คนรถคว่ำเพราะชาวนาเอาข้าวไปตากกลางถนน!! ความจนไม่ใช่ข้ออ้างในการทำผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบผู้อื่น
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา แฟนเพจ นักยุทธศาสตร์ – The Strategist ได้เผบแพร่บทความ ความจนไม่ใช่ข้ออ้างในการเอามาเอเปรียบคนอื่น โดยระบุข้อความว่า
เห็นข่าวที่มีคนรถคว่ำเพราะชาวนาเอาข้าวไปตากกลางถนน จนผู้ใช้รถใช้ถนนต้องประสบอุบัติเหตุแล้วก็เศร้าใจ แกมไม่พอใจ เมื่อไรจะเลิกทำพฤติกรรมแบบนี้กันสักที บางคนอาจจะแย้งว่าเป็นความผิดของผู้ใช้รถที่อาจจะขับมาด้วยความเร็วต่างๆนานา อันนี้ถือว่าผิดจุดนะครับ ถนนคือสถานที่เอาไว้ใช้สำหรับรถและยานยนต์ ไม่ใช่ที่ตากข้าว
และต่อให้ใช้ความเร็วไม่มาก แต่ถ้ามีข้าวมาตากบนถนน ไอ้ผ้าหรือวัสดุที่ใช้รองตากข้าวนั้นมันก็มีโอกาสเข้าไปพันกับเพลาล้อจนทำให้รถเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำได้อยู่ดี พอถามชาวบ้านชาวนาว่าทำไมต้องมาตากตรงนี้ เขาบอกว่า “มันใกล้ดี” บางคนก็บอกว่าก็บ้านอยู่แถวนี้จะให้ไปตากที่ไหน นานาเหตุผลที่จะตากบนถนนและแหล่งสัญจรของผู้คน
แต่เหตุผลที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือ เพราะ ‘จน’ ไม่มีเงินซื้อที่ไว้ตากเหมือนชาวนาที่รวยๆ จริงหรือไม่จริงไม่ทราบได้ แต่ ‘ความจน’ นั้นเป็นเหตุผลที่ถูกนำมาอ้างได้ง่าย และฟังแล้วคู่สนทนามีโอกาสจะเถียง หรือ คัดค้านได้น้อยมาก เหมือนกับเป็นคำที่เอาไว้ตัดบทสนทนา เพราะไม่มีเหตุผลใดๆสามารถนำมาอ้างอิงเพื่อเถียงคำว่า ‘จน’ ได้อีกแล้ว
ผมเคยเจอสถานการณ์ลักษณะดังกล่าวนี้อยู่หลายครั้ง อย่างล่าสุดก็บนรถไฟ ผมกับเพื่อนๆฝรั่งพากันนั่งรถไฟขึ้นเหนือไปเที่ยวเชียงใหม่ กัน 4 คน เลยซื้อตั๋วรถไฟชั้น 3 บชส.76 (ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม เปิดหน้าต่าง ที่นั่งเป็นม้านั่งแข็งๆนั่นแหละ) พอได้ขึ้นรถไฟก็เจอปัญหาของ ‘การอ้างความจน’ ขึ้นมาทันที
ปัญหาแรก ผมกับเพื่อนเดินหาที่นั่ง (แม้จะเป็นรถไฟชั้น 3 แต่ถ้าซื้อตั๋วมา ก็จะมีหมายเลขที่นั่งกำกับไว้ว่าใครได้นั่งตรงไหน) เมื่อเดินมาถึงที่นั่ง ผมกับเพื่อนฝรั่งก็เจอครอบครัวหนึ่งนั่งอยู่พ่อแม่ลูกอีก 2 คน ผมจึงบอกเขาไปอย่างทุลักทุเล เก้ๆกังๆว่า พวกผมนั่งตรงนี้ พวกเขาก็ทำท่าไม่พอใจ แล้วพยักเพยิดชี้ให้ผมและเพื่อนๆไปนั่งที่อื่น
ผมก็พยายามบอกดีๆว่า ที่อื่นมันไม่มีที่ว่างแล้ว และผมก็สงสารเพื่อนเพราะมันแบกกระเป๋าเป้ใบใหญ่มาหนัก ผมยืนเถียงกับเขาอยู่สักพักก็มีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วเดินผ่านมา จึงขอดูตั๋วของผมและเพื่อน เขาก็ช่วยพูดกับครอบครัวนั้นให้ แต่ก็มิวายที่จะมีปากเสียงกัน แล้วพวกเขาก็ตะโกนลั่นตู้ว่า “โอ๊ย บูชาฝรั่ง ไล่ที่คนจน พวกเรามานั่งก่อนแท้ๆ”
ผมได้ยินก็รู้สึกโมโห แต่ก็จำใจต้องปล่อยไป อีกครั้งหนึ่ง คือ ขณะที่เพื่อนผมลุกไปเข้าห้องน้ำที่ตู้อื่น และออกไปเดินถ่ายรูปตามมุมต่างๆบนรถไฟ ก็มีป้าคนหนึ่งมานั่ง เพราะเห็นว่าที่นั่งว่างอยู่ พอเพื่อนผมกลับมาก็ไม่สามารถนั่งได้ ผมจึงช่วยพูดกับป้าให้ว่า เพื่อนผมซื้อตั๋วมา ลุกให้เขานั่งเถอะ ก็มีเสียงค่อนขอดมาจากที่นั่งถัดไปว่า “ทำไมไม่ให้คนแก่นั่ง??”
