"จตุพร" เล็งชุมนุมออนไลน์ พร้อมเปิดตัว "ธีระชัย-ไพศาล"
วันนี้ มีรายงานว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้เฟชบุ๊คไลฟ์ peace talk ถึงรูปแบบการปราศรัยออนไลน์ เวทีไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย ในหัวข้อ “24 เมษา ยก 2 ประยุทธ์ออกไป”
นายจตุพร กล่าวว่า การจัดรูปแบบชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดีย ในนัยยะหนึ่งเกี่ยวกับมาตรการโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดไปทั่วประเทศนั้นจะต้องมีการวิพากษ์ถึงความล้มเหลว และชี้ให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่สมควรที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปแม้แต่เพียงวันเดียว
ในวันที่ 24 เมษายนนี้ จะเริ่มต้นกิจกรรมปราศรัยในเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยจะมีผู้ปราศรัยร่วมเเสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้น โดยไฮไลท์หลักของวันแรกจะอยู่ที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจของประเทศ การเงินการคลัง หรือกรณีเรื่องทุนผูกขาด จึงอยากให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับรู้อย่างเท่าเทียมกันว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ไหน
ดังนั้น อยากให้พี่น้องประชาชนได้รับฟังว่าอย่างน้อยที่สุดในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันนั้นเราควรมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เป็นความจริงของประเทศไทย หรือแม้กระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ควรจะรับฟัง
พร้อมเปรียบเปรยว่า ขณะนี้ ใครเข้ามามีอำนาจ หูก็จะเริ่มหาย ก็คือเป็นเหมือนกับโดเรมอน แต่ว่าเป็นมนุษย์ที่ไร้หูซึ่งหมายความว่าใครพูดอะไร เสียงจะไม่เข้าหู แต่จะเข้าจมูกเป็นหลัก ก็จะมีการอาละวาดไปตอบโต้ไม่รับฟัง
อีกทั้ง ข้อเสนอแนะใด ๆ ในการหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองทั้งที่ตัวเองก็ไม่มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาชาติแต่อย่างใด สภาพผู้นำที่ไร้หูนั้นเป็นภาวะวิกฤตของประเทศ ซึ่งในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติ ผู้นำที่ไม่ฟังใครนั้นก็คนอาจจะไม่รู้สึกถึงผลกระทบ แต่ความล้มเหลวในทุกมิติโดยเฉพาะการบริหารการจัดการเรื่องวัคซีน ซึ่งต้องโทษคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีว่าเมื่อประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นอำนาจมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี และ ศบค. ก็ต้องฟังนายกรัฐมนตรี เพราะตอนนี้เป็นมาตรการเหมือนกับการใช้มาตรา 44 แต่อยู่ในรูปแบบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ดังนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้กระทั่งการจัดหาวัคซีน นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขเข้าไปเป็นกรรมการร่วมรับผิดชอบ แปลความว่า ปัญหาทั้งหมดที่พยายามยกมาอธิบายว่า มีการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดคิดว่า ควบคุมโควิด-19 ได้ทำให้การบริหารการจัดการเรื่องวัคซีนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นการอธิบายความล้มเหลวได้อย่างทุเรศ แต่ปัญหาหลักวันนี้ ที่อยากให้นายกรัฐมนตรีได้ทบทวน คือสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหรือไม่
ส่วนกิจกรรมต่อเนื่องในวันที่ 25 เมษายนนี้ ไฮไลท์จะอยู่ที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนที่ติดตามในเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐบาลรับมือบกพร่องผิดพลาดกันอย่างไร อยากให้ติดตามกัน
นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์การที่บริหารประเทศจนกระทั่งไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ โควิด-19 ได้ หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพลเอกประยุทธ์ จึงไม่ทำเรื่องขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงขอคำปรึกษา หรือฟังข้อเสนอแนะจากในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งปกติแล้วในสถานการณ์ที่บ้านเมืองวิกฤต คนที่เป็นผู้นำประเทศต้องทำเรื่องขอเข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานคำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้
ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพลเอกประยุทธ์ไม่กระทำ เพราะสถานการณ์ที่มันเลยเถิดจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้มีหลากหลายเรื่องราวที่เดินเข้ามาสู่จุดนี้ และนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่กระทำการในเรื่องนี้
.
