ชมภาพฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ถ้าเข้าปอดคนจะเป็นอย่างไร
ภาพแสดงตัวอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน บนกระดาษกรองชนิด Quartz ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 47 มิลลิเมตร ด้วยเครื่อง MiniVol ที่อัตราการไหลอากาศ 5 ลิตรต่อนาที เริ่มเก็บตัวอย่างในห้องเรียนเมื่อ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 น. ใช้เวลาเก็บตัวอย่าง 24 ชั่วโมง ณ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน
.
จะสามารถสังเกตสีฝุ่นสีดำบนกระดาษกรองหลังการเก็บข้อมูลได้ชัดเจนมากๆ ซึ่งหากไม่มีการป้องกัน หายใจตรงเอาฝุ่นขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย จะสามารถเข้าไปสะสมในปอด หรือในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงได้
.
หมายเหตุ: คนทั่วไปหายใจปกติ 5-8 ลิตรต่อนาที ถ้าออกกำลังอาจขึ้นไปถึง 130 ลิตรต่อนาที (ผู้หญิง) หรือ 180 ลิตรต่อนาที (ผู้ชาย) ถ้าออกกำลังกายหนักๆ 200 ลิตรต่อนาที
.
งานวิจัยโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช.
ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน คือ มลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ กล่าวคือ เล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ และมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด (5 ไมครอน) ดังนั้นฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ ฝุ่นมีลักษณะที่ขรุขระคล้ายสำลี ฝุ่นเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก
โดยทั่วไปฝุ่นละอองนั้นมีอยู่ในธรรมชาติ เช่น เกสรดอกไม้ ละอองดินทราย และฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรม การคมนาคม การเผาในที่โล่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานฟอลซิล ฝุ่นละอองขนาดใหญ่จะถูกกรองโดยขนจมูก แต่ฝุ่นพิษขนาดเล็ก PM2.5 นั้น สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูก เข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างง่ายดาย ฝุ่นขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นตามแรงดึงดูดของโลก แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5ไมครอน (PM2.5) จะสามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานและปะปนกับมลพิษอื่นในอากาศ หากปะทะเข้าจมูกหรือปาก ฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่านี้บางส่วนถูกขับออกมาเป็นเสมหะและสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็งหากสะสมอยู่ในอวัยวะใดนาน ๆ
PM 2.5 แบ่งเป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน PM 2.5 ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบใดๆ เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) องค์การอนามัยโลก(WHO)จึงกำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ในปี พ.ศ.2556