เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด Bionic Eyes ฝังชิปเข้าไปในประสาทตา เพื่อแปลงสัญญาณไฟฟ้าให้ตรงกับสมอง
“หลังจากที่ผมมืดบอดมานาน 20 ปี วันนี้ผมก็กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง”
นี่คือความมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจริงกับ แอนโธนี่ แอนดรีโอโทลลา ชายชาวสหรัฐฯที่ป่วยเป็นโรคจอตาเสื่อมประเภท Retinitis Pigmentosa (PR) จึงทำให้เขาต้องสูญเสียการมองเห็นตั้งแต่เป็นวัยรุ่น แต่ตอนนี้เขาสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้งด้วย อุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Bionic Eye
“แม้ว่าตาของผมจะไม่ได้บอดสนิท แต่มันก็แทบใช้งานไม่ได้ ผมเห็นสิ่งต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากคนปกติ ก้อนเมฆ รถบนถนน ทุกอย่างกลับบิดเบี้ยวและกลายเป็นสีดำ” แอนโธนี่ อธิบายถึงอาการป่วยของตน
แต่หลังจากที่เขาได้ทดลองสวมใส่ Bionic Eye เขาก็พูดว่า “ผมได้ความหวังกลับคืนมา ผมต้องทำใจอยู่นานที่จะยอมรับว่าต้องสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิต และถึงแม้การมองเห็นในครั้งนี้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่ผมเชื่อว่าถ้าผมมีชีวิตอยู่นานกว่านี้ ผมจะสามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติได้แน่นอน”
เทคโนโลยี “Bionic Eyes” สร้างขึ้นโดยบริษัทในปารีสที่ชื่อ Pixium Vision เป็นแว่นตาที่มีกล้องติดอยู่ ซึ่งภาพที่ถ่ายจากกล้องจะถูกส่งไปยังไมโครชิปที่ฝังอยู่ในจอประสาทตาของผู้สวมใส่ และสัญญาณนี้ก็จะถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่สมองสามารถเข้าใจจึงทำให้ผู้ที่สวมมองเห็นภาพนั้นได้
ที่ผ่านมามีการทดลองใช้แว่นตากับอาสาสมัคร โดยผู้เข้าร่วมต่างสูญเสียการมองเห็นก่อนที่จะฝังไมโครชิป พอหนึ่งปีหลังจากผ่าตัดฝังชิปเข้าไป ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สามารถอ่านตัวหนังสือในระดับหนึ่งได้ บางคนสามารถอ่านได้เฉพาะตัวอักษร ในขณะที่บางคนสามารถอ่านเป็นคำได้
ภาพที่สร้างขึ้นโดยชิปที่ถูกฝังลงไปนั้นมีความคมชัดเพียง 378 พิกเซล แม้ว่าจะห่างไกลจากการมองเห็นปกติแบบคนทั่วไปในค่าสายตาในระดับ 20/20 แต่ก็ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการช่วยให้คนตาบอดสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
ความหวังของ Bionic Eyes คือการให้มันสามารถรักษาผู้ป่วยแบบต่าง ๆ เช่น โรคจุดภาพชัดของจอตาเสื่อม ที่ปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อจอประสาทตาที่รับผิดชอบในพื้นที่ส่วนกลางของการมองเห็น ส่งผลให้คนที่เป็นโรคดังกล่าว จะเห็นจุดส่วนกลางเบลอหรือไม่เห็นอะไรเลย
แต่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีนี้ไม่สามารถใช้กับคนที่เกิดมาตาบอดตั้งแต่กำเนิดได้ เพราะมันต้องทำงานร่วมกับเส้นประสาทตาที่พัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ซึ่งแผนต่อไปคือการช่วยให้คนที่ตาบอดตั้งแต่กำเนิดสามารถมองเห็นได้ จะเริ่มทดลองในปี 2020 ที่จะถึงนี้ครับ
Fact – บางคนเกิดมาพร้อมกับตาทั้งสองข้างที่มีสีไม่เหมือนกัน ซึ่งเรียกว่าโรค Heterochromia Iridum เป็นผลมาจากค่าเม็ดสีเมลานินในดวงตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่มักได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นผ่านพันธุกรรม แต่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากอุบัติเหตุได้เช่นกัน