Share Facebook LINE Twitter
หน้าแรก เว็บบอร์ด Chat ตรวจหวย ควิซ คำนวณ Pageแชร์ลิ้ง
หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

สว.คำนูณโพสต์เตือนระวัง!! ‘แร้งลง’ ‘รุมทึ้ง’ ‘เชื้อชั่วไม่ยอมตาย’ - ต้องไม่เกิดขึ้นกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท !

โพสท์โดย ลูกสาวอบต

 

ท่านสว .Kamnoon Sidhisamarn  โพสต์‘แร้งลง’ ‘รุมทึ้ง’ ‘เชื้อชั่วไม่ยอมตาย’ - ต้องไม่เกิดขึ้นกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท !

_________________________

ชอบแล้วครับที่ท่านนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงเชิงปรามนักการเมืองเมื่อสองสามวันก่อน และยืนยันหนักแน่นว่าท่านไม่ต้องการให้มีการทุจริตเกิดขึ้นทุกรูปแบบ

เพราะในจำนวนยอดวงเงินเงินกู้ที่จะใช้เยียวยาวิกฤต COVID-19 และพ่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมครั้งนี้ 1 ล้านล้านบาท ที่กระทรวงคลังจะเริ่มทยอยกู้ตามพระราชกำหนดที่กำลังจะออกมาเร็ว ๆ นี้นั้น ถือว่ามากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การกู้เงินลักษณะนี้

เป็นวงเงินที่มากกว่า 'งบลงทุน' ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณแต่ละปีเลยนะครับ

งบลงทุนปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ที่ 6.55 แสนล้านบาท !

ส่วนที่ผมใช้คำว่า ‘การกู้เงินลักษณะนี้...’ ในย่อหน้าข้างบนก็เพื่อจะย้ำเตือนว่านี่ไม่ใช่การกู้เงินที่ปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณตามปกติที่มีอยู่เป็นประจำทุกปีในกรณีที่เป็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบ ‘งบประมาณขาดดุล’ การกู้เงินลักษณะนี้หากให้เรียกเต็มยศก็ต้องเรียกว่า...

“การออกกฎหมายพิเศษกู้เงินและใช้เงินกู้นั้นไปนอกกฎหมายงบประมาณรายจ่าย”

แต่แม้ว่าจะเป็นเงินกู้นอกงบประมาณ เมื่อได้มาแล้วไม่ต้องส่งเข้าบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 1 เหมือนรายรับอื่น ๆ ของรัฐ โดยให้แยกบัญชีไว้ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ มาเบิกไปใช้ตามโครงการตาม ‘วัตถุประสงค์’ ที่รัฐบาลกำหนดไว้ แต่ก็ถือว่าเป็น ‘เงินแผ่นดิน’ เช่นกันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

คงจะจำกันได้นะครับว่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจากพรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้วได้ออกกฎหมายพิเศษกู้เงินก้อนโต และกำหนดให้ใช้เงินกู้นั้นไปนอกกฎหมายงบประมาณรายจ่าย เริ่มต้นจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ออกพระราชกำหนดไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านเมื่อปี 2552 ส่วนหนึ่งเป็นความจำเป็นเพื่อปิดหีบงบประมาณปีนั้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก อีกส่วนเพื่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยได้เสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติไทยเข้มแข็งตามเข้ามาอีก 4 แสนล้าน แต่ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติถูกแก้ไขหลักการสำคัญในชั้นกรรมาธิการร่วม รัฐบาลจึงไม่ดำเนินการต่อ ต่อมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ออกพระราชกำหนดบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านในปี 2555 และเสนอร่างพระราชบัญญัติโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทในปี 2556 ทุกครั้งเกิดข้อโต้แย้งและข้อพิพาทมากมายหลายประเด็น

