“นายกฯ” ยัน “เรื่องนี้ให้ดีที่สุด” แก้ปัญหาสหรัฐฯตัด GSP หาวิธีพูดคุยกันต่อไป ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายของเขา
วานนี้ 28 ตุลาคม 2562 คุณวาสนา นาน่วม ได้โพสท์เฟซบุ๊ค รายงานความคืบหน้า กรณี ไทยถูกสหรัฐฯตัด GSP โดยได้โพสท์ระบุว่า
“นายกฯ” ยัน “เราพยายามทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด” แก้ปัญหา สหรัฐฯตัด GSP
เผย มีเวลาอีก 6 เดือน เราก็ต้องหาวิธีการพูดคุยกันต่อไป แต่ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายของเขา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าว ถึงกรณีสหรัฐอเมริกามีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร GSP กับสินค้าจากประเทศไทย ว่าเป็นเรื่องของสหรัฐฯ กฎหมายใครก็กฎหมายเขา
ซึ่งมีการทำงานของหน่วยงานเขา ของเราก็มีของเรา ตนจึงไม่อยากให้ไปคาดเดาว่าตัดตรงนี้เพราะอะไรอย่างไร
โดยรัฐบาลทราบมาอยู่แล้วว่าจะมีปัญหาตรงนี้ ที่ผ่านมาก็แก้ปัญหามาโดยตลอด กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ก็ได้มีการเจรจาต่อรองเยอะแยะ
โดยข้อสำคัญเราเจรจาอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องแก้ไขปัญหาภายในของเราด้วย
โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาแรงงาน เราก็จะต้องไปดูว่าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน บางอย่างมันมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับในประเทศของเรา ทั้งคนของเรา แรงงานของเรา แรงงานต่างด้าวในประเทศของเรา
ซึ่งเราพยายามเดินหน้าเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น วันนี้ผมคิดว่าจะคาดเดาไม่ได้ เหมือนเขาก็คาดเดาเราไม่ได้เหมือนกันว่าเราจะทำอะไรต่อไป จึงขึ้นอยู่กับกติกามันอยู่ตรงไหน
กติกาของเรา เราก็ทราบอยู่แล้วในหลายเรื่องด้วยกัน วันนี้อยากจะบอกว่าคงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องตื่นตระหนก หรือว่ากล่าวให้ร้ายกันไปมา ไม่เกิดประโยชน์
และเท่าที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงมาตนคิดว่าครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลก็ได้ทำมาโดยตลอด เพียงแต่ระยะเวลาที่ดำเนินการมาได้ทำหลายอย่างด้วยกัน
โดยเฉพาะกฎหมายแรงงานคือปัญหาหลักของเรา และเป็นกฎหมายของเราในประเทศของเรา ถ้าเราทำตามเขามากๆ เราจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่ากับเราเอง เพราะฉะนั้น เราต้องลดทั้งปัญหาภายในและภายนอกไปด้วยกัน
“วันนี้เท่าที่ได้ฟังตัวเลขต่างๆ ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก ทั้งหมด 500 กว่ารายการ เราใช้ไปประมาณ 300 กว่ารายการ อีก 100 กว่ารายการ เราก็ไม่ได้ใช้ของเขา
สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้เราต้องตื่นตัว แต่รัฐบาลตื่นอยู่แล้ว ภาคเอกชนก็ต้องตื่นตัวไปด้วยในการพัฒนาเรื่องเหล่านี้ รวมถึงการดูแลแรงงานในประเทศไทยด้วย เพราะถือเป็นสถานประกอบการ รัฐบาลไม่ได้ลงไปข้างล่าง
แต่ก็จะใช้กฎหมายในการตรวจตรา บังคับจับกุม ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก็เดินหน้าปรึกษากันในเรื่องนี้ ทุกคนต้องมาแก้ปัญหาร่วมกัน เราถ้าไปว่าคนนู้น เดี๋ยวคนโน้น ก็ว่ากลับมา ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เราต้องแก้สิ และมีการส่งผู้แทนไปเจรจามาโดยตลอดในทุกเรื่อง ช่วงที่ผ่านมาเราเจรจามาก
ในหลายเรื่องที่เป็นปัญหาในอดีต เขาคุยกันหมดแล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าประเทศเขาจะยินยอมแค่ไหน อย่างไรก็ตาม
