ส่งกำลังใจ!! ลุงตู่ ติดโซเชียลหนัก ไล่อ่านทุกคอมเมนต์ เคยอารมณ์เสีย จนหนีสวดมนต์
ในงานสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “Hate Speech บนโลกออนไลน์ บาดแผลร้ายที่ใครต้องรับผิดชอบ” โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดขึ้น ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า Hate Speech รุนแรงกว่าการดูถูก หมิ่นประมาท เพราะทำให้เกิดการแบ่งแยก ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อบุคคลหรือกลุ่มคน บนอัตลักษณ์ร่วม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ เพศสภาพ ความพิการ หรือแม้แต่อุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีลักษณะเป็นลัทธิล่าแม่มดบนโลกออนไลน์ การขุดคุ้ยประวัติ มาเผยแพร่ให้เกิดความเกลียดชัง ให้ร้ายและปลุกเร้าความรุนแรง
สำหรับงานวิจัย เมื่อปี 2553 มีการใช้ Hate Speech ในทางการเมือง สร้างความเกลียดชังในหลากหลายระดับ ทั้งปลุกกระแสให้เกิดความแตกแยกของแต่ละกลุ่ม จนไปถึงความรุนแรง ส่วนแนวทาวป้องกันและแก้ไขปัญหาต้องดูว่ามีการใช้ Hate Speech ในระดับไหน ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่นำไปสู่ควาทรุนแรงก็ควรให้สื่อกำกับกันเอง หรือสร้างความรับรู้และความเข้าใจในสังคม
น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เผยว่า ที่ทำข่าวการเมือง และทหาร มีการใช้ Hate Speech อยู่ตลอด แต่ในแง่ดีของโซเชียลก็เป็นที่ระบายของสังคม ไม่ค่อยมีผู้ชุมนุมออกมาบนท้องถนน ส่วนหนึ่งเพราะอากาศร้อนด้วย ยกเว้นเป็นเรื่องที่ใหญ่จริงๆ เหมือนกับที่ฮ่องกงที่มีผู้ชุมนุมออกมาคัดค้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชอบดูข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมาก และไล่อ่านในคอมเมนต์แล้วอารมณ์เสีย ติดโซเชียลหนักจนถึงขนาดต้องสวดมนต์ แต่สุดท้ายก็ยังอ่าน เพราะบอกว่า ไม่อ่านก็โง่ เชื่อหมดก็บ้า” วาสนา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักอัยการสูงสุด บอกว่า Hate Speech ในเมืองไทยส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แตกต่างจากต่างประเทศที่มีความรุนแรงมากกว่าประเทศไทยมากทั้งในด้านการเหยียดสีผิว เหยียดศาสนาและความรุนแรงทางเพศ ในทางกฎหมายยิ่งเพิ่มโทษแรงยิ่งทำให้เกิดการใช้ Hate Speech ในทางรุนแรงมากขึ้น ทางออกในการแก้ปัญหานี้ต้องมีเครื่องมือที่ทำให้สังคมตระหนักว่ากำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ซึ่งภาครัฐต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา.