บทสรุปและอุทาหรณ์ จากคดี "โฉนดถุงกล้วยแขก"
บทสรุปและอุทาหรณ์
จากคดี "โฉนดถุงกล้วยแขก"
—————
หลายปีก่อนมีคดีดังคดีหนึ่ง ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างพระพยอมแห่งวัดสวนแก้ว กับเจ้าของที่ดินติดวัด เรียกกันว่า "คดีโฉนดถุงกล้วยแขก" ซึ่งล่าสุดศาลตัดสินให้พระพยอมแพ้คดี และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของคดีนี้ค่ะ
—————
⚫️ จุดเริ่มต้นของคดี
:
1- "พระพยอม กลฺยาโณ" อายุ 71 ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว วัดนี้มีเนื้อที่ 175 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
2- วัดสวนแก้วมีชื่อเสียงโด่งดัง มีญาติโยมมากมาย และยังได้จัดตั้ง "มูลนิธิวัดสวนแก้ว" ขึ้น เพื่อช่วยเหลือสังคมในหลาย ๆ ด้าน
3- ในปี 2547 พระพยอมในนามของมูลนิธิวัดสวนแก้วได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา จาก "นางวันทนา" ในราคา 10 ล้านบาท ซึ่งที่ดินผืนนี้อยู่ติดวัดพอดี
4- การซื้อขายดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง โดยผ่านสำนักงานที่ดิน มีการโอนโฉนดมาเป็นของวัดสวนแก้วเรียบร้อย
5- เมื่อซื้อมาแล้วพระพยอมก็เริ่มพัฒนาที่ดินผืนนั้น ด้วยการถมที่ไป 8 แสนบาท แล้วก่อสร้างอาคารอีกหลายแสนบาท
—————
⚫️ ที่ดินกับการครอบครองปรปักษ์
:
6- ปัญหาเกิดขึ้นในปี 2549 หลังจากพระพยอมซื้อที่ดินได้ 2 ปี เมื่อมีชายคนหนึ่งชื่อ "นายถนอม" มาอ้างว่าที่ดินผืนนี้ไม่ใช่ของนางวันทนา แต่เป็นของ “นางทองอยู่” มารดาของเขาซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว
7- นายถนอมบอกว่า เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ตอนที่นางทองอยู่ยังมีชีวิตอยู่ นางทองอยู่ได้อนุญาตให้นางวันทนากับแม่ซึ่งเป็นญาติเข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินผืนนี้
8- ด้านนางวันทนาก็ยอมรับว่าที่ดินผืนดังกล่าวเคยเป็นของนางทองอยู่จริง โดยในปี 2516 นางทองอยู่ได้ให้ตนกับแม่เข้ามาปลูกบ้านทำสวนในที่ดินผืนดังกล่าวอย่างเปิดเผย
9- ปี 2528 นางทองอยู่เสียชีวิตลง นางวันทนากับแม่ก็อาศัยทำกินบนที่ดินผืนนี้เรื่อยมาจนถึงปี 2546 รวม 30 ปี โดยไม่มีใครคัดค้านหรือขับไล่ นางวันทนาจึงไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งครอบครองโดยปรปักษ์** และศาลก็มีคำสั่งในปีเดียวกันให้นางวันทนาเป็นผู้ครอบครอง
** "ครอบครองปรปักษ์" คือ การที่เราอยู่อาศัยทำกินในที่ดินของผู้อื่นอย่างเปิดเผย โดยเราไม่ได้ไปหลอกลวงหรือข่มขู่เจ้าของ และเจ้าของก็ไม่ได้กีดกันหรือฟ้องขับไล่เรา เมื่อครอบครองนาน 10 ปี เราจะมีสิทธิ์จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้
10- จากนั้นในปี 2547 นางวันทนาได้แบ่งขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ให้กับมูลนิธิวัดสวนแก้วในราคา 10 ล้านบาท
11- ในปี 2549 ลูก ๆ ของนางทองอยู่ทราบเรื่อง จึงไปฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการครอบครองของนางวันทนา
—————
⚫️ ที่มาของวาทะ “โฉนดถุงกล้วยแขก”
:
12- เมื่อลูกของนางทองอยู่ไปฟ้องศาล ปรากฏว่านางวันทนากลับเซ็นยอมความไม่สู้คดี ซึ่งการยอมความของนางวันทนาในครั้งนั้นก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร ทั้งที่มีช่องให้ต่อสู้ แต่กลับยอมความเสียง่าย ๆ
