อบจ.เชียงใหม่ ชี้แจง กรณีตัดต้นยางนา อายุกว่า 100 ปี สี่แยกกองทราย หลังมีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องศาลปกครอง ชม.
21 ก.พ.62 รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดำเนินการตัดต้นยางนา 2 ต้น อายุกว่า 100 ปี ที่อยู่บริเวณสี่แยกกองทราย ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ถนนวงแหวนรอบนอกเมืองเชียงใหม่ ต.หนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สภาพเหลือแต่ตอ และหลังจากที่วานนี้ (20 ก.พ.62) ทางด้านอาจารย์ บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือหมอต้นไม้ พร้อมด้วย นายสมชัย เบญจชย อดีตนักวิชาการป่าไม้ และกลุ่มเครือข่าย เขียว สวย หอม ได้ร่วมกันลงสำรวจข้อมูลในการดำเนินการฟื้นฟูและรักษา ต้นยางนาทั้ง 2 ต้น ดังกล่าว และหลักเรื่องราวดังกล่าวปรากฎไปนั้น
ทางด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1 และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 2 ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในการสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการตัดฟัน ทำลายต้นยางนา 2 ต้นบริเวณที่แยกกองทราย ซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี บริเวณถนนต้นยาง หรือถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน จนมีสภาพเหลือแต่ตอโด่เด่เป็นที่อุจาดทัศน์และครหาของผู้คนที่พบเห็น ทั้งนี้ต้นยางนาดังกล่าวปลูกมาตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวออกมานั้น
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ ทางด้าน นายสมชาติ วัฒนากล้า ผู้อำนวยการกองช่าง อบจ.เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชัยศิลป์ ปัญญาบุตร หัวหน้าฝ่ายเครื่องจักรกล อบจ.เชียงใหม่ ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในการดำเนินการตัดต้นยางนา 2 ต้น อายุกว่า 100 ปี ที่อยู่บริเวณสี่แยกกองทราย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้
โดยทาง นายสมชาติ วัฒนากล้า ผู้อำนวยการกองช่าง อบจ.เชียงใหม่ จากกรณีที่ทาง อบจ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินการ ตัดต้นยางนา 2 ต้น ที่อยู่บริเวณสี่แยกกองทราย ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตามที่ปรากฏภาพออมาดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนขอชี้แจงว่า ทาง อบจ.เชียงใหม่นั้นมีหน้าที่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือการดูแลอนุรักษ์ เช่น การฟืนฟูรากต้นยางที่อยู่ในพื้นที่ และส่วนที่สองคือการดูแลตัดแต่งกิ่งต้นยางนาเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่ขับรถสัญจร เนื่องจากที่ผ่านมานั้นมีหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์พายุฤดูร้อน และทำให้เกิดกิ่งแห้งหักโค่นลงมาทับทรัพย์สินและบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ซึ่งทาง อบจ.เชียงใหม่ ก็ได้มีการตั้งคณะเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปดูแลติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยขณะเดียวกันจากการตรวจสอบก็พบว่าต้นยางนั้นมีแมลงกัดเซาะ และกัดกินแกนด้านในต้น จึงต้องมีการตัดแต่งกิ่งอย่างต่อเนื่องทั้งปี