ประเด็นสำคัญไม่ใช่ขากู้ แต่คือ ‘ขาจ่าย’ เงินกู้นั้นออกไป คำถามคือการกำหนดให้จ่ายออกไปตาม ‘ระเบียบ’ ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น ไม่ต้องนำมาจ่ายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพราะเดิมที รัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ 2550 (มาตรา 169) ฉบับ 2540 (มาตรา 181) หรือฉบับก่อนหน้านั้น กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่าย 'เงินแผ่นดิน' ไว้ให้ต้องกระทำผ่านกฎหมาย 4 ลักษณะเท่านั้น

1. กฎหมายงบประมาณรายจ่าย
2. กฎหมายวิธีการงบประมาณ
3. กฎหมายโอนงบประมาณ
4. กฎหมายเงินคงคลัง

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนในปี 2552

ส่วนยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 เมื่อ 12 มีนาคม 2557 ว่าทำไม่ได้ การจ่ายเงินแผ่นดินจะต้องอยู่ภายใต้กรอบแห่งมาตรา 169 รัฐธรรมนูญ 2550 คือต้องจ่ายผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย

คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 น่าจะเห็นปัญหานี้ จึงบัญญัติไว้ในมาตรา 140 เพิ่มหลักการใหม่ในการจ่ายเงินแผ่นดินว่านอกจากจ่ายผ่านกฎหมาย 4 ลักษณะแล้ว ยังสามารถจ่ายตามกฎหมายลักษณะที่ 5 ได้อีกหนึ่ง

5. กฎหมายวินัยการเงินการคลัง

พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่เป็นกฎหมายสำคัญบังคับระยะเวลาไว้เหมือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ จึงได้บัญญัติมาตรา 53, 54 ให้รองรับรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ที่เปิดขึ้นใหม่ทันที

คือในมาตรา 53 กำหนดให้รัฐบาลออกกฎหมายพิเศษอนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่อาจรอกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน โดยเงินนั้นให้กระทรวงการคลังเก็บไว้เพื่อจ่ายออกไปตามโครงการเงินกู้ ไม่ต้องนำส่งคลังเพื่อเข้าบัญชีเงินคงคลัง

และในมาตรา 54 ของกฎหมายวินัยการเงินการคลังเขียนกำหนดไว้ให้จ่ายไปตาม ‘วัตถุประสงค์’ และตาม ‘ระเบียบ’ ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

สรุปว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายออกไปตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี

แม้จะเขียนเงื่อนไขของการออกกฎหมายพิเศษไว้เข้มข้นพอควรในมาตรา 53 ของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง แต่ก็มีข้อย้อนแย้งให้ต้องพิจารณาและระมัดระวังบางประการ

ประการสำคัญที่สุดคือ การให้จ่ายเงินกู้ตามกฎหมายพิเศษออกไปนอกกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ จะทำให้บทบังคับที่สร้างสภาวะขนหัวลุกให้นักการเมืองและข้าราชการประจำมากที่สุดของรัฐธรรมนูญ 2560 คือมาตรา 144 ที่มีโทษหนักถึงขั้นพ้นจากตำแหน่งและชดใช้เงินคืน ไม่ถูกนำมาใช้กับการใช้จ่ายเงินกู้ตามกฎหมายพิเศษ

เนื่องจากมาตรา 144 ใช้บังคับเฉพาะกับพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น

ไม่ได้นำมาใช้กับกฎหมายพิเศษ

พระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจึงมีผลเป็นการยกเว้นรัฐธรรมนูญหลายมาตรารวมทั้งมาตรา 144 ไปโดยปริยาย

เป็นการตัดบทบาทของ ‘รัฐสภา’ ออกไป

เพราะไม่ว่า ‘วัตถุประสงค์’ หรือ ‘ระเบียบ’ ของการใช้เงินก้อนนี้นั้นถูกกำหนดโดยรัฐบาลฝ่ายเดียว ไม่ต้องผ่านรัฐสภา ไม่ว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา รัฐสภาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้เงินตามกฎหมายกู้เงินลักษณะนี้น้อยมาก และเป็นปลายทางเท่านั้น ในกฎหมายกู้เงินลักษณะนี้ฉบับก่อน ๆ กำหนดเพียงให้รัฐบาลรายงานการใช้จ่ายเงินกู้ตามกฎหมายต่อรัฐสภาภายใน 60 วันหลังสิ้นปีงบประมาณเท่านั้น