13- เมื่อนางวันทนายอมความ ในเดือนเมษายน 2550 ศาลจึงสั่งเพิกถอนการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินปรปักษ์ของนางวันทนา ส่งผลให้โฉนดที่ดินที่มูลนิธิวัดสวนแก้วถืออยู่กลายเป็นโมฆะ และต้องคืนที่ดินให้ทายาทนางทองอยู่
14- คดีนี้กลายเป็นกรณีพิพาทใหญ่โตระหว่างพระพยอมกับกรมที่ดิน ถึงขนาดพระพยอมประกาศคว่ำบาตร งดรับกิจนิมนต์จากส่วนราชการทุกส่วนโดยไม่มีกำหนด โดยเฉพาะหน่วยงานของกรมที่ดิน
15- พระพยอมอ้างว่า ตอนซื้อที่ดิน กรมที่ดินก็ไม่ได้แย้งหรือตรวจสอบว่าที่ดินผืนนี้ไม่ใช่ที่ปรปักษ์ และตนก็เข้ามาพัฒนาที่ดินผืนนี้อย่างเปิดเผยเป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน โดยไม่มีใครคัดค้าน แต่จู่ ๆ โฉนดราคา 10 ล้านกลับเป็นโมฆะ
16- พระพยอมเรียกโฉนดที่ดินดังกล่าวว่า "โฉนดถุงกล้วยแขก" (หมายถึงโฉนดที่ดิน 10 ล้าน แต่มีค่าเท่ากับถุงกล้วยแขก) แล้วทำอนุสาวรีย์โฉนดถุงกล้วยแขกตั้งไว้ที่วัดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แถมยังออกหนังสือชื่อ "ถุงกล้วยแขกพระพยอม" ด้วย
17- ส่วนนางวันทนาซึ่งปัจจุบันอายุมากแล้ว อ้างว่าตนใช้เงิน 10 ล้านไปหมดแล้ว ไม่มีเงินคืนให้วัด
—————
⚫️ ไกล่เกลี่ยไม่ได้-วัดแพ้คดี
:
18- ตลอดหลายปีที่ผ่านมาศาลพยายามไกล่เกลี่ย เพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างวัดสวนแก้วกับทายาทนางทองอยู่หลายครั้ง ครั้งแรกวัดเสนอเงินเพิ่มให้ 3 ล้านบาท แต่อีกฝ่ายต้องการ 15 ล้าน หลายปีต่อมาวัดเสนอให้ 5 ล้าน อีกฝ่ายต้องการ 45 ล้าน (ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวมีรถไฟฟ้าผ่าน) ทำให้ตกลงกันไม่ได้
19- กระทั่งในปี 2560 ทางวัดก็ยื่นต่อศาลขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินผืนดังกล่าว เนื่องจากวัดอยู่ในที่ดินมานานกว่า 12 ปี นับจากปี 2547 แต่ศาลยกฟ้อง และวัดก็อุทธรณ์ต่อ
20- กระทั่งต้นเดือนมิถุนายน 2563 ทายาทนางทองอยู่และทนายความได้เดินทางมาที่วัดและแจ้งกับพระพยอมว่า ศาลสั่งให้วัดขนย้ายข้าวของออกจากที่ดินภายในสิ้นเดือน
21- ล่าสุดพระพยอมให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีความอยากได้ที่ดินผืนนี้แล้ว แต่ข้องใจว่าผู้เกี่ยวข้อง 4 คน คือ 1. นางวันทนา 2. ทนายความ 3. เจ้าหน้าที่ออกโฉนด และ 4. คนปั๊มโฉนด ทำไมไม่มีความผิด แต่ผู้ซื้อคือวัดกลับมีความผิด
22- พระพยอมบอกว่าตอนนี้ตนปลงได้แล้ว เขาให้ย้ายออกก็ย้าย ซึ่งตอนนี้บนที่ดินผืนนั้นก็มีเพียงห้องพักที่ปลูกให้คนงานอาศัยอยู่เท่านั้น
23- พระพยอมทิ้งท้ายว่า "บางทีกฎหมายก็ไม่ให้ความเป็นธรรม แต่กฎแห่งกรรมเราเชื่อว่ายังศักดิ์สิทธิ์ ประเทศไทยเราก็เป็นแบบนี้”
—————
⚫️ อุทาหรณ์จากเรื่องนี้
:
1- หากคุณเป็นเจ้าของที่ดินและอนุญาตให้ใครก็ตามเข้ามาอยู่อาศัยทำกิน ควรทำสัญญาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการครอบครองปรปักษ์ในอนาคต
2- ในการซื้อที่ดินทุกครั้ง ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ว่าเป็นที่ดินที่ได้จากการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และมีกรณีพิพาทระหว่างเจ้าของเดิมกับเจ้าของใหม่หรือไม่
:
















