สายสกุล สนิบุตร
ภาพ ขุนรุธรัฐภิรมย์ สนิบุตร
มีศักดิ์เป็นพระนัดดาในสุลต่านมูฮัมหมัดที่2 และเป็นหลานเขย ตนกูปูเต๊ะ เจ้าเมืองปัตตานีคนที่2
สนิบุตร เป็นนามสกุลพระราชทานสกุลหนึ่งที่ถูกหลงลืมแม้แต่ชาวปัตตานีเองก็ไม่คุ้นเคยกันแล้ว นามสกุลนี้พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้แก่ นายร้อยตำรวจโท ขุนรุธรัฐภิรมย์ สนิบุตร (ชื่อมลายู ตนกูบาซา) มีศักดิ์เป็นพระนัดดา (หลาน) ในสุลต่านมูฮัมหมัดที่2 แห่งรัฐกลันตัน พระนามเดิม หลงสนิ (Long Senik)หรือ ต่วนสนิ มูลุตแมเราะฮ์ (Tuan Senik Mulut Merah) Sultan Muhammad II
เมื่อตนกูบาซาได้เป็นนายตำรวจภูธรมณฑลปัตตานีจึงได้รับพระราชทานนามสกุล สนิบุตร และชื่อ ขุนรุธรัฐภิรมย์ ปู่บรรดาศักดิ์ พระยาเดชานุชิตมหิศรายานุกูล วิบูลย์ภักดี ศรีสุลต่านมะฮัมมัด รัตนธาดามหาปธานาธิการ คำว่า”สนิ” กร่อนมาจากพระนามเดิมขององค์สุลต่านที่2”ต่วนสนิ ” ภาษาอังกฤษที่สะกดคำว่า สนิบุตร ตรงตามภาษามลายูสันสกฤต คือ “Saniputra” ทายาทมักจะเขียนเป็น สะนิบุตร สหนิบุตร สหนิบุตร์บ้างก็ สนิบุตรา ตามคำอ่านของภาษามลายู
ปัจจุบันนามสกุลนี้แถบไม่มีใครคุ้นเคยมากนักเพราะผู้สืบสกุลนี้เหลือน้อยมากและลูกหลานส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง เมื่อสมรสก็จะใช้ตามสกุลสามีแทนนั่นเอง
ลำดับพระยศเชื้อพระวงศ์แบบมลายู
(1) ต่วนกู ถือเป็นยศชั้นสูงสุดหมายถึงพระราชาหรือองค์ประมุขสูงสุด
(2) ตนกู,เติงกู,เต็งกู,อังกู,ตุนกู,ต่วน,กู, ตูแว,ตูวัน,รายา เป็นยศชั้นเดียวกันทั้งหมด เสียงเรียกจะเพี้ยนไปตามท้องถิ่นนั้นๆ ถือเป็นยศรองลงมา เทียบได้กับชั้นเจ้าฟ้าถึงหม่อมเจ้าเพราะถือว่าเป็นเจ้า (ตามกฎมณเฑียรบาลพระยศเจ้านายของไทย หม่อมเจ้านับเป็นเจ้านายชั้นพระอนุวงศ์ และเป็นเจ้านายในลำดับสุดท้าย ถัดจากชั้นหม่อมเจ้าลงไปถือเป็นสามัญชน ไม่นับว่าเป็นเจ้า) ดังนั้นจึงเทียบได้ไม่ต่ำกว่าชั้นหม่อมเจ้า เพราะถือว่าเป็นเจ้า ส่วนยศ"ตูแว"พบที่ปัตตานีเท่านั้นและยอมรับกันทางภาษาศาสตร์ว่าน่าจะเป็นคำดังเดิมที่สุด
ต่วน,กู, ตูแว,ตูวัน, มีใช้ในรัฐกลันตันและปัตตานีเท่านั้น แต่ยศนี้จะนิยมใช้ในปัตตานีมากกว่า ปัจจุบันในรัฐกลันตันนิยมใช้เป็น เต็งกู แทนในขณะที่ ยศหลง ไม่เป็นที่นิยมใช้และถูกยกเลิกไปแล้ว
(3) นิ,วัน เป็นยศชั้นสุดท้าย และถือว่าเป็นสามัญชนแล้ว ไม่ถือว่าเป็นเจ้าเหมือนยศที่กล่าวมาข้างต้น ยศนิ เป็นการให้เกียรติสำหรับผู้สืบเชื้อสายเจ้าทางมารดา เช่น ฝ่ายหญิงเป็นตนกู หรือ ต่วน สมรสกับชายสามัญชน บุตร-ธิดา ที่เกิดมาใช้ยศ นิ เป็นต้น
