หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

1904 สงครามญี่ปุ่น–รัสเซีย

โพสท์โดย Somaster

สถานการณ์การขยายอิทธิพลมายังตะวันออกไกลของมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมจากยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียที่รุกคืบเข้ามาครอบครองแมนจูเรียลงมาถึงคาบสมุทรเลียวตุง และส่อเจตนาว่าจะขยายเขตอิทธิพลให้ ครอบคลุมคาบสมุทรเกาหลี ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งมองการคงอิทธิพลของตนไว้ในคาบสมุทรเกาหลีเป็นความอยู่รอดของชาติ ถือเอารัสเซียเป็นภัยคุกคาม จึงได้ดำเนินยุทธศาสตร์ทั้งด้านการทูตและการทหาร เพื่อสถาปนาพื้นที่กันชนบริเวณรอยต่อเขตแดนเกาหลีกับแมนจูเรีย เมื่อการทูตส่อเค้าล้มเหลวและยากที่จะหลีกเลี่ยงทางเลือกในการทำสงคราม ญี่ปุ่นก็ประเมินความพร้อมและความได้เปรียบ โดยพิจารณาปัจจัยความไม่สงบภายในของรัสเซีย เปรียบเทียบกำลังรบทางบกและทางเรือ


ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อการส่งกำลังจากพื้นที่ทางยุโรปของรัสเซียมาสมทบในยุทธบริเวณ ศักยภาพในการส่งกำลังบำรุงของรัสเซียในระหว่างที่ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียยังไม่เสร็จสมบรูณ์ และความได้เปรียบในทางยุทธวิธีความพร้อมและขวัญกำลังใจของทหารญี่ปุ่น ซึ่งประเมินภาพรวมแล้วเห็นว่าอาจยันเสมอหรือชิงความได้เปรียบได้ เล็กน้อย แต่ไม่สามารถเอาชนะเด็ดขาดต่อรัสเซียได้ จึงกำหนดเป้าหมายของการทำสงครามเพียงในระดับเพื่อให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยในเงื่อนไข หกสิบ-สี่สิบ โดยเลือกสหรัฐ ฯ เป็นผู้ไกล่เกลี่ย


ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายประกาศสงครามก่อน แล้วส่งกำลังทางบกรุกเข้าโจมตีรัสเซียที่ปอร์ตอาเธอร์และแมนจูเรีย ควบคู่กับการใช้กำลังทางเรือทำลายกองเรือแปซิฟิกของรัสเซีย ที่แยกกำลังเป็นกองเรือพื้นที่ปอร์ตอาเธอร์ และวลาดิวอสต๊อก ความสำเร็จของการรบทั้งทางบกและทางเรือที่ญี่ปุ่นสามารถยึดปอร์ตอาเธอร์และทำลายกองเรือแปซิฟิกของรัสเซียได้ จนกระทั่งยึดมุกเดนเมืองหลวงของแมนจูเรีย ขับไล่ทหารของรัสเซียออกไปได้สำเร็จ แต่ก็ยังไม่ได้ชัยชนะเด็ดขาด


จนกองเรือของญี่ปุ่นเอาชนะกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียในยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมา ซึ่งฝ่ายรัสเซียถูกทำลายเกือบหมดทั้งกองเรือนั้น จึงเป็นจังหวะที่ญี่ปุ่นและรัสเซียยอมรับให้สหรัฐฯ เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยยุติสงครามลงได้ โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้


บทเรียนจากความสำเร็จของฝ่ายญี่ปุ่นในครั้งนี้ วิเคราะห์ว่ามี ๘ ประเด็น คือ ความมุ่งมั่นและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน การกำหนดเป้าประสงค์ที่ชัดเจนและสะท้อนความเป็นจริง การเลือกพันธมิตรอย่างระมัดระวัง การเตรียมกำลังที่มีความพร้อมและเพียงพอ การให้คุณค่ากับข่าวกรอง การบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม การร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยกำลัง และการกำหนดจังหวะเวลาที่จะยุติสงคราม


บทเรียนต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์ในสภาวะแวดล้อมของไทย โดยเฉพาะในกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีลักษณะเป็นสงครามนอกแบบ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามมีเป้าหมายที่การแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเอง โดยใช้การก่อการร้าย เป็นเครื่องมือ จะเห็นว่าที่ผ่านมาฝ่ายเรายังทำข้อสอบตามบทเรียนทั้ง ๘ ได้ไม่ดีนัก แม้ยังไม่ถึงขั้นสอบตก แต่ก็มีสภาพน่าเป็นห่วง สถานการณ์ในอนาคตจะดีขึ้นหรือไม่ ประสิทธิภาพการดำเนินงานของทุกภาคส่วนตามกรอบบทเรียนจากสงครามญี่ปุ่น – รัสเซีย น่าจะเป็นสิ่งบ่งชี้ประการหนึ่งสำหรับผู้มีอำนาจตกลงใจในระดับยุทธศาสตร์และนโยบาย


การพัฒนาและเหตุนำไปสู่สงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย

นับตั้งแต่สหรัฐฯ ได้ส่งนายพลจัตวาแมทธิว เพอร์รี่ นำเรือรบมาข่มขู่ให้ญี่ปุ่นเปิดประตูประเทศเพื่อค้าขายกับตนเมื่อเดือน กรกฎาคม ค.ศ. 1853 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปี ค.ศ. 1904 เวลาผ่านไปเพียงครึ่งศตวรรษ ปรากฏว่าญี่ปุ่นสมัยต้นศตวรรษนี้มีความเข้มแข็งทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นสมัยต้นศตวรรษที่ 20 แตกต่างไปจากญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1853 โดยสิ้นเชิง ซึ่งในปีนั้น ญี่ปุ่นเพียงแต่มองเห็นเรือรบของนายพลเพอร์รี่ที่จอดอยู่นอกชายฝั่งทะเลเฉยๆ ก็หวาดผวา สหรัฐฯ บอกให้ลงนามในสนธิสัญญาเรื่องใดก็รีบทำ เพราะขณะนั้นญี่ปุ่นยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา มีโชกุนปกครองประเทศ ไม่มีกำลังรบมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับของประเทศตะวันตก

นับตั้งแต่ถูกสหรัฐฯ ข่มขู่ให้เปิดประเทศเป็นต้นมา ญี่ปุ่นเร่งรีบปรับปรุงประเทศครั้งใหญ่ ผู้นำของญี่ปุ่นมองเห็นภัยจากลัทธิล่าเมืองขึ้นของตะวันตกซึ่งกำลังขยายตัว มายังเอเชีย และมองเห็นว่า มีทางเดียวที่ญี่ปุ่นจะรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของนักเลงโตตะวันตก ญี่ปุ่นจะต้องเปลี่ยนแนวทางเก่าๆ แล้วหันมาปกครองประเทศตามแบบของตะวันตก

