ตอบคำถามราคาน้ำมัน จากคลิปที่เป็นไวรัลอยู่ในขณะนี้
ลิ้งก์ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=434952986928501&id=100012414097284
จากที่ผมได้เลื่อนเฟสผ่านไปเจอคลิปนึงที่เพื่อนๆแชร์กันมาหน้าฟีด เป็นคลิปที่โพสตั้งแต่เมื่อ พฤษภาคม ปีที่แล้ว ตอนนี้กลับมาถูกแชร์บนโลกออนไลน์อีกครับ เลยจะมาตอบข้อสงสัยเป็นประเด็นๆไปจากที่ได้ไปศึกษาเรื่องราคาน้ำมันมา ผิดถูกประการใดเพื่อนๆช่วยชี้แนะด้วยนะครับ
จากประเด็นในคลิป จับหัวข้อที่เจ้าของคลิปสงสัยได้ 3 ประเด็นคือ
- ราคาน้ำมันไทยทำไมถึงแพง โครงสร้างน้ำมันไทยเป็นอย่างไร
- ราคาน้ำมันไทยเทียบประเทศอื่นๆ ถูกหรือแพง
- ทำไมประเทศไทยผลิตน้ำมันได้ ใช้ไม่พอ แต่ยังส่งออก
เริ่มจากประเด็นแรกเรื่อง ราคาน้ำมัน
ต้องเริ่มจากโครงสร้างราคาน้ำมันก่อน ราคาน้ำมันที่เราใช้กัน มีโครงสร้างราคา 4 ส่วนหลัก คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกจากโรงกลั่น ภาษีต่างๆเงินสมทบกองทุนของรัฐบาล และ ค่าการตลาด
- ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกจากโรงกลั่น
คือ ราคาที่น้ำมันออกจากโรงกลั่นเพียวๆ โดยราคาในส่วนนี้จะอ้างอิงตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศจึงต้องเน้นการนำเข้าเป็นหลัก เพราะฉะนั้นทำให้ราคาส่วนนี้จะขึ้นลงตามตลาดโลก และ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินด้วย - ภาษี ส่วนที่เก็บเข้าสู่รัฐ ประกอบด้วย
- ภาษีสรรพสามิต - คิดเมื่อน้ำมันเมื่อออกจากโรงกลั่นหรือคลังน้ำมัน เก็บในอัตราคงที่
- ภาษีเทศบาล - เรียกเก็บเพื่อบำรุงท้องถิ่น คิดจาก 10% ของภาษีสรรพสามิต
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม - คิดจากราคาน้ำมันที่ขาย ณ สถานีบริการน้ำมัน
- เงินกองทุนน้ำมันต่างๆ
กองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย
- เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง - กองทุนที่รัฐเก็บเงินเพื่อนำไปสนับสนุนหรืออุดหนุนราคา เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันไว้ โดยใช้เงินกองทุนมาชดเชย และเมื่อราคาน้ำมันลดลงจึงเก็บส่วนที่ชดเชยไปกลับคืนมา ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายราคาน้ำมันในราคาที่สูงเกินไป
- เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน - กองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบาย อนุรักษ์พลังงาน โดยเงินส่วนนี้จะเก็บไปสนับสนุนส่งเสริมพลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ
ปัจจุบันเท่าที่ทราบเงินกองทุนพลังงานกำลังอุดหนุนราคาน้ำมัน E20 E85 ที่มีส่วนประกอบเอทานอลรวมถึงไบโอดีเซลซึ่งเป็นผลผลิตของเกษตรกร และ อาจมีการการโยกเงินมาชดเชยราคาแก๊สหุงต้ม LPG ในบางครั้ง
- ค่าการตลาดของโรงกลั่นและผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน
ในส่วนนี้จะเป็นค่าดำเนินการบริหารงานของบริษัทค้าน้ำมันทั้งหลาย อาทิ
- ค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันไปยังสถานีบริการ
- ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการคลังน้ำมัน
- ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไป
- ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
- กำไรในการขายส่งและขายปลีก
- อื่นๆ
สรุป ราคาน้ำมันแต่ละชนิดก็ขึ้นอยู่กับราคาขายหน้าโรงกลั่น บวกด้วยภาษีหรือกองทุนซึ่งน้ำมันแต่ละชนิดจะจัดเก็บไม่เท่ากันตามนโยบายของทางรัฐที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมชนิดใด ส่วนค่าการตลาดคือค่าการดำเนินงานของบริษัทจัดจำหน่ายรวมถึงค่าขนส่งต่างๆด้วย
- ต้นทุน - ส่วนของโรงกลั่น
- กองทุนและภาษี - ส่วนของรัฐบาล
- ค่าการตลาด - บริษัทจัดจำหน่ายน้ำมัน
ประเด็นที่สองราคาน้ำมันไทยเทียบประเทศอื่นๆ ถูกหรือแพง?
