ชีวิตนี้..ไม่น่าอาย
ชีวิตนี้ไม่น่าอาย!
(บันทึก ณ วันซึ่งไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา)
...............................
แม่บอกว่า ผมเกิดที่บ้าน(กับหมอตำแย ชื่อแม่เฒ่าเจียม)
แม่จำไม่ได้ว่า วันที่เท่าไหร่ แต่พฤหัสแน่นอน เพราะลูกแม่ 4 คน เกิดวันพุธ 2 คน พฤหัส 2 คน(ในสูจิบัตรผมแจ้งวันเกิด 10 เมษา) แต่ในปฏิทิน 100 ปี(ภรรยาผมบอกมา) ถ้ายึดวันพฤหัสต้นเดือนเมษาตามที่แม่บอก ปี 2510 ตรงกับวันที่ 6 เมษา
ปีนี้ ผม 53 ปี ไม่มีแม่มานานแล้ว ส่วนพ่อจากผมไปตั้งแต่เข้าเรียนชั้น ม.1
ที่จริงครอบครัวผม ไม่น่าจะลำบากมาก แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ปี 2523 - 2524 หลังพ่อเสียชีวิตไม่นาน รายได้หลักของครองครัวคือ อาชีพของแม่ “ทำแร่” ที่เขาศูนย์ (ช่วงปิดเทอมผมชอบขึ้นไปอยู่กับแม่) ก็พังทลาย เมื่อรัฐสั่งปิด แม่กลับมาอยู่ที่บ้าน ปลูกผักขาย, หาผักในทุ่งนา หนองน้ำไปขายที่ตลาดคลองจันดี, ทำขนมจีบหาบไปขายในหมู่บ้าน ขายขนมหวานบ้าง ขายข้าวหลาม ฯลฯ รวมถึงทำนา(แบ่งข้าวกับเจ้าของที่นา) ซึ่งในวัยเด็กทั้ง “ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว” ผมทำได้หมด
ส่วนใหญ่คนแถวบ้านผม จะมีที่นา และสวนยาง ส่วนที่บ้านผม มีแต่บ้านอยู่อาศัย กับไม้ผลรอบบ้าน ในพื้นที่ 300 ตารางวา
แม่เป็นคนขยัน และมีความอดทนสูงมาก ไม่เคยบ่นเรื่องงาน ไม่ท้อถอย เจ็บกาย ไม่สบายอย่างไร แม่ก็ทำงาน
“ใครสอบเข้าโรงเรียนหลวงไม่ได้ ไม่ต้องเรียนหนังสือ” ผมจำคำที่แม่พูดได้ดี เหตุผลของแม่คือ ไม่มีตังค์ส่งให้เรียน
ตอนจบ ป. 6 ผมไปสอบเข้า ม.1 ที่โรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก(ฉร.) มารู้ทีหลังว่า รุ่น 11 ที่บ้านรู้ตอนที่ต้องมีผู้ปกครองไป “มอบตัว” แม่ผมลงมาจากเขาศูนย์ไปกับผมโรงเรียน แม่ไม่ได้เรียนหนังสือ “เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก” ใช้วิธีปั้มหัวแม่มือ
ถอยกลับไปวัยประถมฯ
ผมเรียนที่ “โรงเรียนวัดมะปรางงาม” ใกล้บ้าน ทุกคนเดินไปโรงเรียน มีข้าวห่อ (ไข่ต้ม หรือปลาทู) ดีหน่อยปลากระป๋อง
หุงข้าวกันเอง ซักผ้าเอง เพราะอยู่กับพ่อ แม่ไปทำแร่ที่เขาศูนย์
ที่ผมไม่ลืมคือ “ครูอารีย์” ท่านเมตตา และเอ็นดูเด็กๆ มาก สอนป.1 ผมถนัดซ้าย ท่านตีมือไม่ให้ผมเขียนหนังสือมือซ้าย ฝึกคัดลายมือ และบอกว่า ต้องเขียนมือขวา ท่านสร้างพื้นฐานการเรียนให้ผมดีมาก เป็นคนชอบการเรียน นั่งแถวหน้า จำได้ว่า ผมได้ชื่อว่า เป็นเด็กที่เรียกเก่งตั้งแต่เล็กๆ ทำให้พ่อแม่สบายใจ
ถึงชั้น ป.4 “ครูนงคราญ” ท่านทำให้ผมรักวิชาคณิตศาสตร์ ผมทำโจทย์ได้หมด ชอบไปทำหน้าห้อง คณิตศาสตร์ ทำให้ผมสอบเข้าเรียน ม.1 เลือกเรียนแผนอังกฤษ-คณิต ซึ่งก็ทำได้ดี จนได้โควต้าเรียนต่อ ม.4