ขณะที่ต้องเปิดประตูประเทศเพื่อคบค้ากับต่างชาติเพราะถูกสหรัฐฯ ข่มขู่ บรรดาซามูไรกลุ่มหนึ่งไม่พอใจการ “ยอมแพ้” ของโชกุนจึงรวมตัวการต่อต้าน ระหว่างปี ค.ศ. 1867-8 เกือบเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างกลุ่มซามูไรกลุ่มต่อต้านนโยบายเปิด ประตูประเทศกับซามูไรสนับสนุนรัฐบาล แต่โยชิโนบุ ผู้ดำรงตำแหน่งชุนกุนขณะนั้น หลีกเลี่ยงการทำสงครามกลางเมืองด้วยการมอบอำนาจปกครองประเทศกลับคืนไปให้ องค์จักรพรรดิ นับตั้งแค่นั้นมา ญี่ปุ่นเริ่มต้นก้าวเข้าสู้ยุคใหม่ อำนาจของโชกุนซึ่งปกครองประเทศแทนองค์จักรพรรดิเป็นเวลายาวนานถึง 700 ปี สิ้นสุดลง โยชิโนบุกลายเป็นผู้เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสครั้งสำคัญของญี่ปุ่น
ปี ค.ศ. 1868 กลายเป็นปีเริ่มต้นศักราชใหม่ของญี่ปุ่น นักประวัติศาสตร์เรียกยุคนี้ของญี่ปุ่นว่า “ยุคฟื้นฟูเมจิ” เพราะองค์จักรพรรดิเมจิรับอำนาจการปกครองประเทศกลับคืนจากโชกุนแล้ว เร่งรีบพัฒนาประเทศจนมีความเจริญรุ่งเรือง

บรรดาผู้นำของญี่ปุ่นในยุคฟื้นฟูเมจิ คะนึงถึงนโยบายต่างประเทศอยู่มาก ถึงแม้ว่าขณะนั้น ลัทธิจักรวรรดินิยมของตะวันตกยังไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นรีบเร่งสร้างประเทศให้ทันสมัยก็ตาม แต่ผู้นำของญี่ปุ่นขณะนั้นคำนึงถึงสัญญาที่เสียเปรียบซึ่งญี่ปุ่นทำไว้กับ สหรัฐฯ เมื่อครั้งสหรัฐฯ ส่งนายพลเพอร์รี่นำเรือรบมาข่มขู่ ความเสียเปรียบของญี่ปุ่นมีอยู่หลายเรื่อง เช่นเรื่องสิทธินอกอาณาเขต เรื่องนี้ชาวตะวันตกกลับมีอำนาจเหนือญี่ปุ่นในดินแดนของญี่ปุ่นเอง นอกจากนั้น การเก็บภาษีชาวตะวันตกต้องเก็บในอัตราจำกัด ญี่ปุ่นพยายามขอแก้ความเสียเปรียบดังกล่าวหลายครั้งซึ่งกว่าจะสำเร็จต้องใช้ เวลายาวนาน

ความยากลำบากดังกล่าวของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นต้องนำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความระมัดระวัง ในขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาเศรษฐกิจและการทหารให้รุดหน้าเพื่อรักษาเอกราชและ ความมั่นคงของประเทศชาติ

ญี่ปุ่นวางนโยบายแนวป้องกันประเทศโดยวิธีเข้าไปครอบครองดินแดนรอบๆ ริมฝั่งทะเลของประเทศ เพราะญี่ปุ่นมีความเห็นว่า วิธีนี้เป็นการป้องกันประเทศของตนให้พ้นจากการรุกรานของประเทศมหาอำนาจได้ดี ที่สุด ดังนั้นในปี ค.ศ. 1875 ญี่ปุ่นจึงเข้าไปครอบครองเกาะโอกาซาวารา กันโต หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1879 ญี่ปุ่นผนวกเอาเกาะโอกินาวา มาเป็นดินแดนของตน การกระทำของญี่ปุ่นได้รับการคัดค้านจากจีน แต่ญี่ปุ่นไม่สนใจ ยิ่งไปกว่านั้นญี่ปุ่นยังอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะคูริลและแซคาลิน การอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะดังกล่าว เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย แต่ญี่ปุ่นกับรัสเซียสามารถตกลงกันได้ อย่างไรก็ดี รัสเซียและญี่ปุ่นเริ่มต้นไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน


ในปี ค.ศ. 1895 ญี่ปุ่นทำสงครามกับจีนเพราะปัญหาเกาหลี ทั้งจีนและญี่ปุ่นแข่งขันกันแย่ง ชิงความเป็นใหญ่เหนือเกาหลีเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว เพราะจีนกับญี่ปุ่นมีความเห็นว่า ใครก็ตามที่เข้ามาครอบครองเกาหลีย่อมเป็นภัยต่อประเทศของตน การแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือเกาหลีของประเทศทั้งสองนำไปสู่การเกิด สงครามจีน-ญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1895 สงครามครั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายมีชัย แต่อันตรายของญี่ปุ่นก็ยังไม่หมดไม่สิ้นไป ญี่ปุ่นมีความเห็นว่า ศัตรูสำคัญบนผืนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียที่น่ากลัวกว่าจีนคือรัสเซีย เมื่อรัสเซียขยายอิทธิพลมาทางด้านเอเชียมากขึ้น ถึงปี ค.ศ. 1898 เมื่อรัสเซียเช่าปอร์ต อาเธอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรเลียวตุง ญี่ปุ่นรู้ทันทีว่าอันตรายจากรัสเซียมีมากขึ้น ญี่ปุ่นต้องรีบทำความตกลงกับรัสเซีย และหาทางออกในรูปของการอยู่ร่วมกันในตะวันออก ขณะเดียวกันญี่ปุ่นเตรียมตัวทำสงครามกับรัสเซีย

ปีค.ศ. 1904 การแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่โตในตะวันออกไกลระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียถึง จุดวิกฤต ญี่ปุ่นมีความเห็นว่า การเจรจาต่อไปกับรัสเซียเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ จึงส่งกองทัพโจมตีปอร์ต อาเธอร์ เป็นการจุดชนวนสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย ปี ค.ศ. 1904-5 อันเป็นสงครามยาวนาน 1 ปี 6 เดือน

ฉากแรกของสงคราม ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายขับไล่ของพระเจ้าซาร์ แห่งรัสเซียออกไปจากเกาหลี หลังจากนั้นญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีไว้ ต่อมาญี่ปุ่นมีชัยครั้งใหญ่ในการรบกับกองทหารรัสเซียที่มุกแดนในแมนจุเรีย การรบที่สมรภูมิแห่งนี้ญี่ปุ่นใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวในการเผด็จศึก แต่ชัยชนะครั้งสำคัญซึ่งญี่ปุ่นชนะรัสเซียโดยเด็ดขาด คือ ยุทธการแห่งซูชิมา ยุทธการครั้งนี้เป็นการรบกลางท้องทะเลครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติ ศาสตร์การรบทางทะเล

————————————————–

สถานการณ์และลำดับเหตุการณ์ก่อนเกิดสงคราม

 

นับจากปี ค.ศ.๑๖๓๙ เป็นเวลากว่าสองร้อยปีที่ญี่ปุ่นปิดประเทศไม่คบค้ามหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายยกเว้น เนเธอร์แลนด์ จนกระทั่งกองเรือของสหรัฐฯ ภายใต้บัญชาการของ พลเรือจัตวา แมทธิว ซี.เพอรี (Matthew C.Perry) บุกเข้ามาเยือนญี่ปุ่นใน ค.ศ.๑๘๕๓ ทำให้ญี่ปุ่นต้องจำยอมเปิดประเทศต้อนรับสหรัฐฯ อังกฤษ และรัสเซีย ในปี ค.ศ.๑๘๕๔ และผูกมิตรกับฝรั่งเศสในปีต่อมา ในบรรดามหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายเหล่านี้อังกฤษ และรัสเซีย นับว่าเป็นชาติที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่นมากที่สุด ผู้นำญี่ปุ่นในยุคนั้นมีความเชื่อว่าอังกฤษมีเจตจำนงที่จะผนวกญี่ปุ่นไว้ในเขตอิทธิพล ในขณะเดียวกันก็เฝ้ามองการดำเนินนโยบายในตะวันออกไกลของรัสเซียด้วยความไม่พอใจ

