ชวนดู ภาพยนตร์ The Lady : ผู้หญิงท้าอำนาจ (2011)
เช้าวันนี้หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารประเทศเมียนมาร์ และจับตัวนางอองซานซูจีอีกครั้ง เลยทำให้คิดถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมา The Lady ผู้หญิงท้าอำนาจ ซึ่งเป็นหนังร่วมผลิตโดยฝรั่งเศสและอังกฤษ
นำแสดงโดย มิเชล โหย่ว นักแสดงชาวจีนมาเลเซีย ที่รับบทนางอองซานซูจี และ เดวิด ธิวลิส ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการรับบทเป็น รีมัส ลูปิน ตัวละครสำคัญใน Harry Potter จะสวมบทบาทเป็น ดร. ไมเคิล อริส สามีผู้ล่วงลับของซูจี / กำกับ : Luc Besson / เขียนบท : Rebbeca Frayn
เมื่อเอ่ยถึงผู้หญิงแถวหน้าในการเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพทางความคิดอย่างสันติในเอเชีย ชื่อของ ‘ออง ซาน ซูจี’ (Aung San Suu Kyi) คงเป็นชื่อแรกที่ใครๆ นึกถึง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักประวัติของเธอ และบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวของเธอซึ่งร่วมเป็นแรงใจที่เธอยังผูกพันอยู่เสมอ ในยามที่เธอถูกจองจำอย่างโดดเดี่ยวในบ้านของเธอเองกว่า 15 ปี
ลุค เบซอง (Luc Besson) ผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศสจาก The Professional และ The Fifth Element ร่วมกับผู้เขียนบท รีเบคก้า เฟรน (Rebecca Frayn) ถ่ายทอดชีวิตและความผูกพันที่ซูจีมีต่อประเทศของเธอและครอบครัวที่เธอรัก ท่ามกลางไฟแห่งความขัดแย้งและรุนแรงซึ่งล้อมรอบตัวเธอทั้งยามหลับและตื่น ด้วยความไม่ย่อท้อที่จะนำเสรีภาพและประชาธิปไตยกลับสู่บ้านเกิดของเธออย่างสันติ ทำให้ผู้นำทั่วโลกต่างยกย่องเธอ องค์การสหประชาชาติมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ แก่เธอเมื่อปี 1991
เนื้อเรื่องภาพยนตร์ The Lady : ผู้หญิงท้าอำนาจ
ในปี 1947 เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า นายพลอองซาน ผู้นำในการเรียกร้อง ประชาธิปไตย ได้ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ในขณะนั้น ด.ญ.อองซาน ซูจี บุตรสาวคนเดียวของเขา เพิ่งมีอายุเพียง ๒ ขวบเท่านั้น ชื่อของนายพลอองซาน ได้กลายเป็นวีรบุรุษ ของชาวพม่าส่วนใหญ่
ในปี 1988 นางอองซาน ซูจี มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นกับ ดร.ไมเคิล ผู้เป็นสามี และ ลูกชายอีก ๒ คน อยู่ในเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง ซูจี ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่า แม่ของเธอกำลังป่วยหนัก เธอจึงต้องรีบเดินทางกลับไปพม่า เพื่อดูแลแม่ ทันทีที่ ซูจี เดินทางถึงพม่า เธอก็ถูกเฝ้าจับตามอง โดยคนของรัฐบาลทหารพม่า ในระหว่างที่ ซูจี อยู่ดูแลแม่ ที่โรงพยาบาลนั้น เธอก็ได้เห็นทหาร ฆ่าคนตายต่อหน้าเธอ เป็นจำนวนมาก ทั้งนักศึกษาที่เดินขบวน เพื่อเรียกร้อง ประชาธิปไตย ทั้งหมอในโรงพยาบาล ฯลฯ จนเมื่อหมอบอกกับเธอว่า ไม่มีหนทางใด ที่จะรักษาแม่ของเธอ ได้อีกต่อไปแล้ว ซูจี จึงพาแม่กลับไปดูแลต่อที่บ้าน
มีผู้คนมากมาย มาขอพบ ซูจี ทั้งนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อขอให้เธอ ได้สานต่องานของพ่อเธอ โดยการเป็นผู้นำ ในการเรียกร้อง ประชาธิปไตย ในตอนแรก ซูจี ยังไม่ตอบรับในทันที เพราะคิดถึงหน้าที่ ในการดูแลสามี และ ลูกๆ ซึ่งเพิ่งจะเดินทาง มาหาเธอที่บ้าน แต่ในที่สุด ซูจี ก็ยอมตกลง ซึ่งไมเคิล ก็สนับสนุนการตัดสินใจของเธอด้วย ต่อมา ได้มีการประกาศจะลาออก ของผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และ จะจัดให้มีการเลือกตั้ง เป็นครั้งแรกในพม่า