แต่เพื่อนร่วมชั้นเรียน ”ไอ้ชาย” วีรกร วชิรมน ชวนมาสอบเข้า ม. 4 “โรงเรียนเบญจมราชูทิศ(บม.รุ่น 86) ผมถามครูประจำชั้นว่า ที่ไอ้ชายชวน โรงเรียนนั้นเป็นอย่างไร ถ้าไปแล้วสอบไม่ได้ จะเสียสิทธิ์ที่นี่หรือไม่ “ไปเถอะลูก ที่โน่นดีกว่า สอบไม่ได้ก็กลับมาที่นี่ได้ ไม่เสียสิทธิ์”
ผมจึงบอกกแม่ว่า จะไปสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนจังหวัด แม่เป็นห่วงว่า จะลำบาก จะไปอยู่กับใคร เราไม่มีญาติ และแม่ก็ไม่มีตังค์ด้วย แต่ผมบอกแม่ว่า ไม่เป็นไร ผมไปกับเพื่อน ค่อยหาหอพักอยู่
ผมเลือกสอบเข้าแผน “อังกฤษ-คณิต” เช่นเดิม เพราะชอบคณิตศาสตร์ เพื่อนๆ เลือกวิทย์-คณิต เราไม่รู้ว่ามันต่างกันอย่างไร เรียนไปแล้วจะเรียนต่ออะไร ไม่มีใครแนะนำ ไม่ได้ถามใคร
ย้อนกลับมา ขณะ ม.1 วันนั้น เรียนลูกเสือ ผมจำไม่ได้ว่า ใครมาบอกที่โรงเรียนว่า “พ่อตาน” ครูประจำชั้น”ครูสุนทร แก้วศรีอ่อน” จึงให้กลับบ้านก่อน และตามมาที่บ้านด้วยความเป็นห่วง หลังจากนั้น ท่านบอกว่า จะช่วย เห็นว่าที่บ้านลำบาก และกำพร้าพ่อด้วย ผมจึงไม่ต้องเสียต่าเล่าเรียน ครูบอกว่า ได้ทุน “เรียนดี ยากจน” จนจบ ม.3
เมื่อเข้าเรียน ม.4 ผมก็นำไปปรึกษาครูแนะแนว บอกเรื่องได้ทุนขณะเรียน ม.ต้น (ไม่แน่ใจว่า มีหนังสือรับรองจากโรงเรียนมาให้ด้วยหรือไม่) และทางโรงเรียนก็แจ้งหลังจากนั้นว่า ผมจะได้ทุน “เรียนดี ยากจน” เทอมละ 1,000 บาท(ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งผมบอกแม่ว่า ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เหมือนต้นม.ต้น ทำให้แม่ดีใจมาก
ผมจำได้ดีว่า ระหว่างเรียนม.1 -3 ช่วงพักเที่ยง ขณะที่เพื่อนๆ ไปกินข้าวกัน แล้วชวนผม บ่อยครั้ง เรียกว่าอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 - 4 วัน ผมจะบอกว่า “ยังไม่เนือย” หลังจากนั้น พอเพื่อนกินเสร็จ ทะยอยเดินกลับจากโรงอาหาร ผมก็เดินสวนทางเข้าไป “เต้าส่วน” คืออาหารหลักมื้อเที่ยงของผม ผมจำไม่ได้ว่า ถ้วยละเท่าไหร่ แต่มันก็ทำให้ผมรอดมาได้ และผมยังชอบมาจนถึงทุกวันนี้
ช่วงเรียนที่เบญจมฯ ผมอยู่ “หอยายจันทร์” เยื้องหน้าโรงเรียน ได้เงินจากบ้านประมาณอาทิตย์ละ 100~200 บาท หุงข้าวกินกับพี่ๆ เพื่อนๆ มีช่วงหนึ่งที่เราชวนกันเล่นการพนัน (ดัมมี่) บางครั้งเล่นกันตั้งแต่เย็นวันศุกร์ ถึงวันอาทิตย์ แพ้หมดตั้ง หุงข้าว แกงให้เพื่อนกิน ไปหา “ผักบุ้ง” มาแกงส้มกับปลาทู
การพนันที่ผมรู้จักมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ทำให้ชีวิตใครดีขึ้น เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ที่หอพักเพื่อนๆ ชวนเล่น ผมจึงไม่ยุ่งด้วย เพราะมีบทเรียนสมัยมัธยม ผละผมกลัวเรียนไม่จบ อีกทั้ง ผมก็สนุกการทำกิจกรรมด้วย