ผลจากความพ่ายแพ้ต่ออังกฤษและฝรั่งเศสในสงครามไครเมีย (Crimean War) ในปี ค.ศ.๑๘๕๖ และสนธิสัญญาเบอร์ลินกับจักรวรรดิปรัสเซียในปี ค.ศ.๑๘๗๘ ทำให้รัสเซียหยุดการขยายอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่าน ส่งผลให้รัสเซียเปลี่ยนทิศทางการเร่งขยายอิทธิพลมายังตะวันออกไกล โดยมุ่งเป้าหมายที่พื้นที่ชายฝั่งทะเลญี่ปุ่นและคาบสมุทรเกาหลี การสถาปนาพื้นที่ไซบีเรียตะวันออกในปี ค.ศ.๑๘๔๗ การครอบครองเมืองท่าวลาดิวอสต๊อก (Vladivostok) ในปี ค.ศ.๑๘๖๐ การขยับศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่รัสเซียตะวันออกไกลมาที่เมืองคาบารอฟส์ (Khabarovsk) ในปี ค.ศ.๑๘๙๑ และการเพิ่มเติมกำลังในกองเรือเอเซียตะวันออก พัฒนาการเหล่านี้สร้างความกังวลอย่างยิ่งในหมู่ผู้นำของญี่ปุ่น ด้วยมองว่าการขยายอิทธิพลลงมาทางใต้เช่นนี้เป็นการคุกคามญี่ปุ่นโดยตรง

จากความรู้สึกที่รุนแรงว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม ญี่ปุ่นจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขตกันชนระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย โดยเล็งไปที่คาบสมุทรเกาหลีและแมนจูเรียตอนใต้ ซึ่งจะต้องพยายามป้องกันไม่ให้รัสเซียเข้าไปครอบครอง ช่วงต้นทศวรรษ ๑๘๙๐ ญี่ปุ่นประเมินว่ารัสเซียยังไม่พร้อมที่จะยึดครองพื้นที่ดังกล่าว จนกว่าเส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียจะแล้วเสร็จในอีกกว่า ๑๐ ปีข้างหน้า ในขณะที่จีนมีขีดความสามารถที่จะยึดครองเกาหลีได้ ในปี ค.ศ.๑๘๙๔ – ๑๘๙๕ ญี่ปุ่นจึงทำสงครามกับจีนเพื่อป้องกันการขยายอำนาจของจีนเข้าไปในคาบสมุทรเกาหลี พื้นที่กันชนตามแนวคิดยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น ผลของสงครามที่ชัยชนะเป็นของญี่ปุ่นทำให้เกาหลีตกเป็นดินแดนภายใต้ความคุ้มครองของญี่ปุ่น รวมทั้งจีนยังต้องยกเกาะไต้หวัน แมนจูเรียตะวันออก และคาบสมุทรเลียวตุงให้แก่ญี่ปุ่นด้วย

การยึดครองเลียวตุง สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งแก่รัสเซีย ด้วยจะเป็นอุปสรรคในการขยายอิทธิพลของรัสเซีย จึงร่วมมือกับฝรั่งเศสและเยอรมันบีบบังคับให้ญี่ปุ่นถอนตัวจากเลียวตุง ญี่ปุ่นต้องจำยอมในที่สุด เพราะประเมินว่ายังไม่เข้มแข็งพอที่จะต่อกรกับมหาอำนาจทั้ง ๓ พร้อมกันได้ แต่ก็ได้ฝังลึกความเคียดแค้นต่อรัสเซียผู้จุดชนวนในครั้งนี้เพิ่มขึ้นอีก และก็นับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นได้สัมผัสกับความเป็นจริงของเกมอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ชาติอ่อนแอจะตกเป็นเหยื่อของชาติที่เข้มแข็งกว่า
ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นได้เร่งเสริมสร้างกำลังอำนาจทางทหารเป็นการใหญ่ โดยขยายกำลังกองทัพบกจาก ๗ กองพล เป็น ๑๓ กองพล และสั่งต่อเรือใหม่ถึง ๑๐๔ ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือประจัญบาน ๔ ลำ และเรือลาดตระเวนหนัก ๑๑ ลำ โดยส่วนใหญ่จะสั่งต่อจากอังกฤษและสหรัฐฯ และกำหนดส่งมอบระหว่างปี ค.ศ.๑๘๙๖ – ๑๙๐๕

 

 

เมื่อญี่ปุ่นถอนตัวจากเลียวตุง มหาอำนาจตะวันตกทั้ง ๓ ก็เข้าไปแสวงประโยชน์แทน โดยรัสเซียได้รับสิทธิสร้างทางรถไฟผ่านแมนจูเรียในปี ค.ศ.๑๘๙๖ เยอรมันส่งกำลังเข้าไปครอบครองซิงเตาในปี ค.ศ.๑๘๙๗ และบังคับให้จีนยอมทำสัญญาให้เยอรมันเช่า ในปี ค.ศ.๑๘๙๘ รัสเซียจึงส่งกำลังไปบีบบังคับขอเช่าเมืองท่าปอร์ตอาเธอร์ที่ปลายแหลมเลียวตุง และต่อทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียไปถึงเมืองท่าดังกล่าว ในปีเดียวกันอังกฤษก็ได้รับสิทธิเช่าเมืองเวยไฮเวย (Weihaiwei) ในคาบสมุทรชานตุง และปีต่อมาฝรั่งเศสก็ได้สิทธิการเช่าเมืองกวางโจว

การเข้าไปตักตวงผลประโยชน์บนดินแดนของจีน ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากชาวจีนผู้รักชาติ จนเกิดกบฎนักมวย (Boxer Rebellion) ในปี ค.ศ.๑๙๐๐ จนมหาอำนาจทั้งหลายรวมถึงอังกฤษ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่งกำลังเข้าไปช่วยรักษาความสงบในปักกิ่ง จนเหตุการณ์สงบลง แต่รัสเซียกลับไม่ยอมถอนทหารออกจากแมนจูเรีย แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่าจะยึดครองแมนจูเรีย พร้อมทั้งยังเสนอให้ญี่ปุ่นยินยอมให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นดินแดนที่เป็นกลาง ญี่ปุ่นปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะมองว่าจะเป็นการยอมรับการครอบครองแมนจูเรียของรัสเซียไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตามรัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่าไม่สามารถขับไล่กำลังของรัสเซียออกจากแมนจูเรียได้ จึงมีแนวคิดที่จะยับยั้งไม่ให้รัสเซียรุกคืบเข้ามาในคาบสมุทรเกาหลีด้วยวิธีการทางการทูต แต่การเจรจาต่อรองกับรัสเซียไม่ประสบผลสำเร็จ ในปี ค.ศ.๑๙๐๒ ญี่ปุ่นจึงหันไปผูกมิตรกับอังกฤษที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับการขยายอิทธิพลของรัสเซียใน เอเซียตะวันออก และเร่งขยายขีดความสามารถทางทหาร โดยเฉพาะการเสริมสร้างกำลังทางเรือประเภทเรือรบหลักตามเป้าหมาย “กองเรือ ๖ – ๖“ (เรือประจัญบาน ๖ ลำ เรือลาดตระเวนหนัก ๖ ลำ) เพราะมองว่ารัสเซียกำลังเป็นภัยคุกคามที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๐๔ รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะทำสงครามกับรัสเซีย หลังจากการเจรจาต่อรองทางการทูตไม่คืบหน้าและมีแนวโน้มว่าหากทิ้งช่วงเวลาเนิ่นนานต่อไปอีก ความพร้อมทางทหารของรัสเซียที่แมนจูเรียและปอร์ตอาเธอร์จะยิ่งสร้างความยากลำบากให้แก่กำลังทหารของญี่ปุ่นหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๐๔ จึงตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย และประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๐๔…