ส่วนคำนำหน้า แว,เจ๊ะ,อิง-เจ๊ะ,เจ๊ะปวน ถือว่าเป็นยศใช้เพื่อยกย่องคนธรรมดาที่มีเกียรติ คล้ายกับ คุณหญิงพรทิพย์ ขณะเดียวกัน ยศ วัน บางครั้งก็ใช้เพื่อยกย่องคนธรรมดาเช่นกัน อาทิ นายวันมูฮัมหมัดนอร์ และยศ เจ๊ะปวน ก็มักนิยมใช้สำหรับ พระมเหสี หรือ พระชายา ที่เป็นสามัญชน เปรียบเทียบได้กับ หม่อม เช่น เจ๊ะปวน โซฟี หลุย์ โยฮันน์สัน พระชายาในมกุฎราชกุมารแห่งรัฐกลันตัน หรือ เจ๊ะปวนมาเรียม หรือนามเดิม เรียม เพศยนาวิน พระยาชาในตวนกู ซัยยิด ปุตราแห่งเปอร์ลิสเป็นต้น
แต่เดิมนั้นยศ หลง, วัน, หวัน,นิ,ต่วน เป็นยศดั้งเดิม สมัยยุคแรกๆของการใช้ยศ เทียบเท่ากับยศชั้นที่2 คือ ตนกู เติงกู เต็งกู ตุนกู มีใช้เฉพาะในรัฐกลันตันและปัตตานี ปัจจุบันเชื้อพระวงศ์ในรัฐกลันตันไม่นิยมใช้ยศ หลง,นิ,ต่วน แต่หันมาใช้ ตนกู,เต็งกู แทนยศแบบเก่า แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่ยังใช้ยศแบบเก่าอยู่ ต่างกับในปัตตานียังนิยมใช้แบบเดิมอยู่
เมื่อเปรียบเทียบกับยศพระมหากษัตริย์ไทยสมัยยุคก่อนก็ใช้ยศ ขุน หรือ พญา เช่น พ่อขุนรามคำแหง ในราชวงศ์พระร่วง เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็มีการเปลี่ยนแปลงยศตามยุคสมัยเป็นต้น
ตัวอย่างเชื้อพระวงศ์ใช้ยศ ตนกู เติงกู ตุนกู ต่วน
1 เจ้าชาย เติงกู อะฮ์มัด อิสมาอิล มูฮัดซัม ชะฮ์ รัฐปะหัง
2 ต่วนไซนัลอาบิดิน โอรสในสุลต่านมูฮัมหมัดชาร์ที่3 รัฐกลันตัน
3 ตนกู มูฮัมมัด ฟาริส โอรสในสุลต่านอิสมาอิล เปตรา รัฐกลันตัน
ฉะนั้นแล้ว ตนกู,เติงกู,เต็งกู,อังกู,ตุนกู,ต่วน,กู, ตูแว,ตูวัน,รายา บอกไม่ได้ว่าเป็นยศชั้นใดอาจเป็นชั้นเจ้าฟ้าแต่ไม่ต่ำไปกว่าชั้นหม่อมเจ้า หากได้รับการแต่งตั้งเป็นมกุฏราชกุมาร,เจ้าชาย,เจ้าฟ้าก็จะเป็นตามนั้น หากไม่ได้รับแต่งตั้งใดๆก็เป็นเชื้อพระวงศ์ไม่ต่ำกว่าชั้นหม่อมเจ้า เพราะถือว่าเป็นเจ้า ลำดับเท่ากันหมด ดังตัวอย่างข้างต้นแม้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าชายก็ยังใช้ยศ ตนกู,เติงกู,เต็งกู,อังกู,ตุนกู,ต่วน,รายา หากเป็นประมุขแห่งรัฐก็จะใช้ สุลต่านเป็นต้น
ตัวอย่างเชื้อพระวงศ์ที่ใช้ยศแบบเก่าในราชวงศ์กลันตัน
1 วันดาอิม
2 หลงยูนุส
3 หลงมูฮัมหมัด หรือ สุลต่านมูฮัมหมัดที่1
4 หลงสนิ หรือ ต่วนสนิ สุลต่านมูฮัมหมัดที่2
5 ต่วนไซนัลอาบิดิน โอรสในสุลต่านมูฮัมหมัดชาร์ที่3 เป็นต้น
อ้างอิงจาก: ชมรมเครือญาติเจ้านายและเจ้าเมืองปัตตานี7หัวเมือง