จังหวัดตาก - อ้างถึงแบบรายงานสถานที่รับรอง ผู้เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง & แชร์วิธีคิด
จากแบบรายงานดังกล่าว "อาจเป็นเพียงแผนงานหรือมาตรการเบื้องต้นที่รายงานต่อรัฐบาล" ซึ่งลงนามเอกสารไปแล้วนั้น กำหนดสถานที่ 5 จุด เป็นสถานที่รับรองบุคคลที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อเฝ้าดูอาการ 14 วัน เป็นแนวทางปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมทุกกรณี
นอกจากขอให้ท่านทบทวนแล้ว ขออนุญาตนำเสนอแนวทาง ดังนี้.-
1. เมื่อทราบว่ามีบุคคลเดินทางกลับเข้ามาในจังหวัดแล้ว ขอให้เข้าทำการตรวจเลือด ณ โรงพยาบาลประจำถิ่นอำเภอนั้นๆ ตลอดจนวัดไข้ และตรวจอาการเบื้องต้น จัดทำบันทึกประวัติแล้วเสร็จ จึงส่งตัวกลับไปยังบ้านพักพำนักอาศัยของเขาเอง
2. นำวิทยากรให้ความรู้ ต่อพี่น้องประชาชน ญาต มิตร และบ้านใกล้เรือนเคียง ถึงมาตรการการป้องกันและการควบคุมโรค 14 วัน ให้ชัดเจน เช่น ผู้เสี่ยงเป็นพาหะ จำเป็นจะต้องสวมแมสตลอดเวลา 14 วัน และไม่ออกจากบ้านของตนเอง, บุคคลในบ้านต้องสวมแมสร่วมกันเมื่อประชิดตัวผู้เสี่ยงเป็นพาหะ, ล้างมือบ่อยๆ ใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อหรือใช้แอลกอฮอล์ 75%, เพื่อนบ้านยังไม่จำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์เยี่ยมเยียมในระยะประชิดในเวลา 14 วัน เป็นต้น
3. จัดเจ้าหน้าที่ อ.ส. กำกับดูแล เฝ้าระวังพฤติกรรมไม่เหมาะสมของผู้เสี่ยงเป็นพาหะและครอบครัว 24 ชั่วโมง โดยกำหนดเวณยาม
4. จัดชุดพยาบาลเข้าตรวจสภาพที่อยู่อาศัย 2-3 ครั้ง เพื่อความสบายใจแก่บ้านใกล้เรือนเคียง
5. จัดเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อปลอบประโลมและให้กำลังใจผู้เสี่ยงเป็นพาหะและครอบครัว
6. จัดชุดปฏิบัติการพ่นฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ ดำเนินการฉีดพ่นฆ่าเชื้อหลังจาก 14 วันครบกำหนด
7. ประกาศด้วยป้ายที่ชัดเจน "ระยะเวลาควบคุมโรค" และ "ป้ายผ่านการควบคุมแล้วรับรองความปลอดภัย" โดยเจ้าหน้าที่รัฐ บริเวณ หน้าบ้านผู้ป่วย
และคำนึงเสมอว่า "บุคคลผู้ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นพาหะ ยังคงสถานภาพเป็นชาวจังหวัดตากเช่นเราท่าน การแสดงออกด้วยการผลักไส หรือรังเกียจ มิได้ช่วยให้สังคมปลอดภัยจากเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ แต่การร่วมกันหามาตรการและแนวทางป้องกันที่ถูกต้อง รับรู้ร่วมกัน อยู่ร่วมกัน อย่างเฝ้าระวัง ไม่ประมาท คือทางออกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้"
สุดท้ายขอให้กำลังใจทุกฝ่าย ทุกท่าน ก้าวพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