อาการหลัก ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากเป็นเนื้องอกในมดลูก
เมื่ออายุมากขึ้นก็ย่อมมีโรคภัยเพิ่มเข้ามามากขึ้นด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้หญิงเมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปีขึ้นไป ก็เริ่มที่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอกในมดลูก ซึ่งความเสี่ยงของการเป็นเนื้องอกในมดลูกของผู้หญิงจะพบมากถึง 30 – 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว หรือถ้าคิดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าตรวจเนื้องอกในมดลูกของผู้หญิง 10 จะพบคนที่เป็น 3 ถึง 5 คนเลยทีเดียว ส่วนขนาดของเนื้องอกก็มีหลากหลายในแต่ละราย ตั้งแต่เล็ก ๆ ระดับมิลลิเมตรคือไม่ถึงเซนติเมตร ไปจนถึงเป็นสิบ ๆ เซนติเมตร เท่ากับลูกมะพร้าว หรือลูกแตงโมก็แล้วแต่สรีระของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่ประมาณ 99% ไม่ใช่เนื้อมะเร็ง เป็นเนื้องอกที่เป็นเนื้อดี ซึ่งอาการของเนื้องอกในมดลูกที่สามารถสังเกตุได้ก็มีดังนี้ค่ะ
เนื้องอกในมดลูกส่วนใหญ่จะมาด้วย 3 อาการหลัก ๆ
- อาการแรกที่เจอเยอะที่สุดคือ คนไข้จะคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย ซึ่งถ้าเกิดผู้หญิงเราคลำก้อนที่ท้องน้อยได้ ส่วนมากจะเป็นเนื้องอกมดลูก สังเกตดูจากคนท้อง กว่าจะเห็นว่าตั้งครรภ์ก็ประมาณ 4-5 เดือนไปแล้ว เช่นเดียวกัน เนื้องอกมดลูกนี้ก็ต้องทำให้มดลูกมีขนาดโตเท่ากับคนท้อง 4-5 เดือนแล้ว ซึ่งประมาณสัก 15 เซนติเมตรขึ้นไปถึงจะคลำเองได้จากหน้าท้อง
- อาการที่พบบ่อยที่ทำให้คนไข้ต้องมาพบคุณหมอสูตินรีเวช คือมีประจำเดือนออกเยอะ เพราะตัวเนื้องอกไปเบียดโพรงมดลูก ทำให้ประจำเดือนออกเยอะ แล้วบางทีออกเยอะมากเป็นลิ่มเลือดเป็นก้อนเลือด บางคนให้ประวัติว่า เป็นประจำเดือนแล้วเป็นลม แล้วก็ต้องไปรับเลือดที่โรงพยาบาลทุกครั้งที่เป็นประจำเดือน อันนี้จะมีบ้างประปราย
- อาการที่สามมักจะเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยาก จะตรวจพบเมื่อคนไข้ไปตรวจกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก พออัลตราซาวนด์ถึงจะเจอ อันนี้มักจะเป็นลักษณะก้อนเล็ก ๆ ไม่บ่งอาการอะไร บางทีอาจจะมีก้อนแค่ 1-2 เซนติเมตรอยู่ในโพรงมดลูก ไปขวางการฝังตัวของทารกทำให้มีบุตรยาก
เนื้องอกในมดลูกเมื่อเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นอีกได้ หากใครไม่อยากกลับมาเป็นอีกให้ทำการตัดมดลูกออก ซึ่งการเอามดลูกออกนั้นก็จะทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก และอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกในมดลูกจึงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะเนื้องอกมดลูกเป็นสิ่งที่ผู้หญิงควรระวังไว้เท่านั้น สามารถรักษาให้หายได้ และไม่ใช่โรคร้ายที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยทันที