึงหรือเปล่า"
อ้างอิงจาก: Facebook : Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