"ทางรถไฟสายมรณะ" คือส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ "ทางรถไฟสายมหาเอเชียบูรพา" ของจักรวรรดิญี่ปุ่น!!!
"ทางรถไฟสายมรณะ" คือส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ "ทางรถไฟสายมหาเอเชียบูรพา" ของจักรวรรดิญี่ปุ่น!!!
ในปี ค.ศ.1920 รัฐบาลแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น (大日本帝国) ได้มีการก่อตั้ง "กระทรวงกิจการรถไฟ" (鐵道省/The Ministry of Railways ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า เท็ตสึโดโช Tetsudōshō) เพื่อทำหน้าที่วางแผน ก่อสร้าง บำรุงรักษา ให้บริการระบบโครงข่ายการคมนาคมทางรถไฟทั้งภายในประเทศญีปุ่่น และเขตยึดครองของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ทั้งเกาหลี ไต้หวัน และบางส่วนของคาบสมุทรเหลียวตง ซึ่งการก่อตั้งกระทรวงกิจการรถไฟนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อดินแดนต่างๆที่ญี่ปุ่นยึดครองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเข้าด้วยกัน
ภายหลังตั้งแต่ช่วงคริสตทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นเริ่มขยับขยายอาณาเขตเข้าสู่แผ่นดินจีนมากขึ้น ทั้งแมนจูเรีย เข้ามาจนถึงดินแดนหัวเป่ยทางภาคเหนือของจีน ประชิดปักกิ่ง จนกระทั่งหลังกรณีสะพานมาร์โคโปโลในปี ค.ศ.1937 นำมาสู่สงครามจีน - ญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบ จักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มมีการก่อสร้างและเชื่อมต่อทางรถไฟในเขตยึดครองของตนจากเกาหลี สู่แมนจูเรีย ถึงหัวเป่ย และเริ่มวางแผนก่อสร้างทางรถไฟข้ามทะเลเหลืองจากกรุงโตเกียวของจักรวรรดิญี่ปุ่นเพื่อเชื่อมกับทางรถไฟเหล่านี้
ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นส่งทหารเข้าโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา และยกพลขึ้นบกทั่วเอเชีย เปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพาในปี ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นจึงวางแผนขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อดินแดนในเขตยึดครองของญี่ปุ่นทั้งภูมิภาคเอเชีย โดยมีศูนย์กลางที่โตเกียว โดยมีการจัดทำ "รายงานว่าด้วยทางรถไฟสายมหาเอเชียบูรพา" (大東亜縦貫鉄道に就て) ในปี ค.ศ.1942 โดยรายงานฉบับนี้ได้เสนอแนวโครงข่ายทางรถไฟมหาเอเชียบูรพาสามสายหลักๆ ได้แก่
1. โครงข่ายทางรถไฟหมายเลข 1 (第1縱貫鐵道群) หรือทางรถไฟสายโตเกียว - โชนัน (東京~昭南島間)สายนี้จะเริ่มต้นจากกรุงโตเกียว(東京 ) ไปยังชิโมโนเซกิ(下關) จากนั้นจะข้ามทะเลเหลืองไปที่เมืองปูซาน(釜山) ของเกาหลี ไปถึงเฟิ่งเทียน(奉天) หรือเมืองเสิ่นหยาง (沈阳市) ในแมนจูเรีย จากนั้นไปยังนครเทียนจิน(天津) - ปักกิ่ง(北京) - ฮั่นโข่ว(漢口) - เหิงโจว(衡州) - กุ้ยหลิน(桂林) - หลิ่วโจว(柳州) - หนานหนิง(南宁) - ด่านเจิ้นหนานกวน(鎮南關 ชายแดนจีน - เวียดนาม) เข้าสู่ซอมกุก( 村局/Xóm Cục)ในเวียดนาม ถึงเมืองท่าแขก (他曲) ในแขวงคำม่วนของลาว ข้ามมายังฝั่งไทยสู่ อ.