“นั่งๆไปเถอะ ที่ไหนก็เหมือนกัน ถ้าเพื่อนคุณไม่มีที่นั่งก็ให้ไปนั่งที่อื่นสิ ! ให้เขานั่งไปอีกไม่กี่สถานีเขาก็ลงแล้ว มีน้ำใจกันหน่อย!” คนพวกนี้มักคิดว่านั่งที่ไหนก็เหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ไงครับ เขาซื้อตั๋วมาตามเลขที่นั่งแต่แรก ทำไมจะต้องลุกให้คนที่ไม่ได้ซื้อตั๋วมานั่งด้วย แล้วยังมีหน้ามาบอกว่านั่งไม่กี่สถานีก็ลง (แล้วทำไมคนที่ตะโกนว่าเพื่อนผม เขาไม่ลุกให้ป้านั่งเองล่ะ)
นั่นหมายความว่าเพื่อนผมต้องยืนเกินครึ่งชั่วโมงหากหาที่นั่งไม่ได้อย่างนั้นหรือ? ทางผมเองไม่มีทางเลือก จึงต้องลุกแล้วให้เพื่อนมานั่งที่ผมแทน แล้วผมก็ไปนั่งกับพื้นตรงที่ว่างกึ่งกลางระหว่างม้านั่งที่หันหน้าเข้าหากัน เออ ร้อนแดดส่องหัวอีก เอาเข้าไป (แต่ก็ยังดีกว่ายืนเอนไปเอนมา ตามแรงเหวี่ยงของรถไฟ)
** สิ่งแย่ๆที่เจอบนรถไฟยังไม่หยุดแค่นั้นครับ ระหว่างที่รถไฟกำลังแล่นจากกรุงเทพไปสู่เชียงใหม่อยู่นั้น ก็มีคนพากันโยนขยะลงไปในทุ่งนา ที่โล่งข้างทางรถไฟอยู่ตลอดสาย บางคนก็โยนขวดน้ำอัดลม บางคนก็โยนกล่องโฟมใส่อาหาร บางคนก็โยนถุงพลาสติก คือ กินเสร็จเมื่อไรโยนออกหน้าต่างทันที
คือระหว่างทางนั้นผมเห็นคนโยนขยะออกนอกหน้าต่างไม่ต่ำกว่า ชั่วโมงละ 6-7 ครั้ง (นี่คือจุดจุดเดียวที่ผมนั่งอยู่นะ ยังไม่รวมพฤติกรรมของคนทั้งตู้ ถ้ารวมทั้งตู้ และทุกตู้ที่เปิดหน้าต่าง อาจจะมียอดจำนวนการโยนขยะออกนอกหน้าต่างไม่ต่ำกว่า 100 ครั้งใน 1 ชั่วโมง และอาจมีขยะรวมชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชิ้น ถูกโยนออกนอกหน้าต่างของรถไฟ ต่อการเดินทาง 1 ครั้ง)
ผมถามน้องแม่ลูกคู่หนึ่งที่เพิ่งโยนกล่องข้าวพลาสติคของตนเองออกจากหน้าต่างไปว่าโยนทำไมไม่รอไปทิ้งตอนลงที่สถานีล่ะ น้องตอบว่า “โยนๆไปเหอะพี่ ไม่มีใครว่าหรอก เล็กๆน้อยๆ ใครๆเขาก็โยนกันทั้งนั้นแหละ คนกันเองไม่มีใครว่าหรอก” ผมไม่รู้จะตอบว่าอะไรก็เลยปล่อยๆไป แล้วก็หันไปคุยกับเพื่อนๆตัวเองต่อ
อีกกรณีหนึ่งที่เพื่อนผมเจอคือ ในหมู่บ้านมันมีคนเปิดอู่ซ่อมรถ แล้วก็เปิดจนดึกดื่น ซ่อมรถ ซ่อมอุปกรณ์ต่างๆเกี่ยวกับรถยนต์ จนมีเสียงดังโป๊งเป๊งจนถึงเที่ยงคืน รบกวนคนในชุมชน เพื่อนผมก็เลยไปแจ้งผู้นำชุมชน พร้อมกับแจ้งความ พอสู้กันในชั้นศาลจนชนะคดี ทำให้บ้านหลังนั้นไม่สามารถเปิดอู่รับงานซ่อมรถได้อีก ทำได้แค่อยู่อาศัยในชุมชน
