ทบทวนบทบาทงานข่าวสิ่งแวดล้อม ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ทุก ๆ เช้าที่ตื่นมาสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนจะทำคือ เข้าไปอ่านข่าวตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อดูความเคลื่อนไหวของกระแสสังคม เช้าวันนี้ข่าวที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือข่าว pm 2.5 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นข่าวต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายคนบ่นนั่นก็คือการที่หลายฝ่ายไม่มีการออกมาแจ้งเตือนต่อปัญหาดังกล่าว
กระแสข่าวสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในยุคที่โลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ขยะพลาสติก มลภาวะ งานอนุรักษ์ผืนป่าสัตว์ป่า หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่สะท้อนชัดมากขึ้น เหมือนธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้เราต้องตื่นตัว
ผู้สื่อข่าวคือตัวกลางสำคัญที่จะส่งสัญญาณเหล่านี้ให้กับประชาชนได้รับทราบ นายวสันต์ เตชะวงศ์ธรรม อดีตประธานชมรม และนางจิตติมา บ้านสร้าง ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้พูดถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของงานข่าวสิ่งแวดล้อม ในงานประชุมรายงานผลการดำเนินงานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปี 2560-2561 ณ. ห้องประชุมอิศรา อนันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562
อดีต-อนาคต งานข่าวสิ่งแวดล้อม
งานข่าวสิ่งแวดล้อมในอดีตไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญมากนัก มีเพียงบางสำนักข่าวเท่านั้นที่จะมีโต๊ะสิ่งแวดล้อมโดยตรง นายวสันต์กล่าวว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เพื่อนร่วมอุดมการณ์เริ่มหายไปทีละคน โต๊ะข่าวสิ่งแวดล้อมก็เริ่มหายไป บางส่วนก็ย้ายไปประจำโต๊ะข่าวอื่น ๆ
สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวสารสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่กระทบต่อตัวเราโดยตรง นายวสันต์ยังเล่าต่อว่า ต่อไปสังคมจะให้ความสำคัญกับข่าวนี้มากขึ้น เพราะเป็นปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ประโยคที่นักวิทยาศาสตร์พูดในอดีตที่ว่าในอีก 150 ปีข้างหน้าโลกจะร้อนขึ้น ปัจจุบันเราพบว่านักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ผิด มันไม่ถึง 100 ปีด้วยซ้ำ เพราะตอนนี้มันส่งผลกระทบออกมาให้เห็นแล้ว
ด้านจิติมาเล่าว่า นักข่าวสิ่งแวดล้อมในอีดต แทบจะเป็นสายเดียวที่ทำข้อมูลเยอะพอสมควร เพราะนักข่าวสายนี้ไม่ใช่เพียงการจับกระแสข่าวอย่างเดียว แต่ต้องใช้ปรากฏการณ์ควบคู่ไปกับนักวิชาการ งานข่าวสิ่งแวดล้อมจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ งานที่ทำด้วยตัวเองตามข้อมูลเป็นหลัก และสองคืองานที่ต้องตามหลังนักวิชาการ นำเสนอเป็นระยะ ๆ ความรู้ที่ได้ต้องสะกัดออกเป็นงานข่าวที่สามารถเข้าใจง่าย
งานข่าวสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ปัจจุบัน
นายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมระบุว่า ข่าวสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันน้อยครั้งที่จะได้รับความสนใจจนเป็นข่าวหน้าหนึ่ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม เช่น เรื่องป่าชุมชน ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงมันเป็นเรื่องในระดับประเทศ
เมื่อถามถึงปัญหามลภาวะทางอากาศ pm 2.5 ปํญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในตอนนี้นายฐิติพันธ์ได้ให้ความเห็นว่าจริง ๆ แล้วปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ถ้าไม่ได้เกิดกับศูนย์กลางหรือในกรุงเทพฯ ก็จะไม่ได้รับความสนใจ ปัญหานี้มันเกิดขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคเหนือมานานแล้ว แต่รัฐบาลไม่ได้พยายามที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ในยุคที่ทุกคนสามารถสร้างสื่อได้ กลายเป็นโจทย์สำคัญให้กับชมรมที่จะต้องตอบได้ว่า ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมจะทำอะไรต่อท่ามกลางกระแสข่าวออนไลน์และจะผลักดันอย่างไรให้งานข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นที่พูดถึงมากขึ้น นายฐิติพันธ์ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของงานข่าวสิ่งแวดล้อมคือนักข่าวจะให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ การรายงานภาคสนามจะให้ข่าวที่เข้มแข็ง และน่าเชื่อถือ ทั้งยังสามารถเจาะจงพื้นที่ได้ แม้เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกพูดถึง เมื่อปี 2561 ปัญหาท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชมรมพานักข่าวไปลงพื้นที่
ในอนาคตทางชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมจะยังคงกิจกรรมเดิม เช่น การจัดเวทีเสวนา จัดทำหนังสือเมื่อปลาจะกินดาว หนังสือรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในรอบปี หรือจัดค่ายพิราบเขียว ค่ายพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจทักษะการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม และอาจจะมีกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น การจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์นักการเมืองรุ่นใหม่เกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ติดตามงานข่าวสิ่งแวดล้อมทั้งไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงการทำงานร่วมกันกับนักข่าวสายอื่น ๆ
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ กชกร พันธุ์แสงอร่าม เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
แหล่งที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร