“โคก-หนอง-นา โมเดล” สืบสานศาสตร์พระราชา ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างชีวิตที่ยั่งยืน
“โคก-หนอง-นา โมเดล” สืบสานศาสตร์พระราชา
ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างชีวิตที่ยั่งยืน
โครงการ “โคก-หนอง-นา” มีจุดประสงค์หลัก คือ ต้องการให้ประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ และมีรายได้ ซึ่งได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่เกษตรด้วยการผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกัน โดยมุ่งหวังที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับชุมชน ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10
กล่าวคือ 30% แรก แบ่งเป็นแหล่งน้ำ ทั้งการขุดบ่อทำหนอง และการขุดคลองไส้ไก่ที่ช่วยระบายน้ำรอบพื้นที่ อีก 30 % สำหรับปลูกข้าว และอีก 30% สำหรับการทำโคกหรือป่า โดยอาจปลูกผักเป็นอาหาร ปลูกไม้ใช้สอย ปลูกยาสมุนไพร ส่วนพื้นที่ 10% ที่เหลือ เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์
โดย “โคก-หนอง-นา โมเดล” นั้น คือแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้
โคก: พื้นที่สูง
– ให้นำดินที่ขุดเพื่อทำหนองน้ำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ
– ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
– ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ
หนอง: หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ
– ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งหรือเมื่อจำเป็น และยังเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก)
– ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้ น้ำกระจายได้ทั่งถึง เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้
– ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อโดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง
– พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก
นา:
– พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดิน ใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน
– ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา
ทั้งนี้ การเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และสร้างความยั่งยืนในอนาคต จะเห็นได้จากสภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรมต่อความอยู่รอด คุณภาพชีวิตและแหล่งรายได้สำคัญของคนไทยอีกด้วย
#เรารักประเทศไทย
#WeLoveThailand
















