New!!! โครงการแลนด์บริดจ์ มอเตอร์เวย์+รถไฟทางคู่ พัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้
อนาคตรถไฟความเร็วสูงจากจีนผ่านลาวมาถึงท่านาแล้งไทย ไทยจึงดำเนินการรองรับ ณ จุด จุดนี้
วันที่ 1 มี.ค. ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษา 6 บริษัท
เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridgeหรือสะพานเศรษฐกิจ)
โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ว่าจ้างวงเงิน 68 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 30 เดือน
เริ่ม 2 มี.ค.64-1 ก.ย.66 นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รูปแบบโครงการนี้กระทรวงคมนาคมจะบูรณาการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองและท่าเรือชุมพรแห่งใหม่
โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย (Smart Port) ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบออโตเมชั่น รวมทั้งพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway)
และรถไฟทางคู่โดยสร้างมอเตอร์เวย์ขนานไปกับรถไฟทางคู่สายใหม่ชุมพร-ระนอง ตลอดจนวางระบบการขนส่งทางท่อ โดยก่อสร้างพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน สอดคล้องตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP)
ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของประชาชน เบื้องต้นวงเงินลงทุนทั้งโครงการ ประมาณ 100,000 ล้านบาทให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐ (PPP)
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะได้รูปแบบการลงทุนโครงการนี้รวมกันเป็นแพ็คเก็จก่อสร้างท่าเรือ สร้างรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ ไปพร้อมกันให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาคาดว่า ใช้เวลาสร้าง 3 ปี
โครงการแลนด์บริดจ์จะเริ่มก่อสร้างในปี 67 แล้วเสร็จในปี 69 โดยช่วง 12 เดือนแรกจะศึกษาหลักสำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย
1.รูปแบบความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่ง คือ ท่าเรือชุมพร และ ท่าเรือระนอง เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ เพราะเป้าหมายเน้นเรือขนส่งสินค้าที่มาจากกลุ่มประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา และ ลาว เพื่อขนส่งไปฝั่งภาคตะวันตก เชื่อมโยงกลุ่มประเทศ BIMSTEC ที่มีสมาชิกรวม 7 ประเทศ คือ บังคลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฏาน รวมทั้งเชื่อมกลุ่มประเทศตะวันออกกลางในอนาคต รวมไปถึงเรื่องรูปแบบบริหารจัดการท่าเรือ อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการขนส่งสินค้าให้สะดวกและรวดเร็ว พร้อมพัฒนาพื้นที่ท่าเรือระนองใหม่เพื่อรองรับขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ
2.การศึกษาแนวเส้นทางรถไฟช่วงชุมพร-ระนอง เพื่อเชื่อมโยงขนส่งสินค้าระบบรางและทางน้ำ โดยการศึกษาครั้งนี้อาจจะใช้แนวเส้นทางใหม่ หรือใช้แนวเส้นทางตามโครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ที่ สนข. เคยศึกษาไว้แล้วก็ได้ เนื่องจากแนวเส้นทางมีลักษณะทางกายภาพที่เป็นภูเขาและคดเคี้ยว อาจเจาะอุโมงค์ตามแนวเส้นทางบางพื้นที่ เพื่อลดความลาดชัน ให้ได้แนวเส้นทางตรง เดินทางสะดวก ใช้ความเร็วได้และถึงจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัย นอกจากนี้จะเป็นรูปแบบรถไฟทางคู่รวมทั้งศึกษาจำนวนสถานี และรูปแบบสถานีด้วย การศึกษาจะไม่ซ้ำซ้อนกับที่ สนข. ศึกษาไว้ เพราะเป้าหมายโครงการเน้นขนส่งสินค้าเชื่อมต่างประเทศ
3.ศึกษาการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ช่วงชุมพร-ระนอง ทั้งแนวเส้นทาง จำนวนด่านเก็บค่าผ่านทาง อัตราค่าธรรมเนียมผ่านทาง รวมทั้งอาจจะใช้รูปแบบด่านเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-FLOW)
เบื้องต้นรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง และ มอเตอร์เวย์ ช่วงชุมพร-ระนอง มีระยะทาง 120 กม. จะพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับมอเตอร์เวย์ เพื่อลดผลกระทบประชาชนตามแนวเส้นทาง
ซึ่งทั้ง 3 ระบบที่ศึกษานี้จะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health impact Assessment : EHIA)
รวมทั้งศึกษารูปแบบการลงทุนในแต่ละระบบด้วย รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เบื้องต้นทั้ง 3 ระบบจะเป็นรูปแบบPPPอยู่ในโครงการเดียวกันดำเนินการไปพร้อมกัน เปิดประมูลเป็นแพ็กเกจเดียว สัญญาเดียว เพื่อให้เอกชนรายเดียวเข้ามาลงทุนบริหารจัดการครั้งเดียวทั้ง 3 ระบบ เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและบริหารจัดการได้ง่าย หลักๆ ภาครัฐจะรับผิดชอบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน) หรือต้องลงทุนเพิ่ม
ขอบคุณข่าวกระทรวงคมนาคม