นอกจากนี้ การพยายามที่จะปั่นกระแสใด ๆ ก็ตาม ซึ่งจะไม่เป็นผลดี ซึ่งหลายเรื่องราว บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นมืองานของรัฐบาลตัวจี๊ดจ๊าดทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ชำนาญการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด แต่เป็นผู้ชำนาญการในอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคระบาด ก็กลายเป็นหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐบาลชุดนี้ในการสร้างความหวาดวิตกให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน
.
ดังนั้น เรื่องนี้ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ควรจะได้รับการสะสาง และส่วนตัวมองว่า การจะอยู่โดยกล่าวอ้างสถานการณ์โควิด-19 โดยแก้ไขปัญหาชาติไม่ได้ หรือจะอยู่โดยอ้างว่า รอฉีดวัคซีนคนให้ครบนั้น หากเป็นคนที่มีประสิทธิภาพปีนี้ทุกอย่างจะจบหมด แต่เพราะเรามีรัฐบาลที่ด้อยประสิทธิภาพ ยโส โอหัง อวดดี และห่วยแตก ไม่รับฟังใคร
อีกอย่าง ตนอยากเรียกร้องให้ผู้ที่มีความรู้ กล้าที่จะลุกขึ้นมาอธิบายเพราะหลากหลายเรื่องราวมันผิดปกติเป็นที่น่าสงสัย เพราะอย่างน้อยจะได้แลเห็นว่าในสถานการณ์ที่คนไทยได้รับโชคชะตากันอย่างนี้นั้นก็มีคนได้ประโยชน์กันอยู่มากมาย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ประโยชน์อันนี้มันคือความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ค้างคาที่ต้องการจะสื่อความให้เห็นว่าทำไมเราไม่สามารถที่จะให้พลเอกประยุทธ์บริหารประเทศชาติบ้านเมืองได้ต่อไป
“7 ปีที่ผ่านมานั้น ถ้ามันมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมเพียงแค่เรื่องเดียวให้เห็น คนอาจจะมีความรู้สึก แต่นี่ลองอธิบายถึงความสำเร็จว่า ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม ซึ่งกำลังจะครบ 7 ปีในเดือนหน้านี้ มีอะไรที่เป็นความสำเร็จ มีอะไรที่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาบ้าง”
พร้อมย้ำว่า หากพลเอกประยุทธ์ออกไปตนเชื่อว่า เราจะได้สถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน การอยู่ หรือไปของพลเอกประยุทธ์นั้นตนขอย้ำอีกครั้งว่า จะเคียงคู่กับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 นั้นอย่างที่ตนเคยบอกว่า เป็นมรดกบาปเป็นพินัยกรรมของคนที่ได้รับประโยชน์ คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะฉะนั้นการแก้ไขพินัยกรรมเพื่อให้ประโยชน์ตกเป็นของคนอื่นนั้นคนที่ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมไม่มีวันจะทำให้ดังนั้น มันจึงเป็นหน้าที่ของประชาชน
ขณะเดียวกัน ในปรากฏการของคณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทยนั้นเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น แต่ไปตรงกับความรู้สึกของประชาชนที่เขามีความทุกข์ยาก ดังนั้นแม้ว่าเป็นเรื่องที่ยากของการเปิดประตูให้กับคู่ขัดแย้งที่จะต้องวางเรื่องของตัวเองไว้ชั่วคราวสามัคคีกันเฉพาะหน้า เอาพลเอกประยุทธ์ออกไปนั้น ยังเป็นภารกิจที่มีความสำคัญจะต้องทำจิตใจให้กว้างขวาง ต้องทำจิตใจให้ผ่องโต ต้องทำจิตใจให้ใหญ่มากเพื่อแลกกับสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมานั่นคือการเอาพลเอกประยุทธ์ออกไป
อ้างอิงจาก: เพจ : Thailand Vision