เปิดฎีกา "บิลลี่ พอละจี" ตั้งใจเขียนถึง "ในหลวง ร.9" ขอพระองค์ช่วยชาวกะเหรี่ยง แต่สุดท้ายไม่มีโอกาสได้ส่ง...
เปิดข้อความในฎีกา บิลลี่ พอละจี ตั้งใจเขียนถึง ในหลวง รัชกาลที่ 9 หวังเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวกะเหรี่ยง หลังถูกเผาบ้านไล่ที่ แต่กลับมาหายตัวไปเสียก่อน
เมื่อวานนี้ ทวิตเตอร์ @wNh1qrimDiSkTFW ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มีนอ ภรรยาของบิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ ชายหนุ่มกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายกะเหรี่ยง ผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลอยบนแห่งผืนป่าแก่งกระจาน หรือที่รู้จักกันในนาม "ใจแผ่นดิน" ที่ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสำนักข่าวหลังการหายตัวไปของสามี ก่อนจะมาศพเหลือเพียงโครงกระดูก
โดย มีนอ เปิดเผยว่า สามีได้มีการเขียนจดหมายไว้ 1 ฉบับ เขาหวังว่าจะถวายฎีกาฉบับนี้ให้ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่วังไกลกังวล ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะนัดอ่านคำไต่สวนปู่คออี้ และผู้ฟ้องคดี 6 คน ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยบน หลังถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้านไล่ที่
ทว่า บิลลี่กลับมาหายตัวไปเสียก่อนในวันที่ 17 เมษายน 2557 มีนอจึงเป็นคนทำหนังสือถวายฎีกาต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 แทน เพื่อขอสิทธิทำกินในที่ดินที่อยู่กันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
ทั้งนี้ เนื้อหาคร่าว ๆ ในฎีกาที่บิลลี่ตั้งใจเขียนเพื่อถวาย ระบุว่า พวกเราชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน อยู่อาศัยในพื้นดินผืนนี้มานานตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย หลายร้อยปี พวกเราดำรงอยู่ได้ด้วยการทำไร่ข้าวหมุนเวียน ใช้ชีวิตแบบพอมีพอกิน แต่อยู่ดี ๆ ผืนดินที่เป็นบ้านของพวกเรากลับถูกทางการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยที่พวกเราไม่รู้เรื่อง ไม่เคยมีใครมาบอก
จนปี 2539 เจ้าหน้าที่บังคับให้พวกเราย้ายลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง มีบางส่วนที่ยินยอมทำตาม และบางส่วนไม่ยินยอม โดยทางการอ้างว่าจะหาที่อยู่ ที่ทำกินให้ครอบครัวละ 7-8 ไร่ และจะช่วยเหลือเรื่องอาหารเป็นเวลา 3 ปี แต่เอาเข้าจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะที่ดินที่ว่าทางการไปเอามาจากชาวบ้านโป่งลึก ที่เข้าอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ชาวบ้านโป่งลึกไม่พอใจ รวมถึงเรื่องอาหารที่พอเอาเข้าจริง ก็ช่วยเหลือเพียง 3 เดือน หลังจากนั้นไม่มี
ภาพจาก เฟซบุ๊ก รักจง เจริญ
พวกเราเดือดร้อนลำบากมาก ไม่มีข้าวกิน ต้องดิ้นรนออกไปหางานทำในเมือง สุดท้ายก็ถูกโกงค่าแรง ถูกจับเพราะคิดว่าเป็นต่างด้าว เนื่องจากพวกเราไม่มีบัตรประชาชน พวกเราทนอยู่ได้ 2 ปี จึงตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่ที่เดิม เพราะที่นั่นอุดมสมบูรณ์ แต่กลับถูกขับไล่อพยพด้วยการทำลายบ้าน ยุ้งฉางข้าว และความเชื่อทางวัฒนธรรมประเพณี ด้วยการกระทำที่รุนแรง ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 จนปัจจุบัน...
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
อ้างอิงจาก: http://www.baterk.com/