กุมภวาปี (公抱哇比 ) จ.อุดรธานี เข้าสู่ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทยถึงกรุงเทพ จากนั้นเข้าสู่ทางรถไฟสายใต้ของไทยจนถึงปาดังเบซาร์(巴东勿刹) สิ้นสุดที่เกาะโชนัน (昭南島) หรือสิงคโปร์ ทั้งนี้ จะมีทางรถไฟแยกจากเทียนจินไปถึงเมืองนานกิง(南京) และเชื่อมทางรถไฟย่อยจากนางาซากิ(长崎市) ถึงเซี่ยงไฮ้(上海市) ด้วย
2.โครงข่ายทางรถไฟหมายเลขสอง (เชื่อมโยงกับทางรถไฟสายหลักที่ 1 คือสายโตเกียว - โชนัน 第2縱貫鐵道群(1縱貫鐵道的支線)สายนี้จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเริ่มจากกรุงเทพ - บางบอน - ตันบูซายัด(タンビサヤ) ในประเทศพม่า - ย่างกุ้ง(仰光) - จิตตะกอง (吉大港 เดิมเป็นดินแดนของอินเดีย ปัจจุบันคือนครหลวงของบังคลาเทศ) ซึ่ง "ทางรถไฟสายมรณะ" ที่เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ในทางรถไฟสายใต้ของไทย ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ถึงตันบูซายัดของพม่า ก็คือส่วนหนึ่งในโครงข่ายทางรถไฟสายนี้ ส่วนที่สอง เริ่มจากฉางซา(长沙市) - ฉางเต๋อ(常德市) - คุนหมิง(昆明市) เข้าสู่เมืองหล่าเสี้ยว(臘戍) ในรัฐฉาน ถึงเมืองมัณฑะเลย์(曼德勒) สิ้นสุดที่จิตตะกองเช่นกัน
3. โครงข่ายทางรถไฟหมายเลขสาม หรือทางรถไฟสายมิตรภาพญี่ปุ่น - เยอรมัน(第3縱貫鐵道群(與日本同盟的德國間連結)) แบ่งเป็นสามสายย่อย ได้แก่
สายที่ 1 เริ่มจากโตเกียว - ชิโมโนะเซกิ - ปูซาน - เฟิ่งเทียน - ฮาร์บิน(哈尔滨) - หม่านโจวหลี่(满洲里市) - อีร์คุสต์(Иркутск) - มอสโคว์ สิ้นสุดที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมัน
สายที่ 2 เริ่มจากโตเกียว - โกเบ(神户市) ข้ามทะเลเหลืองมาที่เทียนจิน - จางเจียโข่ว( 張家口) - เปาโถว(包頭) - ซู่โจว(肃州) - อันซี(安西) - ฮามี่(哈密) ในซินเจียง - คัชการ์(喀什) - คาบูล(喀布尔) - แบกแดด(巴格达) - อิสตันบูล(伊斯坦堡) สิ้นสุดที่เบอร์ลิน
สายที่ 3 เริ่มจากโตเกียว - นางาซากิ - เซี่ยงไฮ้ - คุนหมิง - ย่างกุ้ง - กัลกัตตา(加尔各答) - อิสลามาบัด(白沙瓦) - คาบูล - แบกแดด - อิสตันบูล ถึงเบอร์ลิน
ทั้งหมดนี้คือแผนการก่อสร้างและเชื่อมโยงโครงข่าย "ทางรถไฟสายมหาเอเชียบูรพา" (大東亞縱貫鐵道) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้างอาณาจักรวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา เพื่อการครองความเป็นใหญ่ของจักรวรรดิญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเองครับ
(ภาพประกอบ : แผนที่โครงข่ายทางรถไฟสายโตเกียว - โชนัน หรือทางรถไฟหมายเลข 1 ในโครงการทางรถไฟสายมหาเอเชียบูรพา)
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2052138344843801&set=a.116628905061431&type=3&theater
https://zh.wikipedia.org/wiki/