หยุดทำร้ายกันบนโลกออนไลน์ หยุด Cyber Bullying และ Fake News
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรื่องการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ด้วยการใส่ร้ายป้ายสี คอมเมนท์/โพสต์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย การแชร์ข่าวปลอม การโฆษณาชวนเชื่อ ฯลฯ แพร่ระบาด จนกลายเป็นวัฒนธรรมในสังคมออนไลน์ไปแล้ว หลาย ๆ ภาคส่วน เช่น ภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา พยายามสร้างความตระหนักรู้ เพื่อหยุดสิ่งเหล่านี้ แต่ดูเหมือนเป็นไปได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่เสพติดกับวิถีชีวิตในแบบนี้ไปแล้ว
แต่เรื่องประเภทนี้หากใครไม่เจอกับตัว ก็ไม่รู้สึก ซึ่งการจะหยุดเรื่องพวกนี้ได้ ต้องหยุดที่พวกเราทุกคน เช่น ไม่หลงเชื่อข่าวทันทีที่เห็น ต้องใช้สติ วิจารณญาณพินิจพิเคราะห์เสียก่อน หรือดูจากแหล่งที่มาว่าสมควรเชื่อหรือไม่ หากเป็นแหล่งข่าวที่ไม่คุ้นเคย ไม่เป็นทางการ ไม่ใช้ url ที่น่าเชื่อถือก็อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งไลค์ อย่างเพิ่งเอามาโพสต์ต่อ หรือก่อนจะคอมเมนท์ก็ต้องคิดก่อน อย่าเพิ่งด่า ตำหนิ ปรามาส ไปในทันทีด้วยอารมณ์ร่วม อย่างน้อยลองนึกในมุมกลับก่อนว่า ถ้าเป็นเราโดนบ้างจะรู้สึกอย่างไร เรามีสิทธิอะไรไปตัดสินเขา
ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา หัวข้อ “Bullying & Fake News ทันเกมสารพัดพิษออนไลน์สังคมไทย” โดยเชิญตัวแทนสื่อสร้างสรรค์ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง และนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยสร้างคามตระหนักรู้หรือร่วมแก้ไขปัญหา Cyber Bullying และ Fake News ตัวอย่างเช่น
ภาพยนตร์โฆษณาเพื่อสังคม ที่ชนะการประกวดในโครงการ True Young Producer Awards ในหัวข้อ “Stop Cyberbullying หยุดทำร้ายกันบนโลกออนไลน์” ให้แง่คิดที่ดีมาก ๆ กับเรื่องการทำร้ายกันบนอินเทอร์เน็ต
การรณรงค์สร้างจิตสำนึกผ่านเสียงเพลง “กดไลค์ กดแชร์” ขับร้องโดย ศิลปินทรู เอเอฟ
นอกจากนี้ พี่ปั่น ไพบูลเกียรติ เขียวแก้ว ยังได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาเตือนสติสังคมกันให้คิดตามด้วยกับเพลง “คิดก่อน Like (ร้าย)”
นอกจากนั้นยังมีการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างกลุ่มทรูกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดตั้งโครงการ “ชัวร์แล้วแชร์ได้” โดยมีสมาชิก 18 สำนักข่าวที่เป็นสื่อหลักและมีความน่าเชื่อถือ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ จนถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ช่วยตรวจสอบ คัดกรอง ข้อมูลบนโลกออนไลน์ พร้อมเปิดโอกาสให้ชาวเน็ตส่งข้อมูลให้ตรวจสอบได้ด้วยผ่าน www.sonp.or.th
แหล่งที่มา: