รู้ยัง? ประเทศไทยมี "หมุดโลก” ตั้งอยู่บนยอดเขา สะแกกรัง จ.อุทัยธานี
"หมุดโลก" หรือชื่อทางการว่า "หมุดศูนย์กำเนิดพื้นหลักฐาน" ถือเป็นหมุดแผนที่โลก 1 ใน 3 ของหลักหมุดโลก ของทวีปเอเชียที่ควรค่าไปชมกัน
โดยจุดที่ 1 จากจุดศูนย์กำเนิด หลักหมุดที่ 90 อยู่ที่เขากาเรียนเปอร์ ประเทศอินเดีย
จุดที่ 2 หลักหมุดที่ 91 อยู่ที่เขาสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
และจุดที่ 3 หลักหมุดที่ 92 อยู่ที่ประเทศเวียดนาม ใช้สำหรับคำนวณและแบ่งแนวเขต เพื่อลงพิกัดแผนที่โลก
“หมุดโลก” หรือ ศูนย์กำเนิดพื้นหลักฐาน บนเขาสะแกกรัง มีลักษณะเป็นแท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมรูปตัวยูคว่ำ ใช้เป็นกรอบคร่อมทับจุดของที่ตั้งหมุดแผนที่ สำหรับค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ ที่กรมแผนที่ทหาร ใช้ในการกำหนดตำแหน่งของหมุดหลักฐานเขาสะแกกรังนี้ ได้แก่ ละติจูด 15 องศา 22 ลิปดา 56.0487 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูด 100 องศา 0 ลิปดา 59.1906 ฟิลิปดาตะวันออก มีกำหนดสูง 140.98 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมแผนที่ทหาร ระบุว่า หมุดโลก ที่เขาสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี เป็นหมุดหลักฐานแผนที่หมายเลข 3001 ชื่อ OTRI91 (โอทีอาร์ไอเก้าหนึ่ง) เป็นชนิดหมุดสามเหลี่ยม มีความสำคัญโดยใช้อ้างอิงพิกัดบนโลก
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 องค์การแผนที่ กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา (Defense Mapping Agency Hydrographic/Topographic Center : DMAHTC) ได้ทำการปรับแก้และย้ายศูนย์กำเนิดของพื้นหลักฐานจากเขากะเลียนเปอร์ ประเทศอินเดีย มาเป็นที่เขาสะแกกรัง จ.อุทัยธานี การปรับแก้ครั้งนี้ใช้เทคนิคการรังวัดจากดาวเทียมดอปเปลอร์จำนวน 9 สถานี ซึ่งตำแหน่งสัมพัทธ์ที่ได้จากการรังวัดดาวเทียมดอปเปลอร์ มีความถูกต้องสูงกว่าที่ได้จากงานโครงข่ายสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นจุดควบคุมโครงข่ายสามเหลี่ยม ประกอบด้วยจำนวนหมุดสามเหลี่ยมทั้งสิ้น 426 สถานี เรียกผลลัพธ์จากการปรับแก้โครงข่ายสามเหลี่ยมในครั้งนี้ว่า “พื้นหลักฐาน Indian1975”
สำหรับความสำคัญของหมุดโลก ที่เขาสะแกกรัง คือ เป็นโครงข่ายหลักของรังวัดสัญญาณดาวเทียมจีพีเอส เพื่อใช้ทำแผนที่โลกและแผนที่ประเทศไทย โดยในการทำแผนที่ประเทศไทยจะมีหมุดทั้งหมด 18 แห่งทั่วประเทศ เช่น เขาสะแกกรัง จ.อุทัยธานี แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
หากแวะเที่ยวเมืองรอง อย่าง จ.อุทัยธานี อย่าพลาดชม “หมุดโลก” แหล่งท่องเที่ยวที่มีทั้งประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่สวยงาม
การเดินทาง: ทางรถไฟ ต้องไปลงที่สถานีนครสวรรค์ แล้วต่อรถประจำทางมายังอุทัยธานีอีกประมาณ 50 กิโลเมตร
ส่วนทางรถ บขส. มีบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-อุทัยธานีทุกวัน จากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
สำหรับไปรถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปอุทัยธานีได้หลายเส้นทาง
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/103600398076345/posts/11755322001



