 

การประเมินยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น

 

ญี่ปุ่นประเมินองค์ประกอบหลัก ๕ ประการ ก่อนตัดสินใจที่จะทำสงครามกับรัสเซีย

แม้จะประเมินว่ามีความได้เปรียบต่าง ๆ ดังกล่าว ฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ยังเห็นพ้องกันว่า คงไม่สามารถเอาชนะรัสเซียเด็ดขาดได้ เพียงแต่อาจสามารถยันเสมอหรือบรรลุความได้เปรียบเล็กน้อย จึงกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ให้มีการไกล่เกลี่ยในเงื่อนไข หกสิบ-สี่สิบ (sixty – forty reconciliation) เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ต่อเมื่อกองทัพญี่ปุ่นมีความได้เปรียบเหนือกว่ากองทัพรัสเซียในแมนจูเรีย ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากเพราะกำลังสำรอง รวมทั้งอาวุธและกระสุนมีจำกัด

แต่ญี่ปุ่นก็เชื่อว่าไม่เกินขีดความสามารถ เพราะความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์และความมีวินัยและมุ่งมั่นของทหารญี่ปุ่น ประการต่อมา กองเรือของญี่ปุ่นจะต้องทำลายกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของรัสเซีย ก่อนที่กำลังทางเรือของรัสเซียจากยุโรปจะเดินทางมาถึงพื้นที่ ประเด็นนี้ก็อยู่ในวิสัยที่จักรพรรดินาวีญี่ปุ่นจะกระทำได้ ประการที่สามญี่ปุ่นจะต้องมีแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการทำสงครามได้อย่างเพียงพอ

การเป็นมิตรกับอังกฤษ ทำให้ญี่ปุ่นได้เครดิตจากหลายประเทศและผู้นำทางภาคเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็สนับสนุนการทำสงครามอย่างเต็มที่ จึงไม่น่าจะเป็นปัญหา และประการสุดท้ายญี่ปุ่นจะต้องได้รับความร่วมมือจากสหรัฐฯ ในการเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ญี่ปุ่นจึงส่งทูตพิเศษเป็นการเฉพาะไปเจรจาโน้มน้าวประธานาธิบดีสหรัฐฯและประชาคมสหรัฐฯ ให้สนับสนุนญี่ปุ่นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากการประเมินเงื่อนไขและความเป็นไปได้ที่จะบรรลุตามเงื่อนไขต่างๆข้างต้น ญี่ปุ่นจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการทำสงครามกับรัสเซียเป็น “การไกล่เกลี่ยในเงื่อนไข หกสิบ-สี่สิบ”

 

ยุทธการและการรบที่สำคัญ

 

ญี่ปุ่นได้วางแผนการรบร่วมโดยกำหนดบทบาทของกำลังทางบกและกำลังทางเรืออย่างชัดเจน ส่วนแรกการปฏิบัติการทางบก แบ่งการรบเป็น ๒ ระยะ เริ่มจากการส่งกำลัง กองทัพที่ ๑ ขึ้นบก ที่อินชอนในคาบสมุทรเกาหลี แล้วเคลื่อนทัพไปยังแมนจูเรีย จากนั้นส่งกองทัพที่ ๒ และ ๓ ขึ้นบก ที่ชายฝั่งตอนใต้ของคาบสมุทรเลียวตุง โดยกองทัพที่ ๒ เคลื่อนทัพไปที่แมนจูเรีย ประสานการรบกับกองทัพที่ ๑ ส่วนกองทัพที่ ๓ จะควบคุมพื้นที่คาบสมุทรเลียวตุงและเข้ายึดปอร์ตอาเธอร์ พร้อมกันนี้ก็จะส่งกองทัพที่ ๔ ขึ้นบกที่ชายฝั่งทางตะวันอกเฉียงเหนือของอ่าวโปไห่ (Po-Hai) มุ่งหน้าไปยังเลี่ยวหยาง (Liaoyang) และประสานการรบกับกองทัพที่ ๒ (ดูแผนที่ประกอบ) ในการนี้ได้กำหนดให้กองทัพทั้งหมดพักทัพทางตอนเหนือของเลี่ยวหยางในช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ.๑๙๐๔ – ๑๙๐๕ จากนั้นจะเริ่มปฏิบัติการระยะที่ ๒ ในต้นฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.๑๙๐๕ จนสิ้นสุดสงคราม โดยทั้ง ๔ กองทัพจะรวมกำลังกันเข้าทำการยุทธ์กับกำลังหลักของรัสเซียในแมนจูเรียในขั้นสุดท้าย


แผนที่แสดงแผนการทัพของกำลังทางบกของญี่ปุ่น

 

สำหรับการปฏิบัติการทางเรือ กองทัพเรือได้รับมอบให้ปฏิบัติ ๒ ภารกิจ คือ การทำลายกองเรือแปซิฟิกของรัสเซียที่ประกอบด้วยกองเรือที่ปอร์ตอาเธอร์กับวลาดิวอสต๊อก และควบคุมทะเลโดยรอบญี่ปุ่น กับภารกิจที่สอง คือ สนับสนุนการยกพลขึ้นบกของกำลังทางบกบนคาบสมุทรเกาหลีและเลียวตุง จึงแบ่งกำลังทางเรือเป็น ๓ ส่วน คือ กองเรือที่ ๑ ประกอบด้วย ๖ เรือประจัญบาน กับ ๑ เรือลาดตระเวนเบา มอบกิจให้จัดการกับกองเรือรัสเซียในพื้นที่ปอร์ตอาเธอร์ กองเรือที่ ๒ ประกอบด้วย ๖ เรือลาดตระเวนหนักและเรือลาดตระเวนคุ้มกันจำนวนหนึ่ง จัดการกับกำลังทางเรือรัสเซียในพื้นที่วลาดิวอสต๊อก และกองเรือที่ ๓ ประกอบด้วยเรือลาดตระเวนเบาและเรือป้องกันชายฝั่ง มีหน้าที่คุ้มครองเส้นทางเดินเรือของญี่ปุ่นและสนับสนุนการยกพลขึ้นบกของกองกำลังทางบก

……

การยุทธ์ที่ปอร์ตอาเธอร์

 

