เบลารุส ประเทศที่ไม่กลัว Covid-19 ประธานาธิบดีกลัวว่าประชาชนจะตกงานและอดตาย
เบลารุส ประเทศที่ไม่กลัว Covid-19
“The most important thing is not to panic”
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การไม่ตื่นตระหนก
นี่คือคำพูดของนาย Alexander Lukashenko ประธานาธิบดีเบลารุส กล่าวเอาไว้ในช่วงที่ Covid-19 กำลังระบาด
ขณะที่หลายประเทศกำลังตื่นตระหนกกับ Covid-19
แต่ทำไมผู้นำของเบลารุสกลับไม่รู้สึกอะไร
เขามีเหตุผลอะไรที่ต้องการทำแบบนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับประเทศเบลารุสกันก่อน
เบลารุส เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป
ก่อนหน้าที่เบลารุสจะประกาศเอกราชนั้น
เบลารุสเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน
ปัจจุบัน มูลค่า GDP ของเบลารุสเท่ากับ 2.1 ล้านล้านบาท เล็กกว่าประเทศไทยที่มี GDP เท่ากับ 17 ล้านล้านบาท อยู่ 8 เท่า
เบลารุสถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง โดยรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของเบลารุสเท่ากับ 218,000 บาท อยู่อันดับที่ 84 ของโลก เทียบกับประเทศไทยที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเท่ากับ 257,000 บาท อยู่ลำดับที่ 80 ของโลก
ถ้าเราคิดว่าประเทศไทยคือ ประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง เบลารุสก็คงไม่แตกต่างกัน
ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกของเบลารุสเท่ากับ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนกว่า 52% ของมูลค่า GDP
โดยการส่งออกทั้งหมดนั้นกว่า 44% เป็นการส่งออกไปรัสเซีย
หมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเบลารุสมากพอสมควร
นอกจากนี้ เศรษฐกิจของเบลารุสยังคงพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซียอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
รู้ไหมว่า ราคาก๊าซธรรมชาติที่เบลารุสจ่ายให้กับรัสเซียนั้น ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศในยุโรปที่นำเข้าก๊าซจากรัสเซีย พูดง่ายๆ ว่า รัสเซียให้การอุดหนุนด้านพลังงานแก่เบลารุส
เฉพาะในปี 2014 ประโยชน์ที่เบลารุสได้รับจากการอุดหนุนด้านพลังงานมีมูลค่ากว่า 204,000 ล้านบาท หรือประมาณ 8% ของ GDP ของเบลารุสเลยทีเดียว
แต่แล้วการอุดหนุนด้านพลังงานไม่สามารถดำรงได้ตลอดไป เมื่อรัสเซียก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2014
การตกต่ำของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้รัสเซียเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ
การตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจจึงทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าของรัสเซียลดลงจาก 10.1 ล้านล้านบาท ในปี 2014 เหลือเพียง 6.3 ล้านล้านบาท ในปี 2016
และแน่นอนว่ามันกระทบกับเศรษฐกิจของเบลารุสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัสเซียคือตลาดส่งออกหลักของเบลารุส
เรื่องนี้ทำให้ในช่วงระหว่างปี 2014-2016 มูลค่า GDP ของเบลารุสลดลงไปกว่า 990,000 ล้านบาท จนทำให้เศรษฐกิจของเบลารุสเคยเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี
ซึ่งเหตุการณ์นั้น ทำให้ประธานาธิบดีเบลารุสให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าสิ่งอื่นใดนับแต่นั้นมา ไม่เว้นแม้แต่การป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19
จึงทำให้ตอนนี้ มาตรการป้องกัน Covid-19 ของเบลารุสคือ เลือกที่จะไม่ทำอะไรที่ส่งผลเสียหายต่อ “เศรษฐกิจของประเทศ”
รู้ไหมว่า ในช่วงการระบาดของ Covid-19 เบลารุส ไม่ได้มีแผนปิดกั้นชายแดนระหว่างประเทศ
รัฐบาลยังอนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งยังดำเนินการตามปกติ
ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงเรียนต่างๆ ยังเปิดให้ทำการเหมือนปกติ และไม่ได้ถูกสั่งปิดเหมือนหลายประเทศ
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่หลายประเทศมีการจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เบลารุสกลับมีการขยายวีซ่าสำหรับนักเดินทางจากเดิม 30 วัน เพิ่มมาอยู่ที่ 90 วัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีมาตรการที่เป็นทางการจากผู้นำประเทศ แต่ประชาชนเบลารุสจำนวนมากก็เลือกที่จะกักตนเองในที่พักอาศัย เนื่องจากเกรงว่าจะติดเชื้อ การระบาดของ Covid-19
ซึ่งประธานาธิบดีเบลารุสถึงขนาดออกมาบอกว่า ตัวเขาเองกลัวว่าประชาชนจะตกงานและอดตาย จากผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด มากกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสเองเสียอีก
วิธีการที่ประธานาธิบดีเบลารุสเลือกใช้นั้นก็ส่งผลให้ประเทศมีผู้ติดเชื้อมากพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงกับมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่สุดท้ายแล้วจะส่งผลดีหรือร้ายกับประเทศ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า ณ เวลานี้ เบลารุส ยังเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ยังจัดการแข่งขันฟุตบอลลีก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ Covid-19 ถึงขนาดที่แฟนบอลต้องเป็นฝ่ายออกมาเรียกร้องให้สมาคมฟุตบอลของเบลารุสหยุดการแข่งขัน เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสเสียเอง..
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/longtunman/photos/a.113656345833649/794502321082378/?type=3&theater
/โดย ลงทุนแมน
https://en.wikipedia.org/