สำหรับกรณีต้นยางทั้ง 2 ต้น ที่อยู่บริเวณสี่แยกกองทราย ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่า ต้นหนึ่งมีสภาพที่ตายแล้ว เนื่องจากกรมทางหลวงได้มีการก่อสร้างทำถนน โดยการคลอบพื้นผิวด้านบนทั้งหมด ส่งผลให้ระบบรากของต้นยางทั้ง 2 ต้น ขาดอากาศและสารอาหาร ทำให้ต้นยางเริ่มยืนต้นตายโดยเริ่มตายจากกิ่งข้างบนแล้วค่อยๆ แห้งลงมา และต้นที่มีปัญหาก็พบว่าด้านบนต้นได้ตายไปหมดแล้ว ประกอบกับทางเจ้าหน้าที่เกรงว่ากิ่งแห้งเหล่านี้จะหักหล่นลงมาเป็นอันตราย จึงได้มีการดำเนินการตัดแต่งกิ่ง และเมื่อมีการตัดก็พบว่าบริเวณง่ามลำต้นบริเวณตรงกลางกลายเป็นโพรงขนาดใหญ่ จึงต้องทำการตัดแต่งให้ต่ำลงมา และบังเอิญว่ามีขนาดความสูงเท่ากับต้นที่ได้มีการตัดก่อนหน้านี้ จึงทำให้กลายเป็นจุดสังเกตชัดเจน
จากการสำรวจพบว่าในขณะนี้ ต้นยางที่มีเหลืออยู่ทั้งหมดปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 949 ต้น ซึ่งทาง อบจ.เชียงใหม่ ก็ได้ร่วมกับทาง อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือหมอต้นไม้ ที่มีการดำเนินการโครงการฟื้นฟูระบบราก และได้มีการประชุมสภายางนาหารือกันครั้งล่าสุดที่เทศบาลตำบลหนองผึ้ง โดยในส่วนของการฟื้นฟูนั้นทราบว่า อาจจะต้องมีการรื้อคอนกรีตที่มีการเททับ จากนั้นอาจจะต้องการทำบล็อกพรุนที่น้ำสามารถซึมได้ ซึ่งเป็นโครงการที่หารือและจะดำเนินการกันอยู่ รวมไปถึงการดำเนินการคั้มต้นยางประมาณ 8 ต้น ที่ได้มีการสำรวจว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะล้มลงมา โดยกำลังทำโครงการเพื่อสร้างโครงเหล็กที่จะใช้ในการค้ำยัน โดยทาง อบจ.เชียงใหม่ก็กำลังร่วมกับสภายางนาในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีข่าวว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นคำฟ้องเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น ล่าสุดทาง อบจ.เชียงใหม่ ทราบเรื่องแล้ว โดยการยื่นฟ้องนั้นก็ถือเป็นสิทธิ์ของประชาชนหรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการครั้งนี้ และกำลังหารือกันเพื่อดำเนินการชี้แจงให้เกิดความเข้าใจกับทุกฝ่าย
ทางด้าน นายชัยศิลป์ ปัญญาบุตร หัวหน้าฝ่ายเครื่องจักรกล อบจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบต้นยางนาทั้ง 2 ต้นดังกล่าวพบว่า แกนกลางของลำต้นนั้นเป็นโพรงที่เกิดจากแมลงเข้าไปกัดกิน จนทำให้ลำต้นเริ่มพุ และหากไม่ดำเนินการตัดก็มีโอกาสที่จะเกิดการหักโค่นลงมาได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าต้นยางนาหลายต้นก็เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ และเมื่อตรวจสอบพบว่าโพรงในลำต้นเริ่มใหญ่ขึ้นก็จะต้องดำเนินการประชุมและขออนุมัติการตัดทั้งต้น เนื่องจากมีความอันตรายหากไม่มีการตัดและมีโอกาสเสี่ยงมากที่ลำต้นจะโค่นล้มลงมาได้ อย่างในกรณีอุทกภัยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ที่ได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดจนทำให้ต้นยางนาหักโค่นลงมาทับบ้านเรือน และทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหาย
ขณะเดียวกันก่อนที่จะมีการดำเนินการตัดต้นยางนาบริเวณดังกล่าวก็ได้มีการพูดคุยกับทางตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ที่ดูแลอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ทั้งเครือข่าย เขียว สวย หอม รวมไปถึงเทศบาลตำบลหนองผึ้ง ให้รับทราบ นอกจากนี้ต้นอื่นๆ ที่ได้มีการดำเนินการตัดก่อนหน้านี้ก็ได้มีการพูดคุย ปรึกษาหารือกับทาง อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือหมอต้นไม้ ก็ไม่เกิดปัญหาอะไร เช่นเดียวกับการตัดต้นยางนาทั้ง 2 ต้นนี้เช่นกันที่ได้มีการพูดคุยแล้วกับทางเลขาของ อาจารย์บรรจง ในวันที่ได้มีการดำเนินการที่เทศบาลหนองผึ้ง ซึ่งโดยตามขั้นตอนการดำเนินการนั้นเมื่อมีการแจ้งให้ทราบแล้วมีการตรวจสอบแล้วก็สามารถดำเนินการได้ทันทีในส่วนของจุดที่มีความเร่งด่วน โดยเฉพาะในส่วนของต้นยางนาทั้ง 2 ต้น
แหล่งที่มา: https://www.chiangmainews.co.th