หลังจากนั้นบ้านดังกล่าวก็เอาเรื่องของเพื่อนผมไปพูดเสียๆหายๆในชุมชน หาว่ารังแกคนจน คนทำมาหากิน ทั้งๆที่เพื่อนผมไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แถมยังเป็นคนเดียวที่กล้าออกหน้าเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางเสียงที่รบกวนพื้นที่เขตชุมชนซึ่งเป็นของสาธารณะอีกด้วย กลายเป็นว่าเจ้าของอู่ซ่อมรถมองว่าตัวเองถูกรังแก และใช้ความจนเป็นข้ออ้าง
** โดยที่ไม่ได้รู้สึกตัวเลยว่าสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำอยู่นั้นมันผิด และสร้างภาวะรบกวนให้แก่ชาวบ้านข้างเคียงอย่างไม่เกรงใจ คิดแต่ว่าตัวเองกำลังทำงานหาเลี้ยงครอบครัว
ล่าสุดเมื่อต้นปีก็มีเหตุการณ์ป้าคนรวยที่ใช้ขวานทุบรถของคนจนที่บริเวณใกล้ตลาดนัดแห่งหนึ่ง จนนำมาสู่การสั่งปิดตลาดนัดแห่งนั้น ซึ่งผู้เสียหายที่เป็นแม่ค้าอ้างว่า ตลาดนั้นเป็นพื้นที่ทำมาหากินของคนจน แม้ว่ามันจะผิดกฎหมาย แต่ก็ควรเห็นใจคนทำมาหากิน ไม่ควรรังแกกันแบบนี้
จะเห็นว่าคนไทยจำนวนมาก (ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็มีเยอะพอสมควร) นั้นติดนิสัยเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ ความมักง่าย ความอะไรก็ได้ และความเห็นแก่ตัวเอาเปรียบ เอาผลประโยชน์ตนเองเข้าว่า จนลืมนึกถึงผลประโยชน์และความสุขสบายใจของคนอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมมากไป
หลายคนมองว่าความมักง่ายหรือความเอาเปรียบของตนเองนั้น คงไม่กระทบสร้างปัญหาให้กับผู้อื่นหรอก “เพราะมันเล็กๆน้อยๆเอง ไม่มีอะไรร้ายแรงหรอก” แต่วิธีคิดเช่นนี้สร้างปัญหา และสร้างความทุกข์ใจ ความเสียหายให้แก่สมาชิกและผู้ที่ร่วมอาศัยอยู่ในชุมชน ในสังคมเดียวกับตนเองมานักต่อนักแล้ว
เลิกนิสัยอย่างนี้เถอะครับ มันเดือดร้อนคนอื่น ไม่ใช่แค่ตากข้าวหรอก แต่ช่วยเลิกเอาตรรกะแบบนี้มาใช้ นอกจากจะไม่ช่วยให้สังคมดีขึ้นแล้ว ยังสร้างปัญหา ถ่วงความเจริญของประเทศ สร้างวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยว มักง่าย เอาเปรียบ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องมีหรือไม่มีน้ำใจนะครับ มันอยู่ที่ความเคารพและให้เกียรติในการอยู่ร่วมกันล้วนๆ
** ความจนเป็นเพียงสถานะทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ข้ออ้างในการทำผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบผู้อื่น **
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/thestrategistTH/posts/2407444649504088
https://ruamsara.com/