คพ.สรุปสถานการณ์มลพิษไทยตลอดปี 2561 พบขยะเพิ่มมากขึ้น-เดินหน้าจัดการซากนำเข้า
กรมควบคุมมลพิษแถลงสรุปภาพรวมปี 2561 พบขยะมูลฝอยเพิ่ม เตรียมเดินหน้าโรดแมปเลิกใช้พลาสติก-จัดการขยะนำเข้า ด้านคุณภาพอากาศโดยรวมดีขึ้น
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงสรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทย ประจำปี 2561 โดยพบว่าจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภค ทำให้ในปี 2561 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 1.64% ซึ่งถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ 34% กำจัดอย่างถูกต้อง 39% และกำจัดไม่ถูกต้อง 27%
ทั้งนี้ ในขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ 0.5 ล้านตันเท่านั้น ส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนมี 6.4 แสนตัน เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 65% และอื่นๆ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ 35% โดยได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 13%
นายประลอง กล่าวว่า แม้ปริมาณการจัดการอย่างถูกต้องจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบที่จะคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป รวมถึงกฎหมายกำกับดูแลให้ภาคเอกชนรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งในปี 2561 ยังมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อนำมาคัดแยก ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“จึงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับชาติ โดยให้ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ อนุญาตการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้ไม่เกิน 2 ปี ยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นรายการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบให้นำเข้าตามความจำเป็น” นายประลอง กล่าว
นอกจากนี้ยังมีกากของเสียอุตสาหกรรม เข้าสู่ระบบการจัดการ 22 ล้านตัน เป็นกากไม่อันตราย 20.8 ล้านตัน และกากอันตราย 1.2 ล้านตัน ส่วนมูลฝอยติดเชื้อมีเกิดขึ้น 55,497 ตัน โดยมาจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 50% และมาจากโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน 24% ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 90%
นายประลอง กล่าวว่า สำหรับการจัดการในอนาคต ได้จัดทำโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2562-2570 โดยให้ลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมสารประเภทอ็อกโซ่ ไมโครบีดจากพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก
ขณะเดียวกันยังจะมีการปรับปรุงแก้ไขสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงเข้มงวดในการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ในส่วนของคุณภาพอากาศ พบว่าภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 2560 โดยจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ 33 จังหวัด พบ 7 จังหวัดที่มีจำนวนวันเกินค่ามาตรฐาน 20% ของปี ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ตาก สระบุรี และสงขลา และที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย นนทบุรี ปทุมธานี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล ยะลา และนราธิวาส
สำหรับ 9 จังหวัดภาคเหนือพบว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก โดยมีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานลดลง 44% จากปี 2559 และมีจุดความร้อนสะสมลดลง 53% จากปี 2559 ส่วนที่ ต.หน้าพระลาน จ.สระบุรี มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานถึง 165 วัน เพิ่มขึ้น 27% จากปี 2560 เนื่องจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองหินในพื้นที่ การจราจร การบรรทุกขนส่ง ถนนชำรุด
นายประลอง กล่าวว่า ในอนาคตทาง คพ. จะกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศในรูปอัตราการระบาย ให้มีระบบอนุญาตการระบายมลพิษ ยกระดับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานยูโร พร้อมกำหนดระยะการตรวจสภาพรถยนต์ จัดเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีตามปริมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศ
ด้านของคุณภาพน้ำ พบว่าแม่น้ำสายหลัก 59 สาย และแหล่งน้ำนิ่ง 6 แหล่งทั่วประเทศ อยู่ในเกณฑ์ดี 45% เกณฑ์พอใช้ 43% เกณฑ์เสื่อมโทรม 12% โดยไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ตั้งแต่ปี 2552 อย่างไรก็ตามพบว่าแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคุณภาพดีมากกว่าภาคอื่น ขณะที่ภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่น
สำหรับ 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุดในปี 2561 ได้แก่ แม่น้ำตาปีตอนบน อูน แควน้อย ลำชี สงคราม และ 5 อันดับแรกของแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ลำตะคองตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ท่าจีนตอนกลาง
ส่วนคุณภาพน้ำทะเล พบว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก 1% เกณฑ์ดี 58% เกณฑ์พอใช้ 35% เกณฑ์เสื่อมโทรม 5% และเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก 1% โดยชายหาดเกาะม้า จ.สุราษฎร์ธานี และทะเลแหวก จ.กระบี่ มีคุณภาพน้ำทะเลดีที่สุด ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนใน และปากแม่น้ำสายหลัก ยังคงเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง
นายประลอง กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำและน้ำทะเลเสื่อมโทรม เนื่องจากระบบการจัดการน้ำเสียของชุมชนที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ไม่สามารถรวบรวมน้ำเสียทั้งหมดมาบำบัดได้ และการระบายน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษไม่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงมีปริมาณของเสียมากเกินกว่าศักยภาพการรองรับของแหล่งน้ำ
นายประลอง กล่าวอีกว่า การจัดการคุณภาพน้ำในอนาคต จะมีการลดและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด พิจารณาการรองรับมลพิษของแหล่งน้ำ ประยุกต์ใช้ระบบอนุญาตการระบายมลพิษ ใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ปลูกจิตสำนึกทุกภาคส่วนไม่ทิ้งของเสียลงน้ำ และสร้างศักยภาพการจัดการน้ำเสียให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งปลูกจิตสำนึกทุกภาคส่วนไม่ให้ทิ้งขยะและน้ำเสียลงแหล่งน้ำ
แหล่งที่มา: greennews.agency