ญี่ปุ่นเลือกปอร์ตอาเธอร์เป็นเป้าหมายแรกของสงคราม โดยประเมินว่าจำเป็นต้องทำลายกองเรือรัสเซียที่ปอร์ตอาเธอร์ให้สิ้นซาก ก่อนที่กำลังทางเรือจากทะเลบอลติกของรัสเซียภายใต้บัญชาการของพลเรือเอกโรซเดสท์เวนสกี (Petrovich Rozhdestvenski) จะเดินทางมาสมทบ ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะส่งผลต่อการรบทางบกอย่างใหญ่หลวง ทั้งยังเป็นเครื่องประกันความปลอดภัยของเส้นทางขนส่งลำเลียงทางทะเลที่จะช่วยในการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงแก่กำลังทางบกของญี่ปุ่นในแมนจูเรียด้วย
ในห้วง ๓ เดือนแรก กองเรือของญี่ปุ่นภายใต้การบัญชาการของ พลเรือเอก โตโง (Togo) ใช้ทั้งการส่งเรือพิฆาตลอบเข้าโจมตีด้วยตอร์ปิโดในเวลากลางคืน การปิดล้อมท่าเรือด้วยเรือจมและทุ่นระเบิด และการใช้เรือระดมยิงนอกระยะปืนใหญ่บนฝั่งของปอร์ตอาเธอร์ เพื่อดึงให้เรือรบรัสเซียออกมาทำยุทธนาวีนอกท่าเรือ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังสูญเสียกำลังบางส่วนอีกด้วย
ขณะที่กำลังทางบกจากกองทัพที่ ๓ ภายใต้การนำของนายพล โนจิ (Maresuke Nogi) เริ่มรุกเข้าสู่แนวป้องกันของรัสเซียที่ปอร์ตอาเธอร์ ใน ๒๖ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๐๔ และรุกคืบด้วยความยากลำบาก ต้องประสบความสูญเสียอย่างหนัก เพราะชัยภูมิที่เสียเปรียบ แต่ที่สุดก็ยังสามารถรุกเข้ายึดพื้นที่เนินเขาที่สามารถระดมยิงปืนใหญ่ใส่ท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ปอร์ตอาเธอร์ได้ใน ๗ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๐๔ ส่งผลให้กองเรือรัสเซียต้องทิ้งเมืองท่าปอร์ตอาเธอร์ไปสมทบกับกำลังทางเรือที่วลาดิวอสต๊อก โดยออกเรือ ใน ๑๐ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๐๔ ซึ่ง พลเรือเอก โตโง ก็ส่งกำลังจากกองเรือที่ ๑ และกองเรือที่ ๓ ประกอบด้วย ๖ เรือประจัญบาน และ ๔ เรือลาดตระเวนเบาเข้าปะทะทันที แต่จากประสบการณ์ที่เคยส่งกำลังทางเรือไปประจันหน้าแล้วเรือรัสเซียหนีกลับท่าเรือในปฏิบัติการก่อนหน้านั้น ทำให้โตโงแบ่งกองเรือเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเข้าปะทะ อีกส่วนหนึ่งไปสกัดทางถอยกลับเข้าท่า จึงทำให้ขาดการรวมกำลังอำนาจการยิง ประกอบกับการใช้ปืนเรือที่แม้จะได้เปรียบกว่า (ขนาดและระยะยิง) แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงไม่ประสบผลสำเร็จในการทำลายกองเรือของรัสเซียมากนัก

 

 

โดยเฉพาะการปะทะกันในรอบแรกเป็นเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงเต็ม ที่ระยะประมาณ ๑๑,๐๐๐ หลา ซึ่งปืนใหญ่ขาดความแม่นยำ ไม่สามารถยิงถูกเรือรัสเซียได้เลย หลังจากนั้นอีก ๒ ชั่วโมง เมื่อเรือรบทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าใกล้กันที่ระยะ ๗,๐๐๐ หลา จึงมีการปะทะกันอีกรอบหนึ่งเป็นเวลาเกือบ ๓ ชั่วโมง บังเอิญที่เรือธงของรัสเซียถูกยิงที่หอบังคับการเป็นผลให้ พลเรือตรี วิทเกฟต์ (V.K. Vitgeft) เสียชีวิต และผู้บังคับการเรือบาดเจ็บสาหัส กองเรือของรัสเซีย จึงขาดการควบคุมและกระจัดกระจายหนีรอดไปได้ แต่กำลังทางเรือเหล่านี้ก็ไม่สามารถหลบรอดไปรวมกับกำลังทางเรือที่วลาดิวอสต๊อกได้ เพราะใน ๔ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๐๔ กองเรือที่ ๒ ของญี่ปุ่นซึ่งดักรอกำลังทางเรือจากวลาดิวอสต๊อกที่บริเวณนอกชายฝั่งเมืองอุลซาน (Ulsan) ตรงปากทางเข้าช่องแคบสึชิมา (Tsushima) ก็สามารถทำลายกองเรือดังกล่าวได้ เรือรบอื่น ๆ ที่หลุดรอดไปก็ทยอยถูกโจมตี จนกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นสามารถควบคุมทะเลได้อย่างสิ้นเชิง ใน ธันวาคม ค.ศ.๑๙๐๔ รวมทั้งกำลังทางบกของ พลเอก โนจิ ก็เข้ายึดปอร์ตอาเธอร์ได้ ใน ๒ มกราคม ค.ศ.๑๙๐๕

การรบที่ช่องแคบสึชิมา

 

หลังจากยุทธนาวีที่ทะเลเหลือง นอกฝั่งปอร์ตอาเธอร์และบริเวณนอกฝั่งเมืองอุลซาน เมื่อญี่ปุ่นสามารถควบคุมทะเลได้ โตโงก็นำกองเรือกลับญี่ปุ่น และเตรียมการที่จะเผชิญหน้ากับกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียที่ออกเดินทางมาตั้งแต่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๐๔ บทเรียนจากการรบทางเรือที่ผ่านมา ทำให้โตโงสามารถปรับปรุงหลักนิยม แผนการปฏิบัติและยุทธวิธีที่จะใช้ในการรบกับกองเรือของรัสเซีย โดยใช้แนวคิด “การโจมตีทางลึก (Engagenment in Depth) ” ที่เน้นการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยออกหลักนิยมดังกล่าว เมื่อ ๑๒ เมษายน ค.ศ.๑๙๐๕ และซักซ้อมให้ ผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับการเรือทุกระดับเข้าใจในแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งให้มีการฝึกซ้อมหันเลี้ยวจัดกระบวนเรือและฝึกการยิงปืนเรือที่ระยะไกลให้มีความชำนาญและแม่นยำ โดยเน้นการระดมยิงปืนใหญ่ไปที่เป้าหมายเดียวกันพร้อม ๆ กันทุกกระบอก และยังได้มีการนำอุปกรณ์การวัดระยะที่ปรับปรุงใหม่มาใช้ประกอบกันด้วย ทั้งนี้ได้ตัดสินใจที่จะทำการรบในรูปกระบวนเรียงกัน (single line formation) และกำหนดให้เริ่มยิงที่ระยะ ๗,๐๐๐ – ๘,๐๐๐ หลา ลงมา โดยให้ระดมยิงเรือนำของข้าศึกก่อน จากนั้นค่อยแยกโจมตีซ้ำต่อเรือรบที่เหลือจนกว่าจะทำลายกองเรือรัสเซียได้หมด

