โรค "ตาเหล่ในเด็ก" ไม่หายได้เอง ต้องรักษา!!
นายแพทย์ "วีรวุฒิ อิ่มสำราญ" รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า โรคตาเหล่ ตาเข คือ ภาวะที่การมองของตาทั้งสองข้าง ไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกัน และ ทำงานไม่ประสานกัน ผู้ป่วยจะใช้เพียงตาข้างที่ปกติ จ้องมองวัตถุ ส่วนตาข้างที่เหล่ อาจจะเบนเข้าด้านในหรือด้านนอก ขึ้นบนหรือลงล่างก็ได้
นายแพทย์ "เกรียงไกร นามไธสง" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะตาเข ตาเหล่ อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสายตา กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ประสบอุบัติเหตุ เนื้องอก ต้อกระจกหรือภาวะอื่นๆ ที่ทำให้การมองเห็นเสียไป
แนะนำว่า เด็กเล็กตั้งแต่อายุ 1-3½ ปี ควรได้รับการตรวจตา หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรค ตาเข ตาเหล่ หรือ ผู้ปกครองเห็นว่าบุตรหลาน มีภาวะตาเข ตาเหล่ ควรรีบนำมาพบจักษุแพทย์ทันที
โรค "ตาเหล่ ตาเข" หายเองไม่ได้ แต่รักษาให้หายได้ หากพบตั้งแต่เนิ่นๆ
หลายคนเข้าใจว่าโรค "ตาเข ตาเหล่" ในเด็ก สามารถหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง เพราะภาวะดังกล่าวไม่สามารถหายได้เอง ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในระยะเวลาที่เหมาะสม อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพ ในการมองเห็นอย่างถาวร พัฒนาการในการมองเห็นเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตพฤติกรรม ในการมองเห็นของบุตรหลาน หรือพาไปตรวจเช็กสายตากับจักษุแพทย์ ก่อนวัยเข้าเรียนจะช่วยป้องกันปัญหานี้ได้
อ้างอิงจาก: กรมการแพทย์ โดย รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)