เมื่อปี 1936 ที่เมืองพิวโบล (Pueblo) รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เด็กหญิงโดโรธี เดรน (Dorothy Drain) วัย 15 ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกทำร้ายด้วยอาวุธอย่างรุนแรงจนเสียชีวิต สภาพศพนอนคว่ำหน้าอยู่บนเตียงของตนเอง ศีรษะด้านหลังแยกเปิดเพราะถูกขวานจาม ส่วนบาร์บาร่า น้องสาววัย 12 ปีของโดโรธีถูกตีด้วยของแข็งจนหมดสติ เธอรอดตายมาได้ แต่ก็อยู่ในอาการโคม่านานเป็นสัปดาห์
ชาวเมืองและตำรวจต่างตกตะลึงในความโหดเหี้ยมของผู้ก่อเหตุ ทุกคนตามล่าหาตัวฆาตกรที่ทำร้ายเด็กหญิง 2 คน และ โจ อาร์ริดี้ (Joe Arridy) คือผู้ต้องสงสัยที่ตำรวจต่างเมืองจับตัวเอาไว้ได้ในเมืองที่ห่างจากที่เกิดเหตุไป 200 ไมล์
โจในวัยราวต้น 20 ปีเป็นคนในพื้นที่เกิดเหตุฆาตกรรม เขาเป็นผู้ป่วยโรคทางจิต มีไอคิวเพียงแค่ 46 เท่านั้น แม้ว่าเขาจะถูกเด็กด้วยกันรังแกและเอาเปรียบเสมอ แต่โดยธรรมชาติก็เป็นคนนิสัยดี น่ารัก และเป็นที่ชื่นชอบในชุมชน เขาบังเอิญขึ้นรถไฟตามเพื่อนในสถานดูแลผู้ป่วยไปเที่ยวแล้วถูกทิ้งไว้ ในขณะที่เพื่อน ๆ กลับบ้านกันแล้ว โจนั่งรถไฟห่างจากบ้านไปเรื่อย ๆ จนถูกจับกุมตัวไว้ในฐานะผู้ต้องสงสัย
ด้วยความพิการและนิสัยของเขาแล้วดูเป็นไปไม่ได้เลยที่โจจะเป็นผู้ร้ายข่มขืนฆ่าเด็กหญิงอย่างโหดเหี้ยม แต่อย่างไรก็ตามหลังถูกจับกุมตัวและสอบปากคำรวมทั้งบีบบังคับข่มขู่ โจจึงรับสารภาพว่าเขาเป็นฆาตกร...
เมื่อทางเจ้าพนักงาน จอร์จ แคร์โรลล์ (George Carroll) ติดต่อไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจในเมืองพิวโบล (Pueblo) ก็พบว่าผู้กำกับ อาร์เธอร์ เกรดี้ (Arthur Grady) เองก็กำลังจะสอบสวน แฟรงก์ อากีล่าร์ (Frank Aguilar) ผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นคนงานเก่าของพ่อเด็กหญิงผู้ตาย ที่มีความแค้นจากการถูกไล่ออกจากงาน นอกจากนี้ในบ้านของนายแฟรงก์ยังพบหลักฐานมากมายที่บ่งบอกชัดว่าเขาคือฆาตกร แต่ทางนายแคร์โรลล์กลับยืนยันหนักแน่นว่า โจเป็นฆาตกร ทั้งที่ยังไม่มีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ
แม้แต่ บาร์บาร่า เด็กหญิงที่รอดชีวิตก็ชี้ตัวว่า แฟรงก์ คือฆาตกร นักจิตวิทยา 3 คนยืนยันว่าอายุสมองของโจเท่ากับเด็ก 6 ขวบเท่านั้น แต่ผู้พิพากษากลับเชื่อคำยืนยันของนายแคร์โรลล์ซึ่งภายหลังได้รับรางวัลในการจับคนร้ายเป็นเงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนโจชายผู้เพียงบังเอิญขึ้นรถไฟไปเที่ยวกับเพื่อนโดยไม่รู้เรื่องราวและหลงทางจากบ้านไปไกล กลับได้กลับบ้านพร้อมกับข้อกล่าวหาในคดีร้ายแรงที่เขาไม่ได้ก่อ...และโจ อาร์ริดี้ ถูกตัดสินประหารชีวิต
