กำแพงของทรัมป์ คือการประหารชีวิตสัตว์ป่า
ความฝันของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะสร้างกำแพงกั้นพรมแดนนั้นกำลังกลายเป็นฝันร้ายของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ทั้งยังมีส่วนที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางด้านสภาพอากาศ
สำหรับประเทศที่กำลังถูกทำลายจากสภาวะโลกร้อนมันคือการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์อย่างไร้ค่า
Tim Keitt และ Norma Fowler นักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหว ที่เคยทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกำแพงเมื่อเดือนเมษายน 2561 ยกตัวอย่างเช่น
พืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับริโอแกรนด์จะได้รับผลกระทบจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยเพราะถูกทำลายโดยกระบวนการก่อสร้าง หมีดำที่อยู่ในเทือกเขา Sierra Madre ใกล้กับอุทยานแห่งชาติ Big Bend จะเสี่ยงสูญพันธุ์หากที่อยู่อาศัยถูกตัดขาดเพราะกำแพง เช่นเดียวกับ โอเซลอต แมวป่าในตระกูลเสือจากัวร์ที่มีประชากรขนาดเล็กอยู่ทางตอนใต้ของรัฐเท็กซัสเสี่ยงต่อการถูกทำลายเหมือนกัน
กำแพงนี้ยังอยู่ใกล้กับ National Butterfly Center ซึ่งเป็นที่หลบภัยขนาด 100 เอเคอร์ของสัตว์ป่า “พวกเขากำลังจะตัดต้นไม้ทั้งหมดของที่นี่ซึ่งมันจะกินเวลาไปถึงฤดูทำรังในช่วงใบไม้ผลิ” Marianna Trevino-Wright ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์กล่าว
“นี่คือการฆ่านกถึงหนึ่งหมื่นตัว เรากำลังจะสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจำนวน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการรักษาเผ่าพันธุ์สัตว์ สัตว์ต้องการพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่หากิน โอกาสในการผสมพันธุ์ แต่กำแพงจะตัดวงจรชีวิตพวกเขาออกไป หากเกิดน้ำท่วมขึ้นที่ริโอแกรนด์เพราะนี่เป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำชีวิตบนบกของจิ้กจกเขาเท็กซัสและเต่าเท็กซัส ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ อาจจะต้องจมน้ำตาย”
Dan Millis จาก Sierra Club Borderlands ตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างกำแพงพรมแดนเป็นการก่อวินาศกรรมทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เหตุผลที่ผมพูดแบบนี้ คือเรารู้ว่าการย้ายถิ่นของสัตว์ป่าจะถูกกั้นด้วยกำแพงและรั้วที่สร้างขึ้นแล้ว เรามีกำแพงนับร้อยที่สร้างขึ้นโดยไม่สนใจเรื่องการปกป้องทางสิ่งแวดล้อมเลย”
ในอีกประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวแต่กับสัตว์ป่า ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าการใช้ปูนซีเมนต์จำนวนมากเพื่อสร้างกำแพงดังกล่าวเป็นแหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล
Kierán Suckling ผู้อำนวยการบริหารของ Center for Biological Diversity กล่าว่า “ ไม่มีเหตุผลที่จะเสียสละสุขภาพของชุมชนชายแดนและสัตว์ป่าสำหรับความคิดทางการเมืองเช่นนี้”
“ถ้าทรัมป์กังวลกับปัญหาความมั่นคงของชาติจริง เขาควรจะสนใจเรื่องการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปกป้องผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพที่ได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากโลกร้อน และความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเกิดเขา” Gene Karpinski ประธานสันนิบาตอนุรักษ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกล่าว
ทีมบริหารของทรัมป์รู้ถึงภัยคุกคามทางนิเวศที่เกิดจากการสร้างกำแพงแต่ก็เลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย
ในเอกสารที่ถูกส่งถึงศุลกากรและหน่วยงานปกป้องชายแดนของสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมคำเตือนจากนักชีววิทยาและนักสิ่งแวดล้อมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างกำแพง มีใจความสรุปว่า “การใช้เทคโนโลยี การลาดตระเวนชายแดนเพิ่มเติม และกลไกอื่นๆ ดีกว่า การสร้างกำแพง”
“แต่การบริหารของรัฐบาลไม่สนใจ พวกเขาปฏิเสธหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น และความปลอดภัยของชุมชนเพื่อสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา Jamie Rappaport Clark ผู้บริการ Defenders of Wildlife’s กล่าว
นอกเหนือจากสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ระหว่างพรมแดนเท็กซัสและเม็กซิโก ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผู้อพยพที่ต้องเผชิญวิกฤตเช่นเดียวกับสัตว์ป่า และกำแพงจะทำให้วิกฤตนั้นรุนแรงยิ่งขึ้น
จากรายงานของสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ พบว่าตั้งแต่ปี 2551 มีจำนวน 26.4 ล้านคนที่ต้องอพยพออกจากบ้านเพราะถูกภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง ขณะที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศเม็กซิโกได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว น้ำท่วม และพายุเฮอริเคนในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังที่ 350.org ได้อธิบายไว้ “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นมากกว่าการลดปล่อยมลพิษและการวัดทางวิทยาศาสตร์ มันเป็นการต่อสู้เพื่อโลกที่ยุติธรรมและยั่งยืน การกักขังและส่งกลับผู้ลี้ภัยจากผลกระทบสภาพอากาศเป็นการเพิ่มความทุกข์แก่พวกเขา เราไม่สามารถเรียกร้องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ หากเราหันไปหาผู้ลี้ภัยในวันที่พายุสงบลงและความแห้งแล้งสิ้นสุดลงแล้ว”
การสร้างกำแพงคอนกรีตขนาดมหึมาขึ้น เป็นการก้าวถอยหลังสำหรับประเทศชาติ เป็นชัยชนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรามอบให้เพราะการบริหารด้วยวิสัยทัศน์ที่คับแคบของทรัมป์ ซึ่งนั่นคือชะตากรรมของอเมริกา”
เรียบเรียงจาก Trump’s wall: A death sentence for wildlife เขียนโดย Blake Skylar
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
แหล่งที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร