หนองใน
หนองใน เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด โดยปกติแล้วผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการของโรคอย่างชัดเจน ควรรีบการรักษาก่อนที่จะแพร่สู่คู่นอน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากยิ่งขึ้น
หนองในคืออะไร ?
หนองในเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและสารน้ำในช่องคลอด จึงถ่ายทอดผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โรคหนองในแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- โรคหนองในแท้
- โรคหนองในเทียม
หนองในแท้และหนองในเทียมต่างกันอย่างไร
หนองในแท้และหนองในเทียมถึงแม้จะมีชื่อคล้ายกันแต่มีสาเหตุการติดเชื้อ อาการ รวมทั้งการรักษาที่ต่างกัน ดังนี้
หนองในแท้
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย
- มีระยะการฟักตัวของโรคประมาณ 1-14 วัน
- การรักษาใช้ยาปฏิชีวนะหลายขนานคือ เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) เป็นยาฉีด ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น อซิโทรมัยซิน (azithromycin) ครั้งเดียว เพื่อลดปัญหาเชื้อโรคดื้อยา
หนองในเทียม
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis)
- มีระยะการฟักตัวของโรคมากกว่า 10 วันขึ้นไป
- การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มด็อกซีไซคลิน (Doxycyclin) อะซิโธรมัยซิน (azithromycin) และยากลุ่มควิโนโลน (Quinolones) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน
อาการของโรคหนองใน
อาการ ในผู้ชาย |
อาการ ในผู้หญิง |
มีอาการปัสสาวะแสบขัด และมีหนองสีขาวขุ่นข้นไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ซึ่งในระยะแรกๆ หนองอาจจะไม่ขุ่นเท่าไร แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้หนองขุ่นขึ้น มีโอกาสทำให้เป็นหมันได้ |
มีอาการปัสสาวะแสบขัด มีตกขาวปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เกิดการอักเสบที่ปากมดลูกและท่อปัสสาวะ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้โรคลุกลามจนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะอุดตันในท่อรังไข่ ส่งผลให้เป็นหมัน หรือมีการตั้งครรภ์นอกมดลูก |
การรักษาโรคหนองใน
สำหรับการรักษาโรคหนองในนั้น สามารถใช้การรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ในการรักษา รวมถึงใช้การรักษาอื่นๆควบคู่เพื่อบรรเทาอาการและรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะค่อนข้างได้ผลดี หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็ว สามารถหายได้เร็ว แต่อาการความเสียหายของเนื้อเยื่อต้องใช้เวลาให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง สำหรับผู้ติดเชื้อหนองใน แพทย์จะให้ตรวจเลือด เพื่อดูว่าติดเชื้อโรคอื่นๆหรือไม่ เช่น เชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิส
กิจกรรมที่ไม่ทำเกิดการติดเชื้อหนองใน
- การจับมือ
- การกอด
- การจูบ
- การใช้แก้วน้ำ จาน ชามร่วมกัน
- การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
- การใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน
การป้องกันโรคหนองใน
ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองในหรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเข้ารับการตรวจโรคหนองในเป็นประจำ