ข่าวการปราศรัยของ อองซาน ซูจี ที่กำลังจะจัดขึ้น เป็นครั้งแรก ได้แพร่สะพัดไปทั่ว จนเมื่อถึงวันที่ ซูจี เดินทางไปกล่าวปราศรัย จึงมีผู้คนไปรอฟัง และ อยากเห็นเธอ กันอย่างล้นหลาม เมื่อจบการปราศรัย ชาวพม่าที่ได้ฟัง ต่างก็ปรบมือ แสดงความดีใจกันยกใหญ่ หลังจากนั้น ไมเคิล ก็ได้แอบนำแผ่นพับ สำหรับประชาสัมพันธ์ การก่อตั้งพรรค NLD ภายใต้การนำของ ซูจี ไปถ่ายเอกสาร เป็นจำนวนมาก ในสถานทูตอังกฤษ เพื่อจะได้นำไปแจกจ่าย ให้กับประชาชน ซึ่งก็ทำให้ ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า รู้สึกไม่พอใจ เป็นอย่างมาก จึงได้สั่งยกเลิกวีซ่าของ ไมเคิล และ ส่งทหารไปคุมตัว ส่งเขากลับไปอังกฤษทันที เพื่อเป็นการบั่นทอน กำลังใจของซูจี
อองซาน ซูจี ต้องตระเวนออกเดินทาง ไปเยี่ยมเยือนประชาชน กลุ่มต่างๆมากมาย ทั่วประเทศ เพื่อแสดงจุดยืน การต่อสู้เรียกร้อง ประชาธิปไตย ด้วยวิธี สันติ อหิงสา แบบเดียวกับ มหาตมะ คานธี แห่งอินเดีย แต่เมื่อเธอกลับมาถึงบ้าน เธอก็ต้องพบกับ ความเศร้าโศก เสียใจ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้รู้ว่า แม่ของเธอได้เสียชีวิตไปแล้ว ในงานศพแม่ของเธอนั้น มีผู้คนมาร่วมไว้อาลัยนับแสนคน เมื่อผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เห็นดังนั้น ก็ได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมให้ ซูจี ยอมกลับไปหาสามี และ ลูกๆ แต่เธอก็รู้ทันว่า ถ้าเธอกลับไปแล้ว เธอจะไม่มีโอกาส ได้กลับมาพม่าอีกเลย เธอจึงตอบปฎิเสธไป ด้วยหวังว่า หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง เธอก็จะได้อยู่พร้อมหน้า ทั้งครอบครัวอีก
อองซาน ซูจี เดินทางไปกล่าวปราศรัย เหมือนอย่างเช่นเคย แต่ในคราวนี้ ได้มีทหารมายืนเรียงแถว ถือปืนจ่อเตรียมจะยิง เพื่อขัดขวางไม่ให้ ซูจี ได้กล่าวปราศรัย แต่เธอก็มิได้เกรงกลัว แต่อย่างใด เธอจึงเดินสวน ฝ่าดงปืนผ่านเข้าไปได้ จนเกือบจะถูกนายทหารผู้หนึ่งยิง แต่ก็มีทหารอีกกลุ่มหนึ่ง มาสั่งห้ามเอาไว้ได้ทัน ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ไม่ต้องการให้เธอตาย เพราะไม่อยากให้เธอ กลายเป็นวีรสตรี เฉกเช่นดังพ่อของเธอ แต่หลังจากนั้น ไม่ว่า อองซาน ซูจี ไปหาเสียงที่ใด ก็จะมีทหาร มาลอบจับ นักศึกษาที่สนับสนุนเธอ ส่งไปชายแดนบ้าง เอาไปฆ่าทิ้งบ้าง
ด้วยความเป็นห่วง ความปลอดภัยของซูจี ไมเคิล จึงได้ทำการรวบรวม เอกสารที่แสดงประวัติ และ การทำงานเพื่อประชาชนของ อองซาน ซูจี เพื่อนำเสนอ ให้คณะกรรมการ พิจารณา รางวัลโนเบล โดยเขาหวังว่า ถ้าเธอได้รับรางวัลโนเบล ประเทศต่างๆ ก็จะให้ความสนใจ จนรัฐบาลทหารพม่า ไม่กล้าสังหารเธอ ต่อมา เมื่อได้วีซ่า ไมเคิล ก็ตั้งใจจะพาลูกๆ ไปหาซูจีอีกครั้ง แต่ก็ได้รับแจ้ง ข่าวการเสียชีวิตของพ่อเขาเสียก่อน เขาจึงบอกให้ลูกๆ เดินทางล่วงหน้าไปก่อน
ซูจี รู้สึกดีใจมาก ที่ได้พบหน้าลูกๆอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีทหาร บุกมาล้อมบ้านของเธอไว้ รัฐบาลทหารพม่า ได้สั่งกักบริเวณเธอ ไม่ให้ออกนอกบ้านอีก และ ยังได้จับตัว เหล่าแกนนำ ในพรรคของเธอ เอาไปขังไว้ในกรงสุนัข ซูจี จึงเริ่มอดอาหารประท้วง เพื่อขอให้ส่งตัวเธอ เข้าไปอยู่ร่วมกับ คนอื่นๆที่ถูกจับไปขังไว้