และเท่าที่ผ่านมา ‘วัตถุประสงค์’ ก็จะเขียนไว้สั้น ๆ ชนิดนับบรรทัดได้ ไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าจะใช้เงินไปทำอะไรบ้าง

เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทนี้ได้รับการกำหนดแยกชัดเจนไปเลยว่าจะลงไป 'ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม' ในระดับ 'พื้นที่' ในชุมชนทั่วประเทศโดยตรง 4 แสนล้านบาท ส่วนอีก 6 แสนล้านบาทนั้นไว้เยียวยาผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจและจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข

น่าจับตาทั้ง 2 ส่วนแหละครับ

โดยหลักคือจะทำอย่างไรให้ถึงชาวบ้านในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จริงสามารถต่อยอดได้ และในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ จะไม่มีการชักเปอร์เซ็นต์

เบื้องต้นจะต้องไม่ใช่แค่งบประมาณเพื่อหาเสียงหาคะแนนนิยมให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองในทางปฏิบัติที่เป็นจริงเขาห่วงกัน ต่อมาต้องไม่เป็นการใช้อย่างเบี้ยหัวแตก หรือใช้เหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไป แบบว่าใช้หมดแล้วหมดไปไม่เหลือไว้เป็นฐานโครงสร้างให้ต่อยอด หรือไม่ก็ใช้ในโครงการแบบคุณพ่อรู้ดีที่หน่วยราชการกำหนดให้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้ชุมชนทำ และสุดท้ายต้องไม่มีการชักเปอร์เซนต์ไม่ว่ารูปแบบใดในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข

พูดง่าย ๆ ต้องอย่าให้มีการโกง หรือแม้แต่การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม

ดูท่าทีท่านนายกรัฐมนตรีในการแถลงข่าว และคำสั่งแต่งตั้งกรรมการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว เชื่อว่าท่านใช้ความระมัดระวังสูงสุดและสร้างทำนบป้องกันไว้มากพอสมควร

อยากจะบอกว่าตรงนี้ตัวช่วยสำคัญคือ ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี’ ว่าด้วยการใช้เงินกู้ก้อนนี้ทั้งก้อน 1 ล้านล้านบาท

ระเบียบฯนี้ในกฎหมายกู้เงินลักษณะนี้ที่ผ่านมาไม่ได้บัญญัติอยู่ในตัวพระราชกำหนด แม้โดยปกติบางรัฐบาลอาจจะแนบระเบียบฯมาให้รัฐสภาพิจารณาเป็นเอกสารประกอบในวาระพิจารณาพระราชกำหนดที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่สมาชิกรัฐสภาก็คงได้แค่ตั้งข้อสังเกตให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไขเท่านั้น

ในเบื้องต้นนี้จึงอยากให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนี้เข้มข้น

อย่างต่ำ ๆ ต้องไม่แพ้เกณฑ์การใช้เงินในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีครับ

ถ้าเป็นไปได้ ควรพิจารณานำกฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 144 มาประยุกต์บรรจุไว้ทั้งหมด หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจตรวจสอบของสมาชิกสภาทั้งสอง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ

อย่าลืมนะครับ แม้จะเป็นเงินกู้ที่ใช้ไปได้นอกกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเพดานเงินกู้ของประเทศเราก็ยังเหลืออีกพอสมควร แต่ทุกบาททุกสตางค์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยต้องชำระคืนเวลาชำระคืนก็ทยอยตั้งยอดชำระคืนไว้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละปีที่มาจากภาษีอากรของพวกเราทุกคนนั่นแหละ ซึ่งก็จะมีผลทำให้เงินในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีแต่ละปีน้อยลงไปเพราะต้องแบ่งไปชำระหนี้

‘แร้งลง’ ‘รุมทึ้ง’ ‘เชื้อชั่วไม่ยอมตาย’ - ต้องไม่เกิดขึ้นกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท !

