กี่เพ้า : ชุดเดรสจีนบนเส้นทางประวัติศาสตร์
กี่เพ้า (จีนกลาง: 旗袍 ฉีผาว, กวางตุ้ง: 旗袍 ฉองซำ, อังกฤษ: Cheongsam หรือ Mandarin gown) เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับสตรีชาวจีน มีลักษณะเหมือนเสื้อ มีชายเสื้อยาวปกคลุมท่อนขา ขนาดพอดีตัว ด้านข้างมีตะเข็บผ่าเพื่อให้ก้าวขาได้สะดวก รูปแบบของฉีผาวในปัจจุบัน ได้รับการปรับปรุงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ให้มีรูปทรงแนบกับสรีระ เพื่อเน้นทรวดทรงของผู้สวมใส่ เป็นแฟชั่นที่นิยมในสังคมคนชั้นสูงของจีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิง จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการดัดแปลงให้ชายฉีผาวสั้นลง ปรับปรุงแบบคอปก และเนื้อผ้าแบบต่างๆ
ฉีผาว เป็นเครื่องแต่งกายของหญิงแมนจูในยุคราชวงศ์ชิงในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มาจากคำว่า ฉี (ธง) และ ผาว (เสื้อ) ในภาษาแต้จิ๋ว ในปี ค.ศ. 1636 ผู้ปกครองจีนในขณะนั้นได้ออกกฎหมายบังคับให้ทุกคน รวมทั้งชาวฮั่นให้แต่งกายและตัดผมแบบแมนจู
ในภาษาอังกฤษเรียกเครื่องแต่งกายแบบนี้ว่า Cheongsam มาจากเสียงอ่าน chèuhngsàam จากภาษากวางตุ้ง ของศัพท์เซี่ยงไฮ้คำว่า zǎnze (長衫, 'long shirt/dress') และเรียกเครื่องแต่งกายในลักษณะเดียวกัน สำหรับเพศชายว่า Changshan (長衫; Chángshān)
ซาน จี้ฟาง เขียนบทความถึงกี่เพ้าในนิตยสารข่าวเป่ยจิงรีวิว ว่า ในทศวรรษ 1980-1990 ชุดกี่เพ้าปรากฏโฉมใหม่ที่ใส่กันเฉพาะในหมู่สาวๆ ที่เป็นพนักงานต้อนรับตามโรงแรมและภัตตาคาร ชุดกี่เพ้าแบบนี้ตัดเย็บลวกๆ เน้นแต่สีสันฉูดฉาดและกระโปรงสั้นเกินไป ทำลายภาพเดิมของกี่เพ้าไปโดยปริยาย
เจ้า จินหลี่ สาวพนักงานบริษัทโฆษณา กล่าวว่า ในตู้เสื้อผ้าของตน ไม่มีชุดกี่เพ้าแม้แต่ตัวเดียว ตนไม่อยากใส่ เพราะกลัวคนคิดว่าทำงานเป็นสาวต้อนรับหน้าร้านอาหาร หรือแม้แต่โชว์เกิร์ล
อย่างไรก็ตาม หวัง จินเฉียว เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัท เป่ยจิง เก๋อเก๋อ ฉีเพ้า ผู้นำการผลิตชุดกี่เพ้าในจีน กล่าวว่า คนรุ่นใหม่มิควรลืมหรือเมินชุดกี่เพ้า เพราะชุดนี้แสดงถึงบางสิ่งที่ถ่ายทอดจากอดีตและเข้ากับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
"ชุดของจีนเป็นความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมประเพณีที่ผสมผสานกับชีวิตยุคใหม่ได้ เราควรจะใส่ชุดกี่เพ้าในงานต่างๆ รวมถึงปรับให้ใส่สบายในชีวิตประจำวันได้" จิน ไท่จุน กล่าวเสริม
ปี 1930 กี่เพ้า ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศจีน ซึ่งมีลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น มีทั้งแบบสั้น แบบยาว มีปกและไม่มีปก และก็ยังถูกพัฒนาต่อไปอีก ตามแฟชั่นของโลกตะวันตก เช่น ทำปกสูง และ เป็นเดรสแขนกุด หรือ แขนเป็นทรงกระดิ่ง
ปี 1940 กี่เพ้า ถูกผลิตด้วยผ้าหลากหลายชนิดมากขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ในฤดูร้อน กี่เพ้า ถูกดัดแปลงโดยการตัดแขนออกเพื่อความสบาย ซึ่งในยุคนี้ กี่เพ้า จะไม่ค่อยมีการตกแต่งอะไรมากนัก
ปี 1949 เมื่อถึงยุคคอมมิวนิสต์ แฟชั่นทั้งหลายก็ถูกลดบทบาทลง แต่ชาวเซี่ยงไฮ้ส่วนหนึ่ง ก็ได้อพยพไปอยู่ฮ่องกง และก็ได้นำเอาแฟชั่นต่างๆไปด้วย ทำให้แฟชั่นแบบเซี่ยงไฮ้นี้ ยังคงอยู่ต่อไป
ปี 1950 ผู้หญิงที่ทำงานใช้แรงงานในฮ่องกง มักใส่ชุด กี่เพ้า ที่ดัดแปลงให้เหมาะกับการทำงาน ผลิตจากผ้าขนสัตว์ ทอเป็นลาย Twill (ลายซี่โครงที่คู่ขนานกัน) และเริ่มถูกผสมผสานกับเสื้อผ้าที่ใส่สบายมากขึ้น เช่น เริ่มใส่คู่กับ เสื้อ กางเกงยีนส์ หรือชุดสูท กระโปรงต่างๆ
กี่เพ้า เริ่มถูกใช้เป็นชุดที่ดูทางการขึ้น หรือดาราหลายๆคนก็ใส่สำหรับงานแสดง โดยเฉพาะในไต้หวัน และ ฮ่องกง เช่น
ในปี 1960 Nancy Kwan ดาราสาวชาวฮ่องกง ใส่ชุดกี่เพ้าในหนังเรื่อง The World of Suzie Wong หนังที่โด่งดังทั้งในอังกฤษและอเมริกา นำแสดงคู่กับพระเอก William Holden แสดงให้เห็นถึงความชื่นชอบ กี่เพ้า ของโลกตะวันตก
ในปัจจุบัน กี่เพ้า ยังคงเป็นแฟชั่นที่แสดงถึงวัฒนธรรมของหญิงชาวจีน บางสายการบิน ก็ใช้เป็นยูนิฟอร์มด้วย เช่น China Airlines เป็นต้น หรือแม้แต่โรงเรียนประถม มัธยม ในฮ่องกง ก็ใช้เป็นยูนิฟอร์มเช่นกัน