เปิดศาลคำสั่ง คสช. ต่ออายุศาลรัฐธรรมนูญ ให้อยู่ยาวจนหลังเลือกตั้ง
ศาลรัฐธรรมนูญ: ต่ออายุให้อยู่ยาวจนหลังเลือกตั้ง คุ้มกันประกาศ/คำสั่ง คสช.
ภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 ที่กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระดำเนินการตามระบบเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน วันที่ 9 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบให้นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และเคยเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว นครินทร์ยังเคยทำงานเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 ในยุคของ คสช. ฉบับปี 2558 นอกจากนี้ในปี 2552-2558 ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่ 2 ของ คสช. ด้วย
วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบให้ปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ปัญญาเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และเคยเป็นคณะอนุกรรมาธิการประสานข้อมูลของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558
แม้ในปี 2559 จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 สั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่งเพื่อรอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม 2560 ตุลาการ 5 คน ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอยู่ในตำแหน่งมาจนครบวาระ 9 ปีแล้ว วันที่ 5 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก โดยขั้นตอนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2560 ก็เขียนไว้คล้ายกับขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ 2550
แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันได้ทำงาน วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ก็เปลี่ยนใจหันหลังกลับ 180 องศา ใช้มาตรา 44 อีกครั้งออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูก และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกใช้บังคับ
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรนี้ก็ไม่ถูก "เซ็ตซีโร่" คือ ให้ตุลาการที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้วแต่ คสช. ช่วยยืดอายุไว้ก็ให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป เท่ากับว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยว่า การกระทำใดของ คสช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า คสช. ต้องการจัดการเลือกตั้งเมื่อไร
ในระยะเวลา 4 ปี ของ คสช. มีการออกประกาศและคำสั่งมากกว่า 520 ฉบับ และออกพระราชบัญญัติกว่า 289 ฉบับ หลายฉบับเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจนเพื่อคุ้มครองความมั่นคงของ คสช. แต่เมื่อประชาชนยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายเหล่านั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตุลาการชุดนี้ยังไม่เคยวินิจฉัยว่า กฎหมายฉบับใดขัดต่อรัฐธรรมนูญเลย ไม่ว่าจะเป็น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หรือพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่มีข้อจำกัดการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้าก็อาจเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมโดยกฎหมายของ คสช. ที่อาจจำกัดสิทธิของประชาชนโดยที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นชุดเดิม
แหล่งที่มา: https://ilaw.or.th/node/4808