ระหว่างเรียนที่ เบญจมฯ ครูประจำชั้นที่ผมไม่ลืมคือ “ครูเจริญ มีชัย”ง
ท่านสอบวิชาภาษาอังกฤษ ชอบคุยเรื่องการเมืองให้ฟัง ท่านเมตตาให้ผม “หุงข้าว” กินข้าวเที่ยงกับท่าน ท่านเอาแถงมาจากบ้าน “แกงไตปลา” ที่ท่านบอกว่าทำเองอร่อยมาก กินเสร็จผมมีหน้าที่ล้างและเก็บให้เรียบร้อย อีกทั้ง วันเสาร์-อาทิตย์ ท่านขับรถสองแถวเป็นรายได้เสริม บ่อยครั้งที่ท่านชวนผมไปเป็นเด็กท้ายรถ และให้เงินผมจ่ายด้วย
ขณะเรียนเบญจมฯ ผมยังมีรายได้พิเศษจากการใส่ชุดลูกเสือไปเฝ้าประตู
“งานเดือนสืบ” ที่สนามหน้าเมืองด้วย และผมก็สมัครไปทุกๆ ปี
ก่อนจบ ม. 6 รุ่นพี่ ม.อ. จังหวัดนครศรีธรรมราช มาจัดสอบ Pre-Ent ผมก็สมัครสอบด้วย และได้เกียรติบัตรคะแนนสูงสุด วิชาคณิตศาสตร์ กข(สายศิลป์) รวมถึงวิชาสังคมศึกษา และคะแนนรวมสูงสุดสายศิลป์คำนวณ และนั่น น่าจะเป็นส่วนสำคัญให้ผมสอบ “ Ent ตรง” เข้าเรียนที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ได้ และจำได้มา ห้อง 6|6 รอบแรกผมสอบติดคนเดียว โดยออกจากห้องสอบผมมั่นใจว่า วิชาคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ ผมทำได้เกือบหมด
ก่อนสอบ. Ent ตรง ผมถามอาจารย์แนะแนวว่า “ผมอยากเป็นพัฒนากรหรือปลัดอำเภอ ควรเรียนต่อทางไหน” ครูบอกว่าให้เรียนรัฐประศาสนศาสตร์(รปศ.) ที่ม.อ. ผมไม่รู้อะไรมาก ก็เลือกตามที่ครูแนะนำ ซึ่งก็สอบได้
ที่อยากเป็นพัฒนากรนั้น ผมมีแรงบันดาลใจจากหนังสือ “ปุลากง” ที่อ่านแล้ว รู้สึกอย่างเป็นแบบนั้น อยากทำงานช่วยเหลือชาวบ้านที่ลำบาก
จำได้ว่า จากการที่ครูบอกให้เราต้องอ่านหนังสือนอกเวลาเทอมละ 2 เล่ม และเคยอ่านนวนิยายต่างๆ (หนังสือบางกอก) ทำให้ “บัตรห้องสมุด” ผมเต็มไปด้วยการยืมหนังสือนวนิยาย และหนังสือแปลต่างๆ มากกว่า ตำราเรียนในรายวิชาปกติ เรียกได้ว่า แต่ละเล่มที่ยืมมาอ่าน วางไม่ลง ถ้าอ่านไม่จบ โดยเฉพาะนวนิยายแปล
ผมบอกแม่ด้วยความดีในว่า “สอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้แล้ว” แม่ไม่รู้จัก ม.อ. และไม่เข้าใจว่าคำว่า เรียนมหาวิทยาลัยคืออะไร ซึ่งผมเองก็เพิ่งรู้จัก ม.อ. ก็ตอนสอบ Pre Ent นั่นแหละ ก่อนหน้านั้น ผมคิดว่า จบม. 6 แล้วน่าจะไปเรียน วค. เพราะรุ่นพี่แถวบ้าน ลูกครูที่เขาเรียนหนังสือกัน ถ้าไม่เรียน วค. ก็เรียนรามฯ. ซึ่งแม่พูดว่า “ลูกเรียนให้ได้เสื้อเหมือนเขานะ” (เสื้อ ก็คือได้สวมครุย ตอนรับปริญญา เพราะที่บ้านมีผมคนเดียวที่เรียนมาถึงขั้นนี้ ส่วนพี่สาวจบ ปวช. พี่ชาย จบ ม. 3 แถวบ้าน น้องชาย จบป.6 แล้วมาบวชเรียน)
แต่แม่ก็ถามว่า “จะเอาเงินที่ไหนไปเรียน”
