สหรัฐดูแลคนเร่ร่อนดีกว่าไทยโดยเฉพาะช่วงโควิด 19
หลายคนบอกว่าระบบสาธารณสุขสหรัฐอเมริกากำลังจะล่มสลายเพราะโควิด-19 ทางราชการสหรัฐคงดูแลประชาชนไม่ดีพอ กรณีนี้เป็นแค่คำ “โฆษณาชวนเชื่อ” แบบ “เอาดีใส่ตัว”
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) ช่วยเหลือคนเร่ร่อนกล่าวว่า ในประเทศไทยมีจำนวนเตียงคนไข้ต่อประชากร 1,000 คน อยู่ที่ 1.9 เตียง ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีอยู่ถึง 2.83 เตียง <1> นี่จึงเป็นเครื่องชี้วัดว่าการสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาดีกว่าไทย
คนเร่ร่อนในสหรัฐอเมริกามีราวครึ่งล้านคน หลายคนมีปัญหาทางจิตอีกต่างหาก คนเร่ร่อนกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ทางชายฝั่งตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือถึงเกือบครึ่ง (47 เปอร์เซ็นต์) โดยเฉพาะในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ปัญหานี้เกิดจากราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น เงื่อนไขสำหรับการนอนริมถนนที่ทำได้ง่ายโดยเฉพาะในเมืองที่มีอากาศอบอุ่นโดยเฉพาะมลรัฐแคลิฟอร์เนีย การจัดหาที่พักพิงไร้บ้านยังไม่ครบถ้วน และลักษณะของคนเร่ร่อนเองที่ชอบมีอิสระ <2>
การจัดหาที่อยู่อาศัยที่จุคนได้มาก ๆ สำหรับคนเร่ร่อนนั้น ยังต้องมีเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลและภาคเอ็นจีโอของสหรัฐอเมริกาพยายามจัดหาที่พักพิงให้คนเร่ร่อนด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยแก่คนเร่ร่อนเอง และคนเร่ร่อนส่วนใหญ่ราวสองในสามก็อยู่อาศัยในบ้านพักเหล่านี้ ที่อาศัยข้างถนนอาจเป็นเพียงส่วนน้อย อย่างไรก็ตามก็ยังต้องจัดหาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมอีกด้วย
ปัญหาของคนเร่ร่อนนอกจากโรคติดต่อต่างๆ แล้วยังมีปัญหาความเจ็บป่วยทางจิต ปัญหาการใช้สารเสพติด อาชญากรรม โดยรัฐบาลกลางพยายามสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยสนับสนุนถาวร อย่างไรก็ตามในกรณีผู้ที่มีปัญหาพิเศษ เช่น มีความเจ็บป่วยทางจิต หรือมีโรคร้ายอื่นๆ ก็อาจต้องส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นเช่นกัน บางคนเพิ่งออกจากคุกก็หางานไม่ได้ จึงเร่ร่อน ซึ่งรัฐบาลก็จะพยายามหางานให้
ที่ผ่านมารัฐบาลกลางโดยประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งที่จะพยายามลบอุปสรรคด้านกฎระเบียบในตลาดที่อยู่อาศัยซึ่งจะลดราคาของบ้านและลดการไม่มีที่พัก ปัจจัยความเสี่ยงส่วนบุคคลที่เปลี่ยนความต้องการที่อยู่อาศัย และพยายามที่จะยับยั้งปัญหายาเสพติด รวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอ็นจีโอดูแลคนเร่ร่อนมากขึ้นอีกด้วย
ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 มีคนเร่ร่อนเสียชีวิตเพราะโควิด-19 จำนวน 43 คนจากทั้งหมดประมาณ 70,000 คน หรือ 0.04% <3> ขณะที่ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 มีผู้เสียชีวิตในมลรัฐนิวยอร์ก 25,956 คน <4> จากประชากรทั้งหมด 19.4 ล้านคน <5> หรือราว 0.13% คนเร่ร่อนเสียชีวิตน้อยกว่าเสียอีก จะเห็นได้ว่าในประเทศตะวันตกผู้ที่เสียชีวิตส่วนมากเป็นผู้สูงวัยและมีโรคประจำตัว ส่วนคน (ที่กล้าออกมา) เร่ร่อน ก็คงมีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง ทำให้อัตราการตายกลับต่ำกว่า และยังมีที่อยู่อาศัยและอาหารไว้ดูแล
อย่างไรก็ตามในกรณีคนเร่ร่อนของไทย ปรากฏว่ารัฐบาลจัดที่อยู่อาศัยให้เช่นกัน <6> โดยจัดบ้านพักให้บริเวณต่างๆ แต่ก็สามารถรองรับได้จำนวนน้อยเท่านั้น ไม่สามารถรองรับได้เป็นส่วนใหญ่เช่นในสหรัฐอเมริกา และคนเร่ร่อนส่วนมากไม่สามารถไปพักอาศัยได้เพราะบ้านพักที่จัดไว้ ไกลจากย่านที่อยู่ของคนเร่ร่อน มาตรการเยียวยาจึงดูคล้ายผักชีโรยหน้ามากกว่า อย่างไรก็ตามยังไม่พบคนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครเสียชีวิตเพราะโควิด-19 ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน และโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงเช่นที่ถูก “โฆษณาชวนเชื่อ”
ดร.โสภณ เสนอให้ใช้สนามหลวงเป็นที่พัก ที่คัดกรองสำหรับคนเร่ร่อน เพราะเป็นที่โล่ง โดยสามารถกางเตนท์ หรือทำเป็นกระโจมให้พักชั่วคราว สามารถดูแลควบคุมโรคได้ง่ายเช่นกัน
ที่มา:
<1> โควิด-19 โรคที่ถูกสร้างภาพให้เกินจริง https://bit.ly/2xLzxBr
<2> The State of Homelessness in America. The Council of Economic Advisers. September 2019. https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2019/09/The-State-of-Homelessness-in-America.pdf
<3> How Homeless With ‘Mild’ Covid Symptoms Died on City’s Watch. https://thecity.nyc/2020/04/how-homeless-with-mild-covid-symptoms-died-on-citys-watch.html
<4> https://www.worldometers.info/coronavirus/country/us/
<5> https://en.wikipedia.org/wiki/New_York_(state)
<6> ส่องที่พักคนไร้บ้าน คนตกงานช่วงโควิด-19 ที่พักสะอาด อาหารอร่อย 3 มื้อ. https://www.thairath.co.th/news/society/1813183