จากในคลิปอ้างถึงราคาน้ำมันของพม่า หากจะเทียบราคาน้ำมันกับต้องกลับไปที่โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศนั้นๆอีก ของพม่าจากสภาพเศรษฐกิจอัตราการใช้น้ำมันของพม่าเทียบกับชาติอื่นในอาเซียนยังถือว่าน้อยมาก ทำให้รัฐเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำได้ อ้างอิงจากกระทู้พันทิพ https://pantip.com/topic/37672928 ที่พูดถึงราคาน้ำมันพม่า
ส่วนราคาน้ำมันของชาติอื่นๆในอาเซียน พอเข้าไปดูราคาแล้ว ก็พบว่าไทยเราอยู่ระดับกลางๆ ไม่ได้สูงหรือต่ำแต่อย่างใด สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ ยังใช้น้ำมันบางชนิดแพงกว่าเราอยู่ ส่วนพม่าโดดลงไปเลยเป็นประเทศเดียวในรอบๆเราที่ใช้ราคาเกือบเท่าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างมาเลเซียและบรูไน
จากภาพเปรียบเทียบราคาน้ำมัน แต่ละประเทศจะมีนโยบายโครงสร้างราคาจากภาครัฐที่ต่างกันทั้งเรื่องกองทุนหรือภาษี ทำให้การกำหนดราคาในแต่ละประเทศต่างกันไปด้วย
เทียบราคาขายปลีกน้ำมันไทยกระประเทศอื่นๆทั่วโลก
ประเด็นสุดท้ายทำไมประเทศเราผลิตน้ำมันได้ ใช้ไม่พอ แต่ก็ยังส่งออก?
การนำเข้าส่งออกน้ำมันจริงๆแล้วเป็นเรื่องของภาคเอกชน เพราะรัฐจะจัดเก็บรายได้ในรูปแบบภาษีที่เก็บกับโรงกลั่นเท่านั้น จากข้อมูลเดือน ม.ค.-มี.ค. 62 ประเทศไทยมีปริมาณการใช้น้ำมันทั้งสิ้น 149 ล้านลิตรต่อวัน กำลังการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปรวมทุกชนิด 188 ล้านลิตรต่อวัน การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 13.2 ล้านลิตรต่อวัน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป 28.5 ล้านลิตรต่อวัน
ที่ตัวเลขเป็นแบบนี้เราต้องเข้าใจการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นก่อน ในการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นเราไม่สามารถกำหนดว่าเราอยากได้ปริมาณน้ำมันชนิดต่างๆ กี่เปอร์เซ็น ทำให้ต้องใช้น้ำมันดิบจำนวนมากกว่าการต้องการในการกลั่น เมื่อกลั่นออกมาแล้วสมมุติกลั่นออกมาได้เบนซิน 50 ล้านลิตร ดีเซล 30 ล้านลิตร แต่ปริมาณการใช้งาน เบนซิน 40 ล้านลิตร ดีเซล 70 ล้านลิตร โรงกลั่นก็จะก็ต้องนำเข้าส่วนที่ขาดเพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานในแต่ละวัน และส่งออกน้ำมันส่วนที่เรากลั่นได้เกินเพื่อความคุ้มค่าทางธุรกิจ Economies of Scale
ส่วนการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศไทยนั้น เนื่องจากน้ำมันที่ขุดได้ในพื้นที่ประเทศไทยบางส่วนปนเปื้อนสารปรอททำให้ไม่สามารถกลั่นกับโรงกลั่นบางแห่งในประเทศที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อแยกสารปรอท จึงต้องส่งออกไปยังประเทศที่มีความสามารถในการกำจัดสารปรอทดังกล่าว ดีกว่าสร้างโรงกลั่นเฉพาะแห่งใหม่ซึ่งต้องใช้เงินเอกชนจำนวนหลายหมื่นล้าน คงไม่มีเอกชนรายใดยอมเสี่ยงเพื่อรายได้เพียงเล็กน้อย การส่งออกไปจึงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ส่วนราคาที่ส่งออกทำไมถึงถูกกว่าก็เพราะเป็นราคาหน้าโรงกลั่นไม่ใช่เราคาปลีกที่เก็บกองทุนหรือภาษีเพิ่มเข้าไปนั่นเองครับ