ผลวิจัยชี้ สว. คือกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอมใน Facebook มากที่สุด!
นิตยสาร Science Advance ได้ทำการเผยแพร่งานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย New York และ Princeton ร่วมกับบริษัทวิจัย YouGov ที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้งาน Facebook
โดยกลุ่มนักวิจัยได้รวบรวมผู้คนจำนวน 3,500 คน ทั้งคนที่ใช้และไม่ใช้ Facebook โดยขอให้กลุ่มผู้ทดลองที่ใช้ Facebook ติดตั้งแอพฯ ที่เป็นการขออนุญาตให้พวกเขาแชร์ข้อมูลการแชร์ข่าวของตัวเอง หน้าโปรไฟล์ที่มองเห็นได้สาธารณะ เพจที่พวกเขากดติดตามไว้ เพื่อจะดูเนื้อหาที่พวกเขาแชร์ ซึ่งมันจะช่วยสะท้อนมุมมองการเมือง ศาสนาของตนเอง โดยมีกลุ่มผู้ทดลอง 49% ที่ยินยอมแชร์ข้อมูลให้นักวิจัยดู จากนั้นนักวิจัยได้ตรวจสอบลิงก์ที่ผู้ทดลองโพสต์ลงในไทม์ไลน์ของตน กับรายการโดเมนเว็บที่มีข่าวปลอมในอดีต เพื่อตรวจสอบลิงก์กับรายการข่าวและโดเมนปลอม เพื่อดูว่าผลลัพธ์จะสอดคล้องกันหรือไม่
ซึ่งผลจากการตรวจสอบ พบว่า 8.5% ของผู้ให้การสำรวจแชร์ข่าวปลอม ผู้ใช้ที่ระบุตนว่าเป็นอนุรักษ์นิยมก็มีแนวโน้มจะแชร์ข่าวปลอมมากกว่ากลุ่มเสรีนิยม แต่เมื่อแยกเป็นอายุพบผลลัพธ์น่าสนใจคือ คนอายุมากกว่า 65 ปีราว 11% แชร์ข่าวปลอม เทียบกับคนอายุ 18-29 มีเพียง 3% เท่านั้น เรียกได้ว่าคนมีอายุแชร์ข่าวปลอมมากกว่าคนอายุน้อยหลายเท่าตัว
แต่อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยก็ไม่ได้สรุปว่าทำไมผู้ใช้ที่มีอายุมากมีแนวโน้มที่จะแชร์ข่าวปลอมมาก แต่นักวิจัยได้ชี้ไปที่ความเป็นไปได้คือผู้สูงอายุที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตช้ากว่า และยังขาดทักษะ digital literacy หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้พวกเขาติดกับดักข่าวปลอมได้ง่าย อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในบ้านเรา ที่คนรุ่นพ่อแม่มักจะชอบแชร์ข่าวๆ ต่างๆ โดยไม่ทันได้ดูที่มา หรือข้อเท็จจริงเลย โดยที่จะเห็นบ่อยที่สุดก็น่าจะเป็นพวกดวง แชร์แล้วรวย แชร์แล้วถูกหวย คาถาพารวยต่างๆ ซึ่งคนมีอายุมักจะมีแนวโน้มเชื่อข่าวปลอมที่แชร์กันในโลกออนไลน์ได้ง่ายมากที่สุดด้วย