ไทยอาจปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศหลังปี 65 เร่งยกระดับน้ำมันยูโร 5-6 จับตาฝุ่นละออง PM1
เผยมาตรการระยะยาวปี 2565-2570 อาจพิจารณาปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ หลังยกระดับน้ำมัน-รถไฟฟ้าสร้างเสร็จ อนาคตจับตาฝุ่น PM1
นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยในการประชุมระดมความคิดเห็นต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) กรณีกรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 ตอนหนึ่งว่า แนวทางการแก้ไขปัญหา PM2.5 มาตรการระยะเร่งด่วนช่วงสถานการณ์เกินค่ามาตรฐานขณะนี้ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการไว้เป็น 4 ระดับตามความเข้มข้นของ PM2.5 และหลังจากสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ยังจะมีการประชุมเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายพันศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของมาตรการระยะกลางช่วงปี 2562-2564 จะมีการเร่งยกระดับมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ให้เร็วขึ้น สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จใช้ได้ในช่วงนี้ ดังนั้นในระยะกลางจึงเชื่อว่าปัญหาจะค่อยๆ ดีขึ้น และในมาตรการระยะยาวช่วงปี 2565-2570 อาจมีการเร่งมาตรฐานน้ำมันขึ้นไปสู่ยูโร 6 รวมถึงการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองของประเทศ ซึ่งอาจยกระดับเป็นเป้าหมายที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือเป็นระดับเดียวกันกับไกด์ไลน์เลย ขึ้นกับการพิจารณาในช่วงดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
“การปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศจะต้องประเมินหลายๆ อย่าง ทั้งศักยภาพความพร้อม เทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมลพิษทางอากาศไม่ได้มีเฉพาะ PM2.5 เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมลพิษตัวอื่นๆ อีกด้วย และในปัจจุบันเองก็มีการเริ่มพูดถึงฝุ่นเล็กขนาด PM1 กันไปแล้ว เมื่อถึงวันนั้นเราอาจข้าม PM2.5 แล้วไปกำหนดมาตรฐาน PM1 เลยก็ได้” นายพันศักดิ์ กล่าว
นายศิรพงศ์ สุขทวี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่นำมาช่วยลดฝุ่นละอองได้คือต้นไม้ ซึ่งจากงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาเก็บตัวอย่างใบไม้เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณฝุ่นละออง พบว่าใบไม้ที่มีขน เช่น ตะขบ หรือไผ่ สามารถดักจับฝุ่นละอองได้มากกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง คำจำกัดความอาจไม่ใช่แค่สนามหญ้า แต่เราต้องการต้นไม้ที่มีจำนวนใบมาก เลือกชนิดที่เหมาะสมสามารถช่วยจับฝุ่นได้เยอะ
น.ส.ถนอมลาภ รัชวัตร์ นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอในการจัดการปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ในส่วนของมาตรการทางกฎหมาย ควรจะมีการเข้มงวดในการต่อทะเบียนรถยนต์ และการเผาในที่โล่ง มาตรการทางภาษี ควรกำหนดภาษีรถยนต์เชื่อมโยงกับการปล่อยมลพิษ มาตรการวิจัยและพัฒนา ให้จัดทำบัญชีแหล่งกำเนิดฝุ่น และมีนวัตกรรมการป้องกันผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ส่วนมาตรการทางผังเมือง ต้องลดการเดินทางและขนส่ง รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียว
แหล่งที่มา: greennews.agency