สบส. ชวนประชาชน รับผิดชอบต่อสังคม ร่วมมือ ร่วมใจ ป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยสุขบัญญัติ ปฏิบัติได้ทุกวัน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ชวนประชาชนร่วมมือ ร่วมใจ ป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยการมีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสังคมที่ดี ด้วย 3 เก็บ ปฏิบัติได้ไม่ยาก เพื่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ตามหลักสุขบัญญัติปฏิบัติได้ทุกวัน
นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน ฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก จากสถิติของกรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2562 (ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2562) มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก สะสมรวม 31,843 ราย เสียชีวิต 48 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.15 โดยส่วนใหญ่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในกลุ่มอายุ 5-14 ปี ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันในการป้องกันไข้เลือดออกที่อาจ เกิดขึ้นได้
นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา แนะประชาชนนำหลักสุขบัญญัติข้อที่ 10 มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม มาใช้ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก อันเป็นการทำความดีด้วยจิตสาธารณะที่จะส่งผลดีทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และรวมถึงคนในชุมชนด้วย โดยการนำมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ มาใช้ในการปฏิบัติเพื่อการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ดังนี้ 1) เก็บบ้าน ด้วยการเก็บข้าวของเครื่องใช้ในบ้านให้เป็นระเบียบ และปลอดโปร่ง ไม่อับทึบ ไม่ให้ยุงลายเกาะพักในมุมมืดตามสิ่งของต่างๆ 2) เก็บขยะ เศษภาชนะที่ทำให้น้ำขัง โดยเดินสำรวจรอบๆ บ้าน ชุมชนหรืออาคาร หากพบให้ทิ้งทันที 3) เก็บน้ำ ด้วยการปิดภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ หรือโรยผงทรายอะเบท ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ ประชาชนควรป้องกันการถูกยุงกัด โดย ทายากันยุง นอนในมุ้ง ไม่นอนถอดเสื้อ เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก ซึ่งประชาชนสามารถปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติได้ทุกวัน เพื่อการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการมีสำนึกต่อส่วนรวมในการช่วยกันปฏิบัติตามหลัก 3 เก็บที่กล่าวมาก็จะสามารถช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้งของตนเอง ครอบครัว และสังคมได้
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกผ่านช่องทางต่างๆ ได้ทั้งเว็บไซต์คลังความรู้สุขภาพ (healthydee.moph.go.th) เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