 


แผนที่แสดงพื้นที่การรบทางเรือ

 

นอกจากนั้นยังปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ตอร์ปิโดจากการโจมตีด้วยเรือพิฆาต ซึ่งการรบที่ผ่านมาขาดความแม่นยำ จนกระทั่งมีความมั่นใจในความพร้อมรบเป็นอย่างยิ่ง โดยจากการเตรียมความพร้อมอย่างยาวนานดังกล่าว ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นประเมินว่าโอกาสจะประสบความสำเร็จในการรบมีถึง ๙๐% ตั้งแต่การรบยังไม่เริ่มต้น ที่เหลืออีก ๑๐% อยู่ที่การปฏิบัติในการรบจริง ซึ่งมีความไม่แน่นอน ความกลัว และความอ่อนแอของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องในสถานการณ์ของการสู้รบ อันเป็นธรรมชาติของสงครามที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
การรบจริงเริ่มในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๐๕ เมื่อเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่นตรวจพบเรือพยาบาลท้ายขบวนกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซีย กำลังมุ่งหน้ามาทางตะวันออกของช่องแคบสึชิมา อันเป็นไปตามที่โตโงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดที่จะไปยังวลาดิวอสต๊อก โตโงจึงนำกองเรือจากฝั่งเกาหลีเข้าสกัดและสามารถจัดรูปกระบวนเรือระดมยิงได้ตามแผนที่เตรียมไว้ การยุทธ์เริ่มตั้งแต่ประมาณบ่ายสองโมงจนถึงตอนค่ำและต่อเนื่องถึงตอนเช้าของวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๐๕ กองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียก็ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง เรือถูกจมถึง ๒๑ ลำ ที่เหลือถูกยึดและปลดอาวุธ คงมีเพียงเรือลาดตระเวนคุ้มกัน ๓ ลำ ที่หลบรอดไปถึงฐานทัพเรือของสหรัฐฯที่มนิลาได้ ในขณะที่ญี่ปุ่นสูญเสียเรือตอร์ปิโดเพียง ๓ ลำ

การยุติสงครามและบทเรียนในมุมมองญี่ปุ่น

 

 

ญี่ปุ่นตัดสินใจทำสงครามกับมหาอำนาจรัสเซียบนพื้นฐานของการประเมินความได้เปรียบในช่วงที่ รัสเซียยังไม่สามารถระดมกำลังจากยุโรปมาสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ แผนทำสงครามจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการรุกเข้าตีกองกำลังของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุความเหนือกว่าทางทหารในทุกพื้นที่การรบ แล้วจึงร้องขอให้สหรัฐฯ ในฐานะชาติเป็นกลาง เข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงครามในเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อญี่ปุ่น ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือต้องให้เกิดความได้เปรียบทางทหารก่อนที่รัสเซียจะตั้งตัวติด จนสามารถรวมกำลังตีตอบโต้กลับอย่างเต็มรูปแบบได้

ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นเองก็ตระหนักดีว่า ไม่สามารถเอาชนะรัสเซียอย่างเด็ดขาดได้ แม้แต่การเดินตามแผนทำสงครามดังกล่าวนี้ ก็มีความเสี่ยงต่อการที่ชาติจะแพ้สงครามและประสบความหายนะได้ ญี่ปุ่นจึงดำเนินยุทธศาสตร์ทั้งด้านการทูตและการทหารอย่างระมัดระวัง เพื่อให้บรรลุเป้าเหมายเดียวกัน คือ “การไกล่เกลี่ยในเงื่อนไข หกสิบ-สี่สิบ“ ในสภาวะที่ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบ การประสานงานอย่างใกล้ชิดในทุกภาคส่วน ทั้งการวางแผน การปฏิบัติตามแผน การจัดการในการยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงความกล้าหาญของทหารญี่ปุ่น นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในสงครามครั้งนี้

สำหรับรัสเซียที่ประสบความล้มเหลว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประมาทขีดความสามารถของญี่ปุ่น และประเมินกำลังอำนาจของตัวเองสูงเกินไป ผู้นำมองว่าเป็นเพียงกิจการระดับท้องถิ่นในภูมิภาคตะวันออกไกล จึงไม่มียุทธศาสตร์ในภาพรวมที่จะรับมือกับญี่ปุ่น โดยประเมินว่าญี่ปุ่นไม่กล้าที่จะรบกับมหาอำนาจรัสเซีย และหากเกิดสงครามขึ้นรัสเซียก็จะใช้กำลังที่เหนือกว่าบดขยี้ญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย ทว่าญี่ปุ่นกลับรบอย่างเอาเป็นเอาตายในทุกสมรภูมิ โดยเฉพาะใน ๓ สมรภูมิหลัก คือ เลียวหยาง (Liaoyang) ระหว่าง ๓๐ สิงหาคม – ๓ กันยายน ค.ศ.๑๙๐๔ ที่เป็นการรบทางบกครั้งแรก ทหารญี่ปุ่น ๑๓๔,๔๐๐ นาย สามารถเอาชนะทหารรัสเซียประมาณ ๒๒๕,๐๐๐ นาย จนยึดพื้นที่ที่ได้เปรียบไว้ได้ แต่ก็ไม่สามารถติดตามบดขยี้ทหารรัสเซียให้เด็ดขาดได้ เพราะข้อจำกัดทางด้านการส่งกำลังบำรุงและกำลังกองหนุน สมรภูมิที่สอง คือ ชาโฮ (Shaho) ใน ตุลาคม ค.ศ.๑๙๐๔ ซึ่งรัสเซียเป็นฝ่ายทุ่มกำลังเข้าโจมตีญี่ปุ่นด้วยกำลังที่เหนือกว่าอย่างท่วมท้น แต่การต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิตของทหารญี่ปุ่นกลับยันให้รัสเซียต้องถอยกลับ ซึ่งหากรัสเซียมีความมุ่งมั่นที่จะบดขยี้ญี่ปุ่นให้ถึงที่สุดโดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของทหารรัสเซียแล้ว ญี่ปุ่นเองก็จะปราชัยได้ เพราะกำลังน้อยกว่ามาก สมรภูมิที่สาม คือ เฮ – กู – ไถ (Hei – Kou – Tai) ใน มกราคม ค.ศ.๑๙๐๕ ซึ่งรัสเซียบุกเข้าโจมตีญี่ปุ่นในห้วงที่กำลังหลบสภาพอากาศหนาวจัด จนทหารญี่ปุ่นระส่ำระสายเกือบตกเป็นฝ่ายปราชัย แต่รัสเซียเองกลับยุติการโจมตีกลางคัน เพียงเพราะความริษยาชิงดีชิงเด่นกันเองระหว่างผู้นำทัพรัสเซีย (พลเอก คูโรแพทคิน (Kuropatkin) ผู้บัญชาการทหารรัสเซียภาคตะวันออก กับ พลเอก กริปเปนเบิร์ก (Grippenberg) ผู้บัญชาการกองทัพที่ ๒