ผมบอกว่ร ผมจะทำงานก่อนไปเรียน สอบจบ ม.6 ผมจึงไปหางานที่ “แรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช” บอกเขาว่า ต้องการงานทำก่อนเปิดเทอม เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่มีงานอะไรให้ทำที่นครฯ ไปทำที่สงขลาได้ไม่ ฟาร์มหมูต้องการ “คนงานเลี้ยงหมู” มีที่พักและอาหารให้ด้วย ค่าจ้างเดือนละ 1,000 บาท ผมคำนวณ 3 เดือน ได้ 3,000 บาท เพียงพอที่จะจ่ายค่าเทอมลงทะเบียนเข้าเรียน ม.อ. ได้ จึงตอบว่า “ผมไปครับ”
เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่า ให้ขึ้นรถบัสนคร-สงขลา มาลงที่แยกเกาะยอ เขียนเขียนจดหมายให้ผมถือมาหาเจ้าของฟาร์ม พร้อมแผนที่เส้นทาง ผมเอาให้กระเป๋ารถเมล์ดู นั่งรถมาถึงแยกเกาะยอ กระเป๋าก็บอกให้ลงพร้อมแนะนำให้เดินไปเรื่องๆ ทางนั้นนะ จะถึงฟาร์มหมู
ผมเดินจากแยกเกาะยอ เดินมาเรื่อยๆ ถามทางคนที่พบเจอเรื่อยๆ ว่า ฟาร์มหมูข้างวัดโคกสูงอยู่ที่ไหน เขาก็ชี้ไปข้างหน้า ผมเดินต่อไป แดดร้อน เหงื่อท่วมตัว มาถึงฟาร์มยื่นจดหมายให้ “เถ้าแก่” คนจีน ท่าทางใจดีมาก เขาอ่าสจดหมายก็เรียนคนงานรุ่นพี่(คนอีสาน) มารับผมไปเข้าที่พักของคนงาน ที่อยู่กับคอกหมูยาวๆ นอนห้องละ 2 คน พร้อมอธิบายงานที่ต้องรับผิดชอบ
“ตื่นตีสาม มาอาบน้ำหมู 20 คอกๆ ละ 20 ตัว รวม 400 ตัว”
เสร็จแล้วไปผสมอาหารให้หมู ใช้ปลาป่น, รำ, ข้าวโพด, และปลายข้าวสาร อย่างละ 1 กระสอบ( 100 กิโล) ผมยกไม่ไหว ค่อยๆ ตักแบ่ง ใส่โม่ผสมเสร็จใส่สอบป่านขนาด 20 กิโล ราวๆ. 20 กระสอบ ถ้าจำไม่ผิด ทะยอยใส่รถเข็นมาที่คอกหมูที่เรารับผิดชอบ เอาอาหารใส่ให้หมู เสร็จแล้วจะต้องเฝ้าหมู ไม่ให้กัดกัน หรือติดคอก
ภารกิจประจำวันเสร็จบ่ายสาม จึงพักได้ หกโมงคนงานทุกคนกินข้าวด้วยกัน ที่เจ้าของฟาร์มจัดให้ เสร็จแล้วให้รีบเข้านอน
ผมบอกเถ้าแก่ว่า ค่าจ้างผมขอรับครั้งเดียวตอนทีทำงานครบ 3 เดือน เพื่อจะเอามา “มอบตัว” เข้าเรียนที่ ม.อ. จำได้ว่า ค่าลงทะเบียนเข้าเรียน พร้อมค่าหอพัก ค่ารักษาพยาบาล ค่ากิจกรรม รวมกัน 2,600 กว่าบาท ผมเหลือเงิน 300 กว่าบาท
ออกจากฟาร์มหมู ตรงกับช่วงเข้าเรียนที่ม.อ. พอดี ผมจึงเปลี่ยนสถานะจาก “เด็กเลี้ยงหมู” เป็น “นักศึกษา ม.อ.” วจก. เอก รปศ. รุ่น 11 อย่างภาคภูมิใจ
เช่นเดิมครับ
มอบตัวเสร็จ ผมถามเจ้าหน้าที่ว่า ผมได้ทุน “เรียนดี ยากจน” ตั้งแต่ ม. 1 จนถึง ม.6 ที่มหาวิทยาลัยมีทุนให้ผมเรียนไม่ครับ เจ้าหน้าที่แนะนำให้ผมไปหา “พี่อมรา ศรีสัจจัง” ที่กองกิจการนักศึกษา ผมจึงไปติดต่อ กรอกแบบฟอร์ม และไม่นานก็ได้รับแจ้งว่า ผมได้ทุนเรียนเทอมละ 5,000บาท ตลอด 4 ปี
ผมบอกตัวเองว่า “ได้ทุนเรียนจนจบแล้ว แม่ไม่ต้องกังวล” ซึ่งเมื่อกลับบ้าน ผมก็บอกแม่แบบนั้น.....
ที่มา : Phuwasis Suksai