คำนูณ สิทธิสมาน

สมาชิกวุฒิสภา
17 เมษายน 2563

โพสท์โดย: GOVID
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/kamnoon/posts/2900453416665260
Kamnoon Sidhisamarn
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
ลูกสาวอบต's profile


โพสท์โดย: ลูกสาวอบต
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
5 VOTES (5/5 จาก 1 คน)
VOTED: มยุริญ ผดผื่นคัน
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ทึ่งทั่วไทย : คูเมืองเชียงใหม่ หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเมืองเชียงใหม่รอยแยก "ลานหินแตก" ผาแต้ม – มหัศจรรย์ธรรมชาติแห่งอุบลราชธานีดาราดังเน็ตฟลิกซ์ "วิททอริโอ ปิร์บาซารี" เสียชีวิตแล้ว!!ใจป๋าสุดๆ! "รถถัง" หอบเงินสดเป็นฟ่อน มอบให้ครอบครัวแบบจัดเต็มงูไทปันโพ้นทะเล! “งูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก!”กาดเจ๊าเมืองหละปูน : ตลาดสดยามเช้าเมื่อ 50 ปีก่อนเจดีย์มหามุนี มัณฑะเลย์: ปริศนาปลาตๅยรอบสระน้ำ หลังเหตุแผ่นดินไหวเกิดอะไรขึ้น? ครูไพบูลย์ ไลฟ์เครียด ประกาศขายบ้าน-ที่ดินด่วน!รถพุ่มพวงไทยดังไกล ฝรั่งดูแล้วตะลึง นี่มันวิถีชีวิตที่โลกต้องการเจดีย์โบราณในอังวะ เมียนมา ได้รับความเสียหายหนักจากเหตุภัยพิบัติคนไทยชอบเสwข่าวดราม่าจริงไหม แล้วเพราะอะไรของเล่นเด็กไทยยุค 90 ที่กำลังจะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา…มีอะไรบ้าง วันนี้ดิฉันจะมาเล่าให้ฟัง
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ใจป๋าสุดๆ! "รถถัง" หอบเงินสดเป็นฟ่อน มอบให้ครอบครัวแบบจัดเต็มงูไทปันโพ้นทะเล! “งูที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก!”เจดีย์โบราณในอังวะ เมียนมา ได้รับความเสียหายหนักจากเหตุภัยพิบัติพม่าเผชิญโศกนาฏกรรม! แผ่นดินไหวใหญ่คร่าชีวิตหลายพัน สูญหายอีกร้อย สถานการณ์วิกฤติคนไทยชอบเสwข่าวดราม่าจริงไหม แล้วเพราะอะไร
กระทู้อื่นๆในบอร์ด การเมืองและข่าวสาร
“พะนาทย์ ตามประทีป” ผงาดนั่ง“ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ” วุฒิสภา เดินหน้าสางปัญหาข้าวครบวงจรเพื่อประชาชน“ดร.ตุ๋ม” พะนาทย์ ตามประทีป ประกาศตั้งกลุ่มการเมือง “พลังไทย” พร้อมเดินหน้าอุดมการณ์ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”“เดชา นุตาลัย จับมือ “เคน“พิศณุพงศ์ ส่งร่วมเปิดงานบุญคูณลานกุ้มข้าวใหญ่ ปี2568 ส่งกำลังใจสู่เกษตรกรขอนแก่น”“เคน” พิศณุพงศ์ ข้ามฟากนั่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.บริหารราชการแผ่นดิน ส.ว.
ตั้งกระทู้ใหม่
หน้าแรกเว็บบอร์ดหาเพื่อนChatหาเพื่อน Lineหาเพื่อน SkypePic PostตรวจหวยควิซคำนวณPageแชร์ลิ้ง
Postjung
เงื่อนไขการให้บริการ ติดต่อเว็บไซต์ แจ้งปัญหาการใช้งาน แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม ข่าวประชาสัมพันธ์ ลงโฆษณา
เว็บไซต์นี้ใช้ Cookie
เพื่อประสบการณ์ที่ดีและการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดูข้อมูลเพิ่มเติม อ่านนโยบายการใช้งาน
ตกลง