อ.เจษฎา ชี้กินผงชูรสแล้วอันตราย ทำให้ผมร่วง เป็นความเชื่อที่ผิดฝังลึกในใจคนไทยมานาน
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชา ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค Jessada Denduangboripant ระบุว่า
พึ่งโพสต์ไปไม่กี่วัน เรื่อง "ผงชูรสมรณะ" นี้กลับมาแชร์อีกแล้ว แล้วก็มั่วด้วยนะ ... อย่างที่บอกว่าประเทศญี่ปุ่นไม่กินผงชูรสกันเนี่ย ไม่จริงเลยนะ ญี่ปุ่นนี่แหละตัวผลิตและก็ตัวกินเลย มีขายทั่วไปในชื่อ "อายิโนะโมะโต๊ะ" ด้วยซ้ำ (เรียกแทนชื่อยี่ห้อเลย) ถ้าอันตรายขนาดนั้น ทำไมถึงยังขายกันทั่วโลกล่ะ องค์การอนามัยโลกก็บอกว่ากินได้ เป็แค่เครื่องปรุงรส
--------
ยืนยันอีกครั้งว่า "ผงชูรสเป็นแค่เครื่องปรุงรสอาหาร ไม่ได้อันตรายถ้าบริโภคตามเหมาะสม" ครับ
เรื่อง "กินผงชูรสแล้วอันตราย" เนี่ย เป็นความเชื่อผิดๆ ที่ฝังลึกในใจคนไทยและคนทั่วโลกมานานมากๆๆ ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงแค่เกลือของกรดอะมิโน จัดเป็นเครื่องปรุงรสอาหารชนิดหนึ่ง และก็ไม่ได้จะมีอันตรายอะไรมากไปกว่าการกินเกลือแกงในปริมาณเท่าๆ กัน ผมเคยโพสต์อธิบายเรื่องนี้หลายครั้งแล้วนะ
อย่างเรื่องที่แชร์กันอีกแล้วนี่ ว่า "ผงชูรสฆ่าคน" อ้างว่า "วัตถุดิบในการทำผงชูรสนั้น ไม่ได้มาจากแป้งมันสำปะหลัง แต่ทำมาจากกระดูกวัวควาย โซดาไฟ และปุ๋ยยูเรีย" ก็นับมาเชื่อมโยงเรื่องได้มั่วมากทีเดียว (มีการใช้จริง แต่ไม่ได้เป็นอันตราย) เลยขอเอามาอธิบายสรุปวิธีการผลิตผงชูรสให้ฟังนะ
- ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต นั้น ถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ได้สกัดผลึกสีน้ำตาลของกรดอะมิโน คือ "กรดกลูตามิก" จากสาหร่ายทะเลคอมบุ และจดสิทธิบัตรการผลิตผงชูรสเอาไว้
- ผงชูรสเริ่มผลิตขายเชิงพานิชย์ ใน พ.ศ. 2452 ภายใต้ชื่อการค้าว่า อายิโนะโมะโต๊ะ ด้วยการย่อยแป้งสาลีด้วยกรด เพื่อให้ได้กรดอะมิโน แล้วจึงแยกกลูตาเมตออก
- ในปัจจุบัน การผลิตผงชูรสใช้วิธีการหมักด้วยจุลินทรีย์ Corynebacterium ซึ่งในประเทศไทย ใช้แป้งมันสำปะหลังและกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก
- กระบวนการผลิตเริ่มจากการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลกลูโคส ด้วยการใช้เอนไซม์อะมัยเลส และอะมัยโลกลูโคลซิเดส ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส
- จากนั้น หมักเปลี่ยนสารละลายน้ำตาลกลูโคสให้เป็นกรดกลูตามิก ด้วยเชื้อจุลินทรีย์ Corynebacterium glutamicum หรือ เชื้อ Brevibacterium lactofermentum โดยมีการปรับค่า pH ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และเติมยูเรียหรือแอมโมเนีย เพื่อเป็นแหล่งอาหารไนโตรเจนของเชื้อจุลินทรีย์
- เมื่อหมักเสร็จแล้ว จะได้สารละลายกรดกลูตามิก ซึ่งต้องปรับ pH ด้วยกรดไฮโดรคลอริก เพื่อให้กรดกลูตามิกตกผลึก แล้วปรับให้เป็นกลาง ด้วยการเติมโซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) เพื่อให้กรดกลูตามิกกลายเป็นโมโนโซเดียมกลูตาเมต (หรือผงชูรส)
- ขั้นตอนสุดท้าย คือ การกำจัดสีและสิ่งเจือปน โดยการผ่านสารละลายไปในถังถ่านกัมมันต์ และตกผลึก ได้ผลึกผงชูรสบริสุทธิ์ เป่าผลึกให้แห้งด้วยลมร้อน คัดแยกขนาด แล้วแบ่งบรรจุถุง
แหล่งที่มา:https://web.facebook.com/photo.php?fbid=1402135189917111&set=a.348119915318649&type=3&theater