ก่อน “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ที่นี่คือ'ลาวาลิน'รถไฟฟ้าแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ที่ไม่เกิดขึ้นจริง)
“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” คือพื้นที่สีเขียวกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่าสวรรค์ของประชาชน ที่มาเยือน สะพานพระปกเกล้า แห่งนี้
“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” แต่เดิมนั้นเคยเป็นโครงสร้างของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี ต่อมาทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า หรือ สะพานด้วน ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่เชื่อมการสัญจรฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร
โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน โดย ‘Lavalin’ คือชื่อของบริษัทเจ้าของโครงการสัญชาติแคนาดา ผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ที่ร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
เริ่มต้นโครงการโดยการศึกษาแผนแม่บทในการก่อสร้าง ในช่วงสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และมีแผนก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 แต่ระยะเวลาในการทำงานนั้นยืดเยื้อเป็นอย่างมาก เพราะต้องรอถึง 11 ปีให้หลังจากการศึกษาแผนแม่บทจึงจะเกิดการลงนามเซ็นสัญญาการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2533
โครงการรถไฟฟ้าลาวาลินคือโครงการรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทย ถ้าก่อสร้างแล้วเสร็จในขณะนั้น เราจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีรถไฟฟ้าใช้
โดยสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางกว่า 61 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมทุกมุมของกรุงเทพฯ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด!
เส้นทางทั้ง 3 เส้นของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินนั้นประกอบไปด้วย
สายพระราม 4 (หมอชิต-อ่อนนุช) มุ่งหน้าจากหมอชิตเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร ผ่านบางซื่อ ประชาชื่น เตาปูน และวกเข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านย่านเกียกกาย ศรีย่าน สะพานซังฮี้ (สะพานกรุงธน) เทเวศร์ กรุงเกษม มุ่งหน้าสู่ย่านสะพานขาว บ้านครัว ยศเส หัวลำโพง ก่อนจะมุ่งหน้าถนนพระราม 4 เข้าสู่รองเมือง สามย่าน สีลม ลุมพินี บ่อนไก่ คลองเตย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล้วยน้ำไท ก่อนจะไปบรรจบกับถนนสุขุมวิทที่พระโขนงและไปสิ้นสุดที่อ่อนนุช
สายสาทร (ลาดพร้าว-ตลาดพลู) เริ่มต้นเส้นทางจากถนนลาดพร้าวที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว เดินทางตรงไปตามถนนรัชดาภิเษกไปจนถึงอโศก ผ่านโรงงานยาสูบ ไปเจอกับสถานีลุมพินีของสายพระราม 4 มุ่งหน้าเส้นสาทรตรงไปจนถึงสะพานตากสิน ข้ามฝั่งแม่น้ำไปที่เจริญนคร เข้าสู่วงเวียนใหญ่และไปสิ้นสุดที่ตลาดพลู
สายสะพานพุทธ (เอกมัย-ดาวคะนอง) สายนี้จะเริ่มต้นจากสถานีเอกมัยละแวกวัดใหม่ช่องลม ยึดถนนเพชรบุรีตัดใหม่เป็นหลัก ผ่านอโศกเข้าสู่มักกะสัน ประตูน้ำ พญาไท อุรุพงษ์ ยมราช นางเลิ้ง และบรรจบกับสถานีสะพานขาว เปลี่ยนขบวนไปยังสายพระราม 4 จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่วรจักร ข้ามสะพานพุทธ ถนนประชาธิปก วงเวียนใหญ่ สะพานตากสิน สำเหร่ จอมทอง แยกมไหสวรรย์ ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ดาวคะนอง
แต่แล้วโครงการก็ไม่สามารถสร้างขึ้นได้จริง จากปัญหาเรื่องเงินลงทุนของบริษัทเจ้าของโครงการ พร้อมด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นในเรื่องค่าใช้จ่ายการเวนคืนพื้นที่และเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟฟ้าลาวาลินที่เป็นเสมือนความหวังของคนกรุงเทพฯ ก็เป็นอันสลายลงไปในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535
“รถไฟฟ้าลาวาลินถูกระงับลงไปด้วยสองสาเหตุหลักคือ หนึ่ง มีปัญหาต่อเนื่องมาจากโครงการขนส่งสาธารณะอื่นๆ อีกสองโครงการก่อนหน้า และ สอง เกิดจากความผิดปกติของสัญญาที่ไม่ชอบมาพากล”
เนื้อความจากหนังสือ Building Social Capital in Thailand: Fibers, Finance and Infrastructure
(โดย Danny Unger, 1998) กล่าวถึงการหยุดชะงักของโปรเจกต์รถไฟฟ้าลาวาลินในกรุงเทพเมื่อปี 2535
ขอบคุณข้อมูล THE STANDARD
อ้างอิงจาก: THE STANDARD