หลังจากประสบการณ์ใน ๓ สมรภูมิดังกล่าว รัสเซียจึงเริ่มหันกลับมาใช้ยุทธศาสตร์ดั้งเดิมของรัสเซีย เมื่อครั้งต่อสู้กับจักพรรดินโปเลียน คือ ถอนกำลังล่อข้าศึกให้รุกลึกเข้าไปในพื้นที่ที่รัสเซียได้เปรียบ แล้วรวมกำลังเข้าตีด้วยกำลังที่เหนือกว่า ซึ่งถ้ารัสเซียดำเนินตามยุทธศาสตร์อย่างเหมาะสม กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียก็อาจถูกทำลายอย่างสิ้นซากได้ โดยเฉพาะในการยุทธ์ทางบกครั้งสุดท้ายของสงครามที่มุกเดน (Mukden) เมืองหลวงของแมนจูเรีย ในช่วง กุมภาพันธ์ – มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๕ ซึ่งญี่ปุ่นได้รุกเข้ามาจนเกือบสุดสายการส่งกำลังบำรุงแล้ว แต่จากการขาดความมุ่งมั่นในการสู้รบของผู้นำทหารรัสเซีย ขณะที่ญี่ปุ่นต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิต ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเอาชนะและยึดเมืองหลวงนี้ได้ แต่ก็ถึงกับหมดสภาพเช่นกัน ไม่สามารถตามบดขยี้ทหารรัสเซียต่อไปได้ เพราะขาดทั้งกำลังกองหนุน เครื่องกระสุนและเสบียง (ทหารรัสเซีย ๓๕๐,๐๐๐ สูญเสีย ๙๐,๐๐๐ ทหารญี่ปุ่น ๓๐๐,๐๐๐ สูญเสีย ๗๕,๐๐๐)

 

 

อย่างไรก็ตามถึงจะพ่ายแพ้ในการยุทธ์ดังกล่าว แต่ฝ่ายรัสเซียยังคงมีขีดสามารถทำการสู้รบต่อไปได้ และหวังว่าเมื่อกองเรือทะเลบอลติก เดินทางมาถึงและทำลายกองเรือญี่ปุ่นได้ จะสามารถตัดการส่งกำลังบำรุงไปยังกองกำลังทางบกของญี่ปุ่นที่อยู่ในสภาวะคับขันแล้วได้ และจะช่วยให้รัสเซียเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด ดังนั้น เมื่อการณ์ปรากฏว่ายุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมา กองเรือญี่ปุ่นสามารถทำลายกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียลงได้ จึงนำไปสู่การยินยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และตกลงยุติสงครามได้ ใน ๑ กันยายน ค.ศ.๑๙๐๕ กับบรรลุข้อตกลงตามสนธิสัญญาปอร์ตสมัธ (The Treaty of Porstmouth) ใน ๕ กันยายน ค.ศ.๑๙๐๕ โดยรัสเซียยอมรับสิทธิของญี่ปุ่นในการครอบครองเกาหลี คาบสมุทรเลียวตุง เกาะซาคะลินใต้ และระบบทางรถไฟตอนใต้ของแมนจูเรีย

 

บทเรียนสำคัญที่ญี่ปุ่นมองว่าส่งผลต่อความสำเร็จในการทำสงครามครั้งนี้ ประกอบด้วย การสร้างความมุ่งมั่นของชาติ (Nation’ s will) ให้คนญี่ปุ่นเห็นพ้องกับการทำสงคราม จากการที่ญี่ปุ่นถูกบีบจาก ๓ มหาอำนาจ โดยเฉพาะรัสเซีย ให้จำต้องสละสิทธิในการครอบครองคาบสมุทรเลียวตุง ซึ่งสร้างความคับแค้นแก่ญี่ปุ่นอย่างยิ่ง บทเรียนต่อมาคือ การกำหนดเป้าประสงค์ที่ชัดเจนและสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งได้แก่ การปกป้องอธิปไตยของญี่ปุ่นและการบรรลุเงื่อนไขที่ได้เปรียบ (๖๐ – ๔๐)

ต่อกรณีปัญหารัสเซีย เมื่อเป้าประสงค์ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ การวางแผนยุทธศาสตร์ทั้งด้านการทูตและการทหารก็มีทิศทางที่แน่นอน และง่ายต่อการปฏิบัติของทุกภาคส่วน บทเรียนที่สามคือการเลือกพันธมิตรอย่างระมัดระวัง การเลือกอังกฤษเป็นพันธมิตรในครั้งนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนากำลังรบขึ้นมาทัดเทียมกับรัสเซียได้ ทั้งการได้เทคโนโลยีจากอังกฤษโดยตรงและการได้เครดิตด้านการเงินจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงการสร้างความยากลำบากแก่รัสเซียในการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงระหว่างการเดินทางของกองเรือทะเลบอลติกด้วย บทเรียนที่สี่ คือการเตรียมกำลังให้พร้อมและเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับข้าศึก เพราะหากไม่มีกำลังเข้มแข็งพอในสถานการณ์ ที่ต้องประจันหน้ากันแล้ว ก็จะไม่สามารถเดินตามแนวคิดทางยุทธศาสตร์ได้ บทเรียนที่ห้าคือ คุณค่าของข่าวกรอง

 

ในครั้งนี้ญี่ปุ่นได้ทุ่มเทความพยายามให้กับการข่าวกรองเป็นอย่างมาก และได้ใช้ประโยชน์ในการวางแผนสงครามจนถึงการปฎิบัติจริงทางยุทธการด้วย บทเรียนที่หกคือ การบ่อนทำลายเพื่อสร้างความระส่ำระสายในประเทศข้าศึก ซึ่งครั้งนี้ญี่ปุ่นใช้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลของซาร์นิโคลัสอย่างได้ผล บทเรียนที่เจ็ด คือความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างทหารบกกับทหารเรือ โดยเฉพาะในการยุทธ์ที่ฝ่ายญี่ปุ่นประสบชัยชนะที่ปอร์ตอาเธอร์ และ บทเรียนสุดท้ายคือ ต้องรู้ว่าเมื่อไรควรยุติ การที่ญี่ปุ่นวางแผนเตรียมการยุติสงครามไว้ล่วงหน้า ทำให้สามารถแสวงประโยชน์จากความได้เปรียบในสงครามได้อย่างเต็มที่…………………….

 

วิเคราะห์บทเรียนในสภาวะแวดล้อมของไทย

 

ญี่ปุ่นวิเคราะห์บทเรียนความสำเร็จในสงครามญี่ปุ่น-รัสเซียเปรียบเทียบกับความล้มเหลวในสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ แล้วชี้ว่าบทเรียนทั้ง ๘ ประเด็น ญี่ปุ่นสอบไม่ผ่าน

 

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงน่าสนใจว่าหากนำมาใช้วิเคราะห์ในสภาวะแวดล้อมของไทยจะมีส่วนช่วยในการประเมินศักยภาพและความเสี่ยง เป็นดัชนีบ่งชี้สิ่งที่จะต้องปรับปรุงหรือพัฒนาได้หรือไม่ แน่นอนว่าปัจจัยที่นำมาซึ่งความสำเร็จและความล้มเหลวมีอีกมากมาย การจะฟันธงว่าจัดการทั้ง ๘ ประเด็นไม่ดีจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้สงคราม คงเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันได้ในอีกหลายแง่มุม อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์ควบคู่กับแนวคิดหรือหลักการทำสงครามของนักยุทธศาสตร์และนักการทหารในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ ซุนวู เคลาส์วิตซ์ จนถึงหลักนิยมมาตรฐานของกองทัพมหาอำนาจ จะเห็นว่าประเด็นที่ญี่ปุ่นจับเป็นบทเรียนนั้น ส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกันและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของสงคราม จึงอาจสามารถจัดเป็นกรอบในการประเมินศักยภาพและความเสี่ยงได้