เรื่องนี้มีเวลาอีก 6 เดือน เราก็ต้องหาวิธีการพูดคุยกันต่อไป ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายของเขา กฎหมายใครก็ต้องกฎหมายใคร แล้วก็อย่าไปคาดเดาว่าเกี่ยวกับเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันคนละเรื่อง เข้าใจไหม อย่าให้เป็นปัญหาทางการเมืองอีกแล้วกัน
และอย่าพูดให้ทุกอย่างมันเลวร้ายไปกว่าเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องมีอยู่ คู่ค้าสำคัญของเราเหมือนกัน จะบอกว่าอย่างนู้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของเขา นโยบายของเราก็คนละอันกัน
แต่จะทำอย่างไรให้ร่วมมือกันได้ หยุดเถอะเรื่องพวกนี้ ไม่เกิดประโยชน์หรอก มันจะเสียหายมากกว่าเดิม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่ามีเวลาอีก 6 เดือนที่จะมีผลบังคับใช้ การเจรจาจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเราทำได้มากน้อยแค่ไหน บางอย่างเราทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องศึกษาดู มีหลายเรื่องก็ต้องไปดูว่าทำไมเราถึงทำตรงนี้ไม่ได้ ก็ไปว่ากันต่อไป
เมื่อถามอีกว่าถึงอย่างไรเราก็จะยึดกฎหมายเรา ไม่โอนอ่อนผ่อนตามใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “กฎหมายเรา โอนอ่อนผ่อนตามใคร ตรงนั้นเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎหมายกับประเทศมหาอำนาจ เราก็ต้องดีลกัน ว่าจะทำอย่างไร เรื่องนั้นเรื่องนี้ บางอันเป็นกฎหมายพหุภาคีเกี่ยวข้องกับหลายประเทศด้วยกัน บางอันเป็นกฎหมายทวิภาคี กฎหมายเขา กฎหมายเรา จะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร แต่ถ้าเขาตั้งกฎเกณฑ์ไว้สูง เราก็ลำบากหน่อย เพราะเรากำลังพัฒนาเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เรื่องนี้โดนกันหลายประเทศ
อย่างอินโดนีเซียก็ต้องดูว่าเราเสียประโยชน์เท่าไหร่ เราเสียภาษีเพิ่มขึ้นมาประมาณ 50 ล้านเหรียญ”
เมื่อถามว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หากพบกับผู้นำสหรัฐฯ หรือผู้แทนจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนต้องคุยกันอยู่แล้ว อาจจะในเวที
เมื่อถามว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าทางสหรัฐฯ จะมีท่าทีเช่นนี้ออกมา ได้มีการเตรียมมาตรการไว้แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้มัน 9 ปีมาแล้ว สิทธิประโยชน์ทุกอย่างเราก็ต้องมาดู เอามาทบทวนหมด เพราะทุกอย่างเรากำลังโตขึ้น เมื่อโตขึ้นก็มีตัดสิทธิพิเศษเหล่านี้ เช่นประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนาเขาให้สิทธิตรงนั้นมา 9 ปีแล้ว ถ้าเขาตัดสิทธิอย่างนี้ เราโตเกินไปหรือไม่ โตเร็วแล้วใช่ไหม รายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้นใช่หรือไม่ และต้องดูจีดีพีของเราด้วย เพราะเขาดูตรงนี้
“ผมคิดว่าเราคุยกันได้ อะไรที่เป็นสิทธิประโยชน์ วันนี้เขาคืนมา 7 อย่างไม่ใช่หรือ ของเก่ามีตั้ง 500 กว่ารายการ เราใช้ไปแค่ 300 กว่ารายการ ส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้ แล้วมูลค่าเหล่านี้ก็ไม่มากนัก แต่ข้อสำคัญต้องไปดู ว่าสินค้ามีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง ความเสี่ยงน้อยจะไปแก้กันอย่างไร จะดีลกันอย่างไร
ขณะเดียวกัน ยังไงเราก็ต้องคบค้าสมาคมกันต่อไป มีการแลกเปลี่ยนซื้อของซึ่งกันและกัน บางทีการเมืองกับเศรษฐกิจมันก็เกี่ยวข้องกันหมด เราก็อย่าให้มันแย่ลงไปก็แล้วกัน อย่าไปยึดโยงกับอย่างอื่นแล้วกัน อย่าไปคาดเดานี้นู้น พอดีมีเรื่องนี้อยู่ ก็กลายไปตรงนู้น มันเป็นห้วงระยะเวลาที่ออกมาตามกำหนดของเขา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/WassanaJournalist/posts/2619129441478831
Wassana Nanuam