คนไทยใช้ยาปฏิชีวนะ-ฉีดยาเกินจำเป็น..สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
สำหรับประเทศไทย ค่าใช้จ่ายด้านยามีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ (GDP) (ที่มีเพียงร้อยละ 5-6 ต่อปี) ทำให้มูลค่าการบริโภคยาสูงถึงร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว (ร้อยละ 10-20) โดยมีปัจจัยที่มีผลทำให้ปริมาณการใช้ยาเพิ่มสูงขึ้นประกอบด้วย การที่คนไทยเข้าถึงยามากขึ้นจากระบบหลักประกันสุขภาพ กลุ่มโรคที่ต้องการรักษาต่อเนื่องรวมทั้งโรคเอดส์ และกลุ่มประชากรสูงอายุที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี 2564 แฃะที่สำคัญที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมเกินความจำเป็นในทุกๆ ระดับ ทั้งชุมชนเมืองและชนบท รวมถึงการใช้ยาในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน การใช้ยาในองค์กรที่ไม่ได้มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการสาธารณสุข เช่น ทัณฑสถาน วัด โรงเรียน โรงงาน เป็นต้น
จากแนวโน้มการดูแลสุขภาพของคนไทยในอดีต เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย ประชาชนมักซื้อยารักษาตนเองถึงร้อยละ 60-80 แต่ปัจจุบัน พบว่า การสำรวจในปี 2558 มีการไปรักษาที่สถานพยาบาลของรัฐเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 44 และมีการซื้อยากินเองเพียงร้อยละ 17.57 ขณะเดียวกันยังพบว่าประชาชนที่มีรายได้สูงจ่ายเงินเพื่อบริโภคยาบำรุงและอาหารเสริมเพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนไปรับการรักษาพยาบาลของรัฐมากขึ้นหรือการไปรับการรักษาและซื้อยาจากแหล่งต่างๆ ได้เกิดปัญหายาเหลือใช้ที่พบในครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นยารักษาสำหรับโรคเรื้อรัง
โดยมี 6 สาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดยาเหลือใช้ ได้แก่
1. ไม่กินยาตามแพทย์สั่ง
2. หยุดกินเอง เมื่ออาการดีขึ้น
3. ปรับลดขนาดยาเอง
4. ลืมกินยา
5. รับยาจากแหล่งอื่น
6. ไม่ยอมแจ้งแพทย์ว่ามียาเหลือ
ซึ่งพบว่าครัวเรือนที่มียาปฎิชีวนะเหลือใช้ถึงร้อยละ 10 ส่วนใหญ่เป็นยารับจาก โรงพยาบาล/โรงพยาบาลส่งเสริมตำบล(รพ.สต.) มูลค่ายาเหลือใช้เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาท/คน ส่งผลให้ประเทศไทยมีการครอบครองยากินความจำเป็น นอกจากนี้ร้านชำส่วนใหญ่ พบว่า มีขายยาบรรจุเสร็จ ยาสามัญประจำบ้าน ยาปฏิชีวนะ จึงเกิดการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลของประชาชนเกิดจากการขาดความรอบรู้ ขาดข้อมูล ผลจากการโฆษณา และการส่งเสริมการขายแบบผิดกฏหมายเกินจริง