แม้ว่าสุดท้ายแล้วคนร้ายตัวจริงอย่าง แฟรงก์ อากีล่าร์ จะถูกประหารชีวิตชดใช้ความผิดที่เขาก่อไปเมื่อปี 1937 ก็ไม่ทำให้โจพ้นจากคดีนี้ เพราะทางศาลเชื่อว่าเขาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดก่อคดีกับแฟรงก์ แม้ทนายความจะพยายามช่วยให้โจไม่ถูกประหาร แต่ก็ยื้อไว้ได้แค่ 9 ครั้ง…ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก โจใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุขและรอยยิ้ม เขารู้เพียงว่า อยู่ที่นี่เขาไม่ถูกเด็กในสถานดูแลผู้ป่วยรังแก และทุกคนในคุกรักและดูแลเขาอย่างดี จนพัศดีเรียกเขาว่า "นักโทษรอประหารที่มีความสุขที่สุด"
วันที่ 6 มกราคม 1939 โจทานอาหารมื้อสุดท้ายเป็นไอศกรีม การประหารโจนั้นสร้างความสะเทือนใจให้หลายคน แม้แต่ผู้คุมในเรือนจำต่างก็รู้ดีว่า โจไม่ใช่ฆาตกร แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ รอย เบสท์ (Roy Best) หนึ่งในผู้คุมได้อ่านหมายประหารให้โจฟัง ซึ่งโจก็ไม่รู้เรื่องอะไรยังคงเล่นรถไฟของเล่นต่อไปโดยไม่รู้ถึงชะตากรรมของตน ก่อนที่เขาจะมอบรถไฟของเล่นให้นักโทษคนอื่น จนกระทั่งตอน 3 ทุ่มครึ่งของวันนั้น โจผู้มีอายุสมองเท่าเด็ก 6 ขวบถูกส่งตัวไปยังห้องรมแก๊ส อันเป็นลานประหารของเขา โจเดินเข้าไปในห้องนั้นด้วยรอยยิ้ม ยิ้มให้แม่ที่ร้องไห้แทบขาดใจ ยิ้มให้เจ้าหน้าที่ที่กระชับสายรัดมัดเขาติดเก้าอี้ ซึ่งมันอาจหมายความว่า เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองพบเจอกับอะไรอยู่ มีรายงานว่า รอย เบสท์ ซึ่งเป็นคนพาโจไปยังห้องประหารนั้นกลั้นน้ำตาไม่ไหว เขาร้องไห้ออกมาด้วยความสงสารโจ...สุดท้ายโจเสียชีวิตจากการรมแก๊สด้วยวัย 23 ปี
เรื่องราวความอยุติธรรมนี้ถูกลืมเลือนไปนานแสนนาน จนในปี 1991 โรเบิร์ต เพิสก์ (Robert Perske) ผู้เป็นนักเขียนก็พบบทกวีบทหนึ่งที่พัศดีในคุกเขียนให้โจด้วยความเศร้าโศกว่า "ชายที่คุณสังหารนั้นคือเด็กน้อยอายุ 6 ขวบ ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมเขาต้องตาย"
บทกวีดังกล่าวถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือของเพิสก์ ปี 1995 เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับโจ ในท้ายที่สุดเมื่อปี 2011 รวมแล้ว 72 ปีหลังจากที่โจถูกประหารชีวิต ผู้ว่ารัฐโคโลราโด บิลล์ ริตเตอร์ (Bill Ritter) ก็ได้ประกาศว่า โจคือผู้บริสุทธิ์
ทางการเปลี่ยนป้ายเหล็กเก่า ๆ อันเดิมบนหลุมศพ เป็นรูปโจขณะกำลังเล่นรถไฟของเล่นของเขา พร้อมข้อความว่า "ชายผู้บริสุทธิ์หลับอย่างสงบที่นี่"..