จนเมื่อ ไมเคิล เดินทางมาถึง เขาจึงไปเจรจาต่อรองให้ รัฐบาลทหารพม่า ยอมรับปากว่า จะดูแลนักโทษการเมือง ให้ได้อยู่ดีขึ้นกว่าเดิม รัฐบาลทหารพม่า ยอมตกลง เพราะเห็นว่า อองซาน ซูจี ได้อดอาหารประท้วง มาเป็นเวลา ๑๒ วันแล้ว จึงเกรงว่า เธอจะเสียชีวิต ซูจี จึงได้ยอมยุติ การอดอาหารประท้วง แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก ไมเคิล และ ลูกๆ ก็ถูกยกเลิกพาสปอร์ต และ ถูกส่งตัวกลับอังกฤษไปอีก
เมื่อถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง พรรค NLD ของซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ได้จำนวนส.ส.มากถึง ๓๙๒ คน ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า ได้จำนวนส.ส.เพียง ๑๐ คนเท่านั้น อองซาน ซูจี เตรียมจะกล่าวปราศรัย ที่หน้าบ้านของตน แต่ก็ถูกทหารพม่า ยับยั้งเอาไว้ พร้อมกับใช้ปืนยิงขู่ ไล่ทุกคนที่มาชุมนุมกัน ที่หน้าบ้านของเธอ และ ยังได้เพิ่มจำนวนทหาร เฝ้าในบ้านอีกด้วย รัฐบาลทหารพม่า ได้ทำการล้มการเลือกตั้ง และ ยังคงปกครองพม่า ในแบบเดิมต่อไป
ที่ประเทศนอร์เวย์ ปี 1991 มีการจัดงานพิธี มอบรางวัลโนเบล ให้กับ อองซาน ซูจี โดย ไมเคิล และ ลูกๆ เป็นผู้ไปรับรางวัลแทน ซูจี ซึ่งกำลังฟังวิทยุ ถ่ายทอดสดจากงานฯ จึงได้ฟังเสียง ของลูกชายคนโต ที่ขึ้นกล่าวบนเวที แทนตัวเธอ หลังจากนั้น เมื่อรัฐบาลทหารพม่า พยายามเชื่อมความสัมพันธ์ กับญี่ปุ่น เพื่อลดความเสียหาย จากการถูกคว่ำบาตร โดยนานาประเทศ ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน โดยให้รัฐบาลทหารพม่า ยอมปล่อยตัว อองซาน ซูจี และ นักโทษการเมืองทุกคน ให้ได้รับอิสรภาพ รัฐบาลทหารพม่า จึงจำยอม ต้องทำตามข้อเสนอนั้น
ซูจี รู้สึกดีใจมาก จึงรีบเดินทางไปยัง สถานทูตอังกฤษ เพื่อโทร.ไปบอกข่าวดีให้ ไมเคิล ได้รับรู้ ไมเคิล จึงรีบพาลูกๆ เดินทางมาหาซูจี ซึ่งทำให้เธอ รู้สึกดีใจยิ่งขึ้นไปอีก แต่พอพวกเขา เดินทางกลับอังกฤษไป ซูจี ก็ไม่ได้พบกับพวกเขาอีกเลย เพราะรัฐบาลทหารพม่า ไม่ให้เข้าประเทศอีก จนกระทั่งหลายปีผ่านไป ซูจี ได้รับจดหมายจากไมเคิล แจ้งข่าวมาว่า เขาป่วยเป็น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย จะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ซูจี รู้สึกเสียใจมาก จนคิดอยากจะไปหาไมเคิล แต่ถ้าเธอยอมออกนอกพม่า ไปเมื่อใด เธอก็จะไม่ได้กลับมาอีกเลย ไมเคิล จึงบอกให้เธอ อยู่ต่อสู้ เพื่อประชาชนต่อไป
เดือนมีนาคม ปี 1999 ไมเคิล อาการโคม่า ต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล ซูจี ได้รู้ข่าว แต่ก็ไม่สามารถไปเยี่ยมได้ ไมเคิล ได้เสียชีวิตลงที่นั่น ซูจี ได้ฟังข่าว ก็รู้สึกเสียใจมาก เธอได้แต่ นอนร้องไห้ อยู่บนพื้นบ้าน เพียงลำพัง โดยไม่สามารถ ไปร่วมงานศพของเขาได้
หลังจากถูกกักบริเวณ อยู่นานถึง ๑๕ ปี ในปี 2010 อองซาน ซูจี เพิ่งจะได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง
ทำไมเธอถึงมีแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลง อะไรที่ทำให้เธอไม่ท้อถอย ลองไปติดตามหาดูภาพยนตร์เรื่องนี้กัน เบื้องหลังแรงผลักดันในการสร้างความเปลี่ยนแปลง อาจมีจุดเล็กๆ ที่สามารถจุดประกายให้คุณไม่ท้อถอยได้ เพียงแต่คุณเห็นมันและให้คุณค่ามันรึเปล่า
เป็นหนังดีที่อยากให้ลองดูกันค่ะ