โทษของ “กระเทียม” กับอันตรายแฝงที่คุณยังไม่เคยรู้!
หากจะพูดถึงสมุนไพรไทย ที่มีสรรพคุณมากมาย ทั้งรักษาโรค บำรุงเลือดและแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ดี หลายคนของนึกถึง “กระเทียม” สมุนไพรที่อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน อย่างที่เกริ่นกันมาว่ากระเทียมไม่เพียงแต่เป็นวัตถุดิบที่ช่วยชูรสชาติของอาหารไทยเท่ากัน แต่สรรพคุณทางยาก็ครบครัน ทำให้หลายคนชื่นชอบการรับประทานกระเทียม ไม่ว่าจะเป็นกระเทียมสด กระเทียมเจียว กระเทียมดอง หรือแม้กระทั่งสารสกัดที่เป็นน้ำมันกระเทียม และกระเทียมแบบแคปซูล อย่างไรก็ตามแม้ “กระเทียม” จะมีประโยชน์มากมาย แต่หากรับประทานมากจนเกินไปก็ก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
วันนี้เราชาวสุขภาพดี...ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโทษของการรับประทานกระเทียมมากเกินไปมาฝาก เชื่อได้ว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านที่เคยรับประทานกระเทียมทุกวัน วันละหลายกรัม อาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมกันแทบไม่ทันทีเดียว!
ทานกระเทียมมากไป ก็เกิดโทษได้นะ
1. กระเทียมทำให้มีกลิ่นตัว
เนื่องจากกระเทียมเป็นสมุนไพรทีมีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีกลิ่นฉุนๆ เย็นๆ ดังนั้นการรับประทานกระเทียมมากๆ จะทำให้มีกลิ่นกระเทียมติดตัว โดยเฉพาะกลิ่นปาก เนื่องจากในกระเทียมมีสารเคมี‘อัลลิอิน’ (Alliin) อยู่ในปริมาณมาก สังเกตได้ว่าเมื่อกระเทียมถูกหั่น สารดังกล่าวจะระเหยออกมาและเมื่อสารดังกล่าวทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ในปากจะทำให้เกิดกลิ่นฉุน ดังนั้นหลังรับประทานกระเทียมทุกครั้งควรทำความสะอาดช่องปากให้สะอาดด้วยการแปรงฟันหรือใช้น้ำยาบ้วนปาก
2. กระเทียมทำให้เกิดอาการร้อนใน
กระเทียมถือเป็นสมุนไพรที่ให้ความเผ็ดร้อน เมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองทั้งในช่องปากและช่องท้อง โดยทำให้เกิดอาการร้อนในตามมา หรือในบางรายที่ไม่ได้รับประทานอาหารรองท้องก่อนจะทำให้เป็นกระเพาะอักเสบ ปวดท้อง แน่นท้องและมีลมในช่องท้องได้
3. กระเทียมส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์
จากการรายงานพบว่าน้ำมันหอมระเหยในกระเทียมมีฤทธิ์ทำลายอสุจิได้ โดยเมื่อทดลองกับหนูตะเภาและหนูแรททำให้ทราบว่าอสุจิไม่แข็งแรง เมื่อเปรียบเทียบกับปฏิกิริยาในร่างกายมนุษย์อาจสรุปได้ว่าทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากหรือเป็นหมัน แต่จากรายงานไม่พบว่าทำให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อสัตว์ทดลองตัวเมีย ดังนั้นจึงไม่เพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตรของหญิงตั้งครรภ์แต่อย่างใด
4. กระเทียมอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง
จากการทดลองของสำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าเมื่อหลังฉีดน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากกระเทียมเข้าในตัวสัตว์ทดลองเพื่อศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน พบว่าสัตว์ทดลองมีอาการมึนงง กระสับกระส่าย และเมื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันหอมระเหยจากกระเทียมพบว่าทำให้สัตว์ทดลองตาย ดังนั้นความรุนแรงของอาการแพ้กระเทียมในมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยหากรับประทานกระเทียมแล้วเกิดอาการคัน มีผื่นขึ้นตามตัว หรือมีอาการแน่นหน้าอก ให้หยุดรับประทานทันทีและรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียด
5. กระเทียมส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด
ตามหลักโภชนาการอาหารได้จัดกระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการต้านการแข็งตัวของเลือด ยับยั้งการเกาะกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดเหลวและแข็งตัวช้า ดังนั้นการรับประทานกระเทียมจะช่วยลดอาการหลอดเลือดอุดตันและโรคหัวใจได้ดี แต่ในรายที่เลือดจางหรือเลือดแข็งตัวช้าอยู่แล้ว การรับประทานกระเทียมเข้าไปยิ่งทำให้เลือดจางและแข็งตัวช้าเพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่ามีชายอายุ 23 ปี ที่ไม่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงภาวะโรคหัวใจมาก่อน แต่กลับมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลังจากรับประทานกระเทียมในปริมาณสูงและก่อนมีอาการ ชายรายดังกล่าวเคยมีอาการเจ็บหน้าอก 2 ครั้ง เมื่อรับประทานกระเทียมเป็นจำนวนมาก
จะเห็นได้ว่า แม้ “กระเทียม” จะมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายเพียงใด แต่หากรับประทานมากเกินไปก็ทำให้เกิดโทษได้เช่นเดียวกัน โดยอันตรายที่ว่านี้ไม่เพียงเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในเท่านั้น แต่ยังเกิดได้กับอวัยวะภายนอกอย่างผิวหนัง ถ้าหากเราทำกระเทียมหรือน้ำมันหอมระเหยของกระเทียมมาทาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายเพื่อลดเลือนรอยสิว หรือแผลเป็นตามที่เห็นในอินเทอร์เน็ต จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบและเกิดรอยไหม้เพิ่มได้
ดังนั้นการบริโภคกระเทียมในแต่ละครั้งจำเป็นต้องใส่ใจปริมาณให้มากๆ และต้องสังเกตุตนเองเกี่ยวกับอาการแพ้ รวมไปถึงต้องหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวหรือมีภาวะเสี่ยงในการรับประทานกระเทียมหรือไม่ เพียงเท่านี้รับรองว่าการรับประทานกระเทียมของคุณจะได้ประโยชน์เต็มร้อย โดยไม่มีผลข้างเคียงหรือได้รับโทษจากกระเทียมแล้วล่ะค่ะ