 

สภาวะแวดล้อมของไทยในปัจจุบัน นักยุทธศาสตร์แทบทุกสำนักเห็นพ้องกันว่าภัยคุกคามทางทหารจาก ภายนอกไม่ชัดเจน และไทยก็ไม่มียุทธศาสตร์ที่จะใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแย่งชิงผลประโยชน์กับประเทศใด ๆ เพียงแต่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดน และมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไป แม้หลายฝ่ายจะมองว่าอาจยุติลงได้ด้วยการเจรจาและผ่อนปรนให้เป็นเขตปกครองพิเศษทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่จากสภาพการณ์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบทั้งหลายยังไม่มีผู้นำที่ชัดเจน การเจรจาเงื่อนไขต่าง ๆ คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งหากมองสถานการณ์นี้เป็นสภาวะสงคราม แล้วใช้บทเรียนจากสงคราม ญี่ปุ่น – รัสเซีย มาวิเคราะห์การดำเนินการที่ผ่านมา ก็อาจเห็นสิ่งบ่งชี้ที่สำคัญบางประการที่ควรนำไปพิจารณาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบดังกล่าว

 

ในส่วนของความร่วมมือระหว่างหน่วยกำลังต่างเหล่าที่ปฏิบัติการในพื้นที่ อันเป็นประเด็นที่เจ็ด ที่ญี่ปุ่นมองว่าส่งผลต่อความสำเร็จในสงครามญี่ปุ่น – รัสเซียนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในสงครามยุคใหม่ที่เน้นการปฏิบัติการร่วมเป็นหลัก ในกรณีภาคใต้ของไทยที่มีการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบส่วนหนึ่งให้กับหน่วยนาวิกโยธินของ กองทัพเรือ และในแต่ละพื้นที่ก็ยังมีกำลังจากหลายหน่วยงานปฏิบัติการร่วมกัน ความร่วมมือและการประสานงาน ที่แนบแน่นนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะต้องทบทวนและประเมินการปฏิบัติที่ผ่านมาและให้คุณค่าความสำคัญ

ประเด็นสุดท้าย การรู้ว่าเมื่อไรควรยุติ แน่นอนว่าจะต้องรู้ว่าสิ่งที่ต้องการขั้นสุดท้ายคืออะไรก่อน จะได้เป็นเป้าหมายในการเดินเกมวางแผนเตรียมการยุติสงครามไว้ล่วงหน้า ต้องตัดสินใจในห้วงจังหวะอันเหมาะสมที่จะสามารถแสวงประโยชน์จากผลลัพธ์ของการปฎิบัติการทางทหารในพื้นที่ ต่อกรณีสถานการณ์ภาคใต้ของไทยคงคาดหวังได้ยากเพราะประการแรกเรายังไม่ชัดเจนว่า ผลลัพธ์สุดท้าย (End State) ที่ต้องการมีขอบเขตอย่างไร การจะเอาชนะเด็ดขาดในการต่อสู้ทางทหารคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมิใช่สงครามตามรูปแบบ หากจะยุติด้วยการเจรจาก็จำเป็นต้องสร้างสภาวะแวดล้อมให้มีเงื่อนไขที่จะได้เปรียบในการเจรจาก่อน จังหวะเวลาของการยุติสงครามจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอีกประเด็นหนึ่ง หากยุติในจังหวะที่สถานการณ์เป็นรอง ก็เชื่อได้ว่าผลประโยชน์สำคัญยิ่งของชาติอาจต้องถูกแบ่งปันไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ขอบคุณเนื้อหา และสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่: https://historyxsite.wordpress.com/2017/09/25/1904japanvsrussia/
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Somaster's profile


โพสท์โดย: Somaster
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
10 VOTES (5/5 จาก 2 คน)
VOTED: Holmen, เทียร์
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
มดดำ เฉลยปมรัก ‘อั้ม อธิชาติ-นัท มีเรีย’ เลิกจริงหรือไม่ แย้มสถานะจากวงในชาวเน็ตเเซวแม่หมอควีน อิจฉาได้เงินเยอะ เธอตอบกลับ “รายได้บริจาค 100% ” ล่าสุดลบและปิดคอมเม้นต์ไปแล้วแต่ชาวเน็ตเเคปทัน 😁วิกผมเปลี่ยนบุคลิกภาพ..รีวิวจนคนหัวล้านอยากซื้อตามทันที'ลูกปัด'เผย' ปางช้างโลกสวย' เคยมาขอซื้อช้างชรา! เล่าเคยมีฝรั่งจะเอา ขอฟาดควาญ!หลิน มาลิน เผยประสบการณ์สุดช็อกบนเรือ กินได้แค่ถั่วต้ม หลังเจอไข่ข้าวขึ้นชื่อกัมพูชา!รวมภาพเรียกรอยยิ้มประจำวันนี้ชาวเน็ตชี้ สาเหตุน้ำท่วมเชียงใหม่ชายที่มีความผิดปกติทางใบหน้า ถูกขอให้ออกจากร้านอาหารเพราะ ทำให้ลูกค้าตกใจ เขายังไม่ได้แม้แต่จะนั่งลง!จิ๋วแจ๋วสุดน่ารัก! "ไดมอน" นักตบสาวชาวญี่ปุ่น..กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกขึ้นชื่อว่าแมว นอนได้ทุกที่ ทุกท่า ทุกสถานการณ์จริง ๆ 🤣"ซิสซี" แม่แท้ๆ ของ "วิทนีย์ ฮูสตัน" สิ้นลมหายใจในวัย 91 ปีศาลมาเลสั่งปรับเงินชาย แต่งสาวในที่สาธารณะ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ชายที่มีความผิดปกติทางใบหน้า ถูกขอให้ออกจากร้านอาหารเพราะ ทำให้ลูกค้าตกใจ เขายังไม่ได้แม้แต่จะนั่งลง!มดดำ เฉลยปมรัก ‘อั้ม อธิชาติ-นัท มีเรีย’ เลิกจริงหรือไม่ แย้มสถานะจากวงในชาวเน็ตชี้ สาเหตุน้ำท่วมเชียงใหม่ศาลมาเลสั่งปรับเงินชาย แต่งสาวในที่สาธารณะเมื่อคุณหลับในคาบศิลปะ...ก็สบายไป ได้ภาพเหมือน ตอนไปงานขาว-ดำกันเลยทีเดียว'ลูกปัด'เผย' ปางช้างโลกสวย' เคยมาขอซื้อช้างชรา! เล่าเคยมีฝรั่งจะเอา ขอฟาดควาญ!
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
ชนเผ่า Apatani (ชนเผ่าเจาะจมูก)เป็นหนึ่งในกลุ่มชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมและประเพณีเฉพาะตัวจริงหรือมั่ว? “กินแคร์รอต” เป็นประจำจะทำให้ตัวเหลือง7 วิธี ที่จะช่วยเปลี่ยนวันที่แสนน่าเบื่อให้กลายเป็นวันที่แสนสดใสความงดงามและความลึกลับของเรือที่จมในแอนตาร์กติกา
ตั้งกระทู้ใหม่