ไวรัสตับอักเสบบี
โรคไวรัสตับอักเสบ บี Hepatitis B เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทำให้เกิดการอักเสบของตับแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง ในปัจจุบันไวรัสตับอักเสบบีเป็นสาเหตุของตับอักเสบและทำลายตับ ทำให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในอนาคต
ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อได้อย่างไร?
ไวรัสตับ อักเสบ บี สามารถแพร่กระจายผ่านทางเลือด การใช้เข็มร่วมกัน การสัมผัสสารคัดหลั่ง ทางเพศสัมพันธ์ และติดต่อจากแม่สู่ลูก
อาการของไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับ อักเสบ บีสามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะคือ
- ไวรัสตับอักเสบ บีเฉียบพลัน โดยอาการของโรคไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลันคือ ตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา เซลล์ตับถูกทำลาย ซึ่งผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี มีเพียงร้อยละ 5-10 ที่มีโอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
- โรคตับอักเสบบีเรื้อรัง จะมีอาการนานเกินกว่า 6 เดือน โดยแบ่งได้อีกเป็น 2 ชนิดได้แก่
- ชนิดตับอักเสบเรื้อรังไม่รุนแรง (Chronic Persistent) แบบค่อยเป็นค่อยไป
- ชนิดตอักเสบเรื้อรังแบบรุนแรง (Chronic Active Hepatitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดจากตับถูกทำลายไปมากและเกิดอาการตับแข็ง ในผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเกิดขึ้น แต่เชื้อไวรัสจะทำลายตับไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการตับแข็งและท้ายสุดจะกลายเป็นมะเร็งตับ
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบบี
แพทย์จะเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ และตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ
กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัว เช่น สามี ภรรยา มารดา เป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- ผู้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
การปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
หากมีการตรวจพบเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบี แบบเฉียบพลัน ควรขอรับคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และระมัดระวังการแพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิด โดยวิธีการปฏิบัติตัวหากมีเชื้ออยู่ในร่างกายทำได้ดังนี้
- รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ไม่ใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- รับการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจเลือดจะทำให้ทราบว่าตับมีการอักเสบมากหรือน้อย
- บอกให้คนใกล้ชิดทราบ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ผู้ที่ควรรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อย ๆ
- ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
- ทารกแรกเกิดทุกราย เด็ก และวัยรุ่นที่ไม่ได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
- ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี
ผลข้างเคียงจากวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี
- วัคซีนอาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนพบได้น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหาใด ๆ
- อาการที่อาจจะพบหลังจากฉีดวัคซีน ได้แก่ มีไข้ต่ำ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งมักหายได้เองภายใน 1-2 วัน
- อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ ปวดเมื่อย เพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
- หากมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีนให้ประคบเย็น แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ควรปรึกษาแพทย์
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัย / ไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน
- เด็กแรกเกิดควรได้รับวัคซีนมากที่สุด เพราะติดเชื้อได้ง่าย
- ก่อนแต่งงานหรือวางแผนตั้งครรภ์ควรตรวจหาเชื้อไวรัสพร้อมคู่สมรส
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
“ไวรัสตับอักเสบบีไม่สามารถแพร่กระจายผ่านการ กอด จูบ การไอ จาม การจับมือ การกินอาหารร่วมภาชนะเดียวกัน”
อ่านบทความเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบี เพิ่มเติมได้ที่ >> https://www.lovefoundation.or.th/hepatitisb