ภาษาเป็นตัวกำหนดวิธีคิดของเรา
ภาษาเป็นตัวกำหนดวิธีคิดของเรา
Lera Boroditsky TEDWomen 2017
มีภาษาที่พูดกันทั่วโลกประมาณ 7,000 ภาษา - และพวกมันต่างก็มีเสียงที่แตกต่างกัน รวมทั้งคำศัพท์และโครงสร้างด้วย แต่พวกมันจะเป็นตัวกำหนดวิธีคิดของเราหรือไม่?
เอาล่ะ ฉันจะใช้ภาษาสื่อสารกับคุณ เพราะฉันทำได้ มันเป็นความสามารถพิเศษหนึ่ง ที่มนุษย์อย่างเรามี เราสามารถถ่ายทอด ความคิดที่ซับซ้อนไปสู่คนอื่นได้ และสิ่งที่ฉันทำอยู่ตอนนี้ คือการเปล่งเสียงจากปาก ขณะหายใจออก ฉันใช้น้ำเสียง สูดลมหายใจ และเบาลม สร้างให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในอากาศ คลื่นเสียงเหล่านั้นเดินทางไปสู่พวกคุณ กระทบเข้าที่แก้วหู จากนั้นประสาทรับเสียงถูกกระตุ้น แล้วส่งสัญญาณไปยังสมอง และแปลความหมายของคลื่นเสียงเป็นความคิด หวังว่าจะใช่นะ
แน่นอนไม่ได้มีเพียงภาษาเดียวบนโลกใบนี้ มีภาษาที่ใช้สื่อสารกันอยู่ ถึงกว่า 7,000 ภาษาทั่วโลก และภาษาเหล่านั้นก็แตกต่างกัน ในหลาย ๆ แง่มุม บางภาษาแตกต่างกันที่เสียง บางภาษาแตกต่างกันที่ศัพท์ บางภาษาแตกต่างกันทางโครงสร้าง ความแตกต่างทางโครงสร้างนี่แหละที่สำคัญ นั่นนำมาสู่คำถามที่ว่า "ภาษากำหนดวิธีคิดของเราหรือไม่" นี่เป็นคำถามที่มีมาตั้งแต่โบราณ ที่เรายังคงตั้งสมมติฐาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดมา ชาร์เลอมาญ จักรพรรดิแห่งโรมัน กล่าวไว้ว่า "การมีภาษาที่สอง คือการมีจิตวิญญาณอีกดวง" คำกล่าวที่ชี้ชัดว่า ภาษาประกอบสร้างความเป็นจริง แต่อีกด้านหนึ่ง จูเลียตของเชกสเปียร์ก็พูดไว้ว่า "จักเรียกว่าอะไร หากกุหลาบในภาษาอื่น อาจหมายถึงของหวาน" ฉะนั้น บางทีภาษาอาจไม่ใช่ ตัวกำหนดความเป็นจริง
ให้ฉันได้เล่าถึง ตัวอย่างศึกษาที่ฉันโปรดปราน ขอเริ่มจากตัวอย่าง จากชุมชนชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย ที่ฉันมีโอกาสได้ร่วมงานด้วย นี่คือชาวคุกทายอร์ (Kuuk Thaayorre) พวกเขาอาศัยอยู่ในปอร์มปูราอาว (Pormpuraaw) ตะวันตกสุดของเคปยอร์ก (Cape York) สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับชาวคุกทายอร์ ชาวคุกทายอร์ไม่ใช้ศัพท์ เช่น "ซ้าย" หรือ "ขวา" และเพื่อบอกทิศทางทุกอย่าง พวกเขาใช้ศัพท์ตามเข็มทิศ เหนือ ใต้ ออก ตก ที่ฉันบอกว่าทุกอย่าง ฉันหมายถึงทุกอย่างจริง ๆ คุณควรพูดเช่นนี้ว่า "นี่เธอ มีมดเกาะอยู่ บนขาข้างตะวันตกเฉียงใต้" หรือ "ช่วยขยับแก้วของคุณ ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือนิดหนึ่ง"
บางภาษามีคำบอกเฉดสีมากมาย บางภาษามีแค่ 2 คำ คือ "อ่อน" กับ "เข้ม" และภาษาต่าง ๆ ก็มีขอบเขตของเฉดสี ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง ในภาษาอังกฤษ มีคำศัพท์เช่น "สีฟ้า" (blue) ซึ่งหมายถึงทุกสีที่คุณเห็นอยู่บนหน้าจอนี้ แต่ในภาษารัสเซีย ไม่ได้มีเพียงคำเดียว ตรงกันข้าม ผู้ใช้ภาษารัสเซีย ต้องจำแนกเฉดสีต่าง ๆ ระหว่างสีฟ้าอ่อน "โกลูบอย (goluboy)" กับสีฟ้าเข้ม "ซีนีย์ (siniy)" ดังนั้นชาวรัสเซียจะมี ประสบการณ์ชีวิตทางภาษา ในการจำแนกเฉดสองสีนี้ เมื่อเราทดสอบความสามารถ ในการจำแนกเฉดสีด้วยการมองเห็นของมนุษย์ สิ่งที่เราค้นพบคือ ชาวรัสเซียมักไวกว่า ด้วยขอบเขตทางภาษาศาสตร์นี้ พวกเขาแยกแยะได้รวดเร็วกว่า ถึงความแตกต่าง ระหว่างสีฟ้าเข้มและสีฟ้าอ่อน
หลายภาษามีเพศทางไวยากรณ์ คำนามทุกคำล้วนถูกระบุเพศ มักถูกแบ่งเป็น เพศชาย กับเพศหญิง ซึ่งแต่ละภาษามีการแบ่งเพศที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น พระอาทิตย์เป็นคำนามเพศหญิง ในภาษาเยอรมัน แต่เป็นเพศชายในภาษาสเปน ส่วนพระจันทร์ก็ตรงข้ามกัน แล้วเรื่องเพศมีผลต่อ ความคิดของเราอย่างไรบ้าง