ร้อนนี้สำคัญไฉน ช่วงเวลานี้ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาอีกช่วงหนึ่งของ เจ้าของสุนัข ที่จะต้องระมัดระวังกันมากเป็นพิเศษ
ร้อนนี้สำคัญไฉน
ช่วงเวลานี้ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาอีกช่วงหนึ่งของ เจ้าของสุนัข ที่จะต้องระมัดระวังกันมากเป็นพิเศษ จากสภาวะอากาศที่ร้อน และสามารถทำให้สุนัขเกิดภาวะ Heat Stroke ได้ ทั้งนี้เนื่องจาก การระบายความร้อนของสุนัขจะใช้การระบายออกทางลมหายใจ และต่อมเหงื่อที่มีตรงบริเวณอุ้งเท้า ดังนั้นเมื่ออากาศร้อนมาก การระบายความร้อนอาจเกิดขึ้นได้ไม่ทันท่วงที ทำให้เกิดภาวะ Heat Stroke ตามมาได้ และนำมาซึ่งการเสียชีวิตของสุนัข ได้ หากเราแก้ไขหรือทำการช่วยเหลือได้ไม่ทันท่วงที
อาการเบื้องต้นที่เราควรระวังคือ สุนัขจะมีอาการหอบหายใจรุนแรงมาก น้ำลายไหลยืด สีเหงือกหรือ ลิ้น จะพบว่ามีสีแดงเข้มมากกว่าปกติ หลายตัวเมื่อร่างกายสุนัขเอง ไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ อุณหภูมิในร่างกายจะเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากได้วัดอุณหภูมิในร่างกายจะพบว่า สุนัขมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ มากกว่า 39.4 องศาเซลเซียสขึ้นไป ในบางราย อุณหภูมิสามารถขึ้นไปถึง 106 องศาฟาเรนไฮต์เลย และจะเริ่มมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบอื่นๆ ในร่างกาย เช่น พบมีอาเจียน ท้องเสีย สูญเสียการทรงตัว มึนงง เดินโซเซ ระบบการทำงานของเลือดล้มเหลว เริ่มมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ผนังลำไส้ด้านใน ทำให้ถ่ายออกมามีเลือดปน หลายๆตัวพบมีอาการชัก และเสียชีวิตในที่สุด
การป้องกันคือ พยายามหลีกเลี่ยงนำสุนัขไปอยู่ในที่ร้อนอบอ้าว หรือ การพาจูงเดินทำกิจกรรมในช่วงที่อากาศยังร้อนอยู่ ไม่นำสุนัขขังอยู่ในรถรอในระหว่างที่ เจ้าของลงแวะซื้อของ ควรมีคนอยู่ด้วย จะได้ดูแลได้ทันท่วงที วางน้ำสะอาดให้สุนัขกินในจุดต่างๆในบ้านให้พอเพียง ให้สุนัขอยู่ในที่ๆ มีอากาศถ่ายเทสะดวก สุนัขพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด Heat Stroke ได้แก่ สุนัขพันธุ์ขนยาวๆ ทั้งหลาย เช้่น ไซบีเรียน โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ พันธุ์เหล่านี้ แนะนำตัดขนให้สั้นลง หรือ ซอย เพื่อให้การระบายอากาศที่ขนและผิวหนังทำได้ดีขึ้น ต่อมา สุนัขพันธุ์หน้าสั่นทั้งหลาย เช่น ปั๊ก บูลด๊อก สุนัขอ้วน ซึ่งจะทำให้มีไขมันสะสมที่ชั้นใต้ผิวหนังเยอะ การระบายความร้อนจะเกิดขึ้นได้ไม่ดีนัก ถ้าเทียบกับสุนัขปกติ สุนัขอีกประเภทที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ สุนัขที่ชอบทำกิจกรรมทั้งหลาย เช่น ลาบราดอร์ เยอรมันเชฟเพิร์ด และ โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ซึ่งดูเหมือนจะทั้งขนยาวและชอบทำกิจกรรมเช่นกัน
การแก้ไข ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเราพบสุนัขมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบนำสุนัขออกมาจากที่อยู่นั้นๆ เข้าห้องแอร์ ใช้น้ำที่อุณหภูมิห้องเช็ดตัว เน้นที่บริเวณ รักแร้ ขาพับด้านหลัง บริเวณอุ้งเท้า ซึ่งจะระบายความร้อนออกมาทางเส้นเลือดที่บริเวณผิวหนัง ขอย้ำนะคะ ให้ใช้น้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นหรือน้ำเเข็งเช็ดตัว เช็ดตัวไปเรื่อยๆ และวัดอุณหภูมิทุกๆ 15 นาที จนกวาอุณหภูมิในร่างกายจะลดลงมาเหลือต้ำกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์ จึงค่อยหยุดเช็ดตัว สิ่งที่เราต้องการในตอนนี้ คือ ทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังสามารถขยายตัวทำงานได้ดีในการระบายความร้อนออก ไม่ใช่ทำให้หลอดเลือดหดตัว การใช้น้ำเย็นหรือน้ำเเข็ง จะทำให้หลอดเลือดที่ผิวหนังหดตัว อุณหภูมิอาจจะลงในช่วงแรก แต่ในระยะต่อมาการระบายความร้อนจะทำได้ช้าลง ค่ะ จากนั้นรีบนำส่งสัตวแพทย์ค่า คุณหมออาจให้น้ำเกลือเข้าเส้นเพื่อช่วยในการระบายความร้อนภายในออก และ ให้ยาอื่นๆ ตามอาการไปค่ะ
บทความนี้อาจจะยาวมากที่สุดตั้งแต่เคยทำรพ.นี้ และ ยาวมากเท่าที่เคยเขียนบทความมาทั้งหมด แต่หมอเจี๊ยบเชื่อว่า มันน่าจะมีประโยชน์กับ เจ้าของสุนัขทุกท่านค่ะ ใครอยากจะแชร์บทความนี้ไปที่หน้ากระดาน สามารถทำได้เลยค่ะ ไม่ต้องขออนุญาตค่า
สุดท้ายนี้ ขอแสดงความเสียใจกับคุณบาส เจ้าของสุนัขไซบีเรียนชื่อ กู๊ดไนท์ ด้วย ที่ได้เสีย ไนท์ ไป เมื่อเย็นวันที่ 20 เมย 62 ที่ผ่านมา จากภาวะ Heat Stroke ค่ะ
คุณบาส กรุณาให้เราแชร์ภาพนี้ออกมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับสุนัขตัวอื่นๆ ค่ะ ถึงอันตรายของ หน้าร้อน นี้
คุณหมอเจี๊ยบและทางเจ้าหน้าที่รพ.ทุกท่าน ขอให้ กู๊ดไนท์ ไปเกิดในภพภูมิที่ดี นะคะ และขอบุญกุศลที่หมอได้เคยทำมาทั้งหมด หมอขออุทิศให้กับ กู๊ดไนท์ ค่ะ