สะอึก! มีวิธีแก้
สะอึก สะอึก มาดูกัน
เกิดจากการหดตัวอย่างฉับพลันของกล้ามเนื้อกระบังลมที่อยู่ระหว่างช่องอกและช่องท้อง การหดตัวนี้ส่งผลให้เกิดการหายใจเข้าอย่างรวดเร็ว แต่อากาศที่เข้ามานั้นถูกกักโดยเส้นเสียงที่จะปิดลงทันทีทันใดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกล่องเสียง ทำให้มีเสียงสะอึกตามมาในที่สุด
การสะอึกมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ การสะอึกระยะสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นได้บ่อยและหายได้เร็ว โดยจะคงอยู่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และการสะอึกต่อเนื่องนานกว่า 48 ชั่วโมง การสะอึกชนิดหลังนี้พบได้ไม่บ่อยและควรเข้ารับการรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้
การสะอึก เป็นอาการทั่วไป เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว และไม่น่าเป็นกังวลใจแต่อย่างใด มักเป็นผลจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพียงอยู่ให้ห่างจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
- สูบบุหรี่มากเกินไป
- ดื่มแอลกอฮอล์เกินพอดี
- รับประทานอาหารอย่างรวดเร็วและมากเกินไป
- รับประทานอาหารเผ็ดมากเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม
- ท้องอืด
- กลืนอากาศมากไป สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม
- อุณหภูมิภายในท้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การรับประทานของร้อนแล้วดื่มน้ำเย็นตาม
- สาเหตุทางอารมณ์ เช่น เกิด ความเครียด ตื่นเต้น หรือกลัว
- อุณหภูมิห้องที่เปลี่ยนแปลงกระทันหัน
การสะอึกต่อเนื่องหรือการสะอึกเรื้อรัง นอกจากอาการสะอึกชั่วครู่ที่เราคุ้นเคยกันดี ยังมีอาการสะอึกอีกชนิดที่ยาวนานผิดปกติ โดยจะคงอยู่เกินกว่า 48 ชั่วโมง ควรระมัดระวังและอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นผลมาจากโรคชนิดต่าง ๆ ต่อไปนี้
- โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ปอดบวม และเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
- โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน ลำไส้เล็กอุดตัน และลำไส้อักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อในช่องท้อง
- โรคที่กระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมกระบังลม เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คอพอก และคอหอยอักเสบ
- โรคที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เนื้องอกที่กระทบสมอง ลมชัก สมองอักเสบ และสมองได้รับการกระทบกระเทือน
- ปฏิกิริยาตอบสนองทางจิตใจ เช่น การเผชิญภาวะช็อก ความเศร้า ความตื่นเต้น ความเครียด และความกลัว
- โรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ เช่น เบาหวาน
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในเลือดที่อาจเกิดจากแอลกอฮอล์ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะขาดแคลเซียมหรือโพแทสเซียมในเลือด
การรับประทานยาหรือการได้รับยาบางชนิดก็อาจส่งผลข้างเคียงให้มีอาการสะอึกได้เช่นกัน เช่น
- ยาชา (Anaesthesia) มักใช้สำหรับการผ่าตัดเพื่อทำให้ชาหรือไม่รู้สึกตัว
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เป็นยาระงับประสาท
- คอร์ติโคสเตียร์รอยด์ (Corticosteroids) ยาสำหรับลดอาการบวมอักเสบ
- บาร์บิทูเรต (Barbiturates) ใช้ป้องกันอาการชัก
- ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงอย่างเมทิลโดปา (Methyldopa)
- ยาระงับปวดโอปิออยด์ (Opioids)
- ยาที่ใช้รักษาทางเคมีบำบัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
วิธีแก้อาการสะอึก
สำหรับอาการสะอึกระยะสั้น มีเทคนิคหยุดสะอึกให้เลือกลองใช้มากมาย ซึ่งวิธีที่ได้ผลของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป และแม้ว่าจะยังไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายหรือยืนยันได้แน่นอน แต่วิธีเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอันตราย และเป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่าย
- จิบน้ำเย็นจัด
- กลั้วคอด้วยน้ำเย็น
- กลั้นหายใจระยะสั้น ๆ แล้วนับ 1-10 ช้า ๆ
- กัดมะนาวฝาน
- กลืนน้ำตาลเม็ด หรือใช้ลิ้นแตะน้ำส้มสายชูคล้าย ๆ ชิม
- หายใจในถุงพลาสติก
- ดึงเข่าให้ติดหน้าอกหรือเอียงตัวไปข้างหน้าเพื่อกดหน้าอกลง
- ทำให้ตกใจหรือทำให้จาม เพื่อให้เกิดการสูดหายใจเข้าอย่างแรง
- อุดหูทั้ง 2 ข้าง บีบจมูกไว้ แล้วจิบน้ำจากแก้ว 1-2 อึก วิธีนี้อาจต้องใช้ผู้ช่วย
การสะอึกระยะยาวต้องรักษา
การสะอึกประเภทนี้ต่างจากการสะอึกระยะสั้นที่มักหายไปได้เอง แต่การสะอึกระยะยาวจะต้องรับการรักษาทางการแพทย์ โดยเริ่มที่การค้นหาต้นเหตุ อาจเป็นโรคที่ส่งผลให้เกิดอาการสะอึกหรือผลข้างเคียงจากยา แต่หากแพทย์ไม่พบปัญหาสุขภาพหรือสาเหตุใด ๆ ยาบางชนิดจะถูกนำมาใช้ในการช่วยรักษา เช่น บาโคลเฟน (Baclofen) เมโทรโคลพราไมด์ (Metoclopramide) และคลอโปรมาซีน(Chlorpromazine)
หากยาเหล่านี้ไม่ได้ผล ตัวเลือกถัดไปอย่างการฉีดยาชาเพื่อทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมการหดตัวของกระบังลมหยุดทำงาน หรือใช้การกระตุ้นทางไฟฟ้าอ่อนไปยังเส้นประสาทเวกัสจึงจะถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการสะอึกนี้