5 ทริคดีๆ วางแผนใช้เงินในแต่ละอาทิตย์
ใช้เงินไปเพลินๆ พอรู้ตัวอีกที อ้าว...เงินหายไปไหนหมดแล้วล่ะเนี่ย?? แล้วจะอยู่ถึงสิ้นเดือนได้ยังไงล่ะ?
สวัสดีค่ะ มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย คงน่าจะเคยประสบกับปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังกันมาบ้างใช่ไหมล่ะคะ ถึงแม้จะหาเงินใช้เองได้แล้ว แต่ถ้าจัดการเรื่องการเงินได้ไม่ดีพอจะต้องประสบปัญหาช๊อตก่อนเงินเดือนออกแน่ๆ ซึ่งเหตุการณ์เลวร้ายแบบนั้นมันไม่ควรจะเกิดขึ้นบ่อยๆ เลย เพราะมันจะทำให้การเงินของเธอปั่นป่วนอยู่ยาก เงินใช้ไม่พอ เงินเก็บก็ไม่มีเอานะ มาม่ะ มาจัดระเบียบการใช้เงินกันใหม่ดีกว่านะ
5. แยกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นออกมาเลย
ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการใช้หนี้ เช่นพวกบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้องหรือบ้าน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในทุกๆ วัน เช่น ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีแอพรายรับ-รายจ่ายที่ช่วยบันทึกเตือนความจำให้จ่ายบิลเพิ่มความสะดวกให้กับชีวิตได้ด้วยนะ จะได้ไม่ทำให้เราสับสน และไม่เผลอใช้เงินจนไม่ได้นำมาจ่ายในส่วนที่จำเป็นเหล่านี้เสียก่อนด้วย
4. ควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน
แบ่งเอาไว้เลย นอกเหนือจากค่ารถแล้ว เราจะกำหนดให้ตัวเองใช้เงินในแต่ละวันได้เท่าไหร่ อย่างเช่น สัก 120 บาทต่อวัน เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่กินของมีราคาแพงเกินไป เราก็สามารถอยู่ได้สบายๆ อยู่แล้ว หรือเราจะลองปรับเปลี่ยนจากใช้บางวันน้อย แล้วนำไปใช้บางวันมากทดแทนก็ได้ แต่ไม่ควรเกินที่กำหนดไว้บ่อยเกินไป แต่ก็ไม่ถึงกับตึงเป๊ะไม่พอคือจ่ายเพิ่มเลยไม่ได้ขนาดนั้น เพราะบางครั้งเราก็จะต้องเจอรายจ่ายฉุกเฉิน หรือรายจ่ายที่ไม่คาดคิดมาด้วย ซึ่งบางครั้งมันก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายเกินเหมือนกันอ่ะนะ
3. แบ่งเงินเอาไว้เพื่อเก็บ
หากเงินเดือนเข้าแล้วให้แบ่งเก็บไว้เลยจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ มากกว่าการตั้งใจจะเก็บวันละ 100 หรือ 300 บาทนะคะ แต่การเก็บเงินก้อนใหญ่ในคราวเดียวเลยก็เป็นเรื่องที่ทำใจลำบากสำหรับหลายๆ คนเช่นกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดเลยค่ะ ขอแค่ปลายทางได้ผลลัพธ์เหมือนกันคือ ออมเงินได้จริงและทำได้สำเร็จก็พอโดยที่ไม่แอบเอาเงินที่ตั้งใจเก็บมาใช้ แค่นี้ก็ยอดเยี่ยมมากแล้วล่ะจ้า
2. ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย
สินค้าฟุ่มเฟือยอาจจะเป็นสิ่งเราชอบและปรารถนา แต่ถ้าดูดีๆ ลึกๆ แล้วบางทีไม่จำเป็นต้องมีก็ได้หรือเปล่า? และถ้าประหยัดไว้ก่อนเผื่อได้ของที่ถูกใจกว่าจำเป็นต้องใช้มากกว่าในวันข้างหน้า รึรอของเก่าหมดก่อน พังก่อนแล้วค่อยซื้อ บางทีมันก็อาจจะดีกว่ากันเยอะเลยนะ อันนี้รวมถึงการซื้อของที่ได้คุณภาพด้วยนะคะ บางอย่างราคาถูกจริง แต่ซื้อมาใช้แล้วไม่คุ้มค่า พังเสียง่ายไม่สมราคาก็ถือว่าสิ้นเปลืองค่ะ ดังนั้นแล้วของบางอย่างที่ราคาสูงกว่าแต่คุณภาพดีกว่า ก็ถือว่าสมควรแก่การลงทุนนะคะ
1. ไม่สร้างหนี้ดีที่สุด
อย่างน้อยแม้เราจะเป็นคนที่มีเงินเก็บน้อย แต่ถ้าไม่มีหนี้นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากแล้วล่ะค่ะ หากว่าอยากจะได้ของสักอย่าง ควรประมาณรายได้ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ของเดือนๆ นึงให้สมดุลย์กันด้วย ไม่ควรจะเป็นรายจ่ายที่กระทบกับการใช้เงินในชีวิตของเรา อย่าง หากผ่อนสินค้าได้ไม่เสียดอกเบี้ยในราคาสบายๆ ทุกเดือนก็น่าจะดีกว่าซื้อเงินสดที่เป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียวไปเลย แต่ก็ไม่ควรมีของหลายชิ้นที่ต้องผ่อนทุกเดือนมากเกินไป อาจจะรอผ่อนชิ้นแรกให้หมดก่อน ถึงค่อยวางแผนการผ่อนของชิ้นต่อไปดีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดภาระที่ต้องจ่ายมากเกิน
รวมถึงหนี้โทรศัพท์ หรือหนี้บัตรเครดิตหากมีก็ควรหาทางปลดหนี้ให้เร็วที่สุด เพราะถ้ายิ่งจ่ายช้าเธอจะเจอดอกเบี้ยทบไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดรายจ่ายที่ไม่ควรต้องเสียเพิ่มไปอีก หากกู้เงินมาใช้ปิดหนี้บัตรเครดิตแล้วผ่อนดอกเบี้ยถูกกว่าได้ก็ควรทำ เป็นต้น
คงจะเคยได้ยินใช่ไหมล่ะคะว่า หาเงินได้เยอะเท่าไหร่ ไม่สำคัญเท่าเหลือเก็บเท่าไหร่ มาลองเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่มีระเบียบทางการเงิน ใช้เงินเป็น รู้คุณค่า ไม่ใช้เงินเกินตัวกันดีกว่าเพียงเท่านี้เธอก็จะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีคุณภาพแล้วล่ะ
เธอมีหนี้เยอะหรือเปล่า?
บทความ โดย : Akine_noxx
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บ Spice/Pepper
ฝากติดตาม กดไลค์ กดแชร์ คอมเม้นท์เป็นกำลังใจกันด้วยนะคะ