ครม.ไฟเขียวร่างกฏหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต รองรับความหลากหลายทางเพศของกลุ่มLGBTแต่ยังไม่เปิดให้รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
คณะรัฐมนตรีไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต รองรับความหลากหลายทางเพศ กลุ่มเลสเบี้ยน-เกย์-ไบเซ็กช่วล-คนข้ามเพศ (LGBT) ยันหากสภาผ่านกฏหมายฉบับนี้และประกาศใช้ ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมาย พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิตฉบับนี้ แต่ยังไม่เปิดให้รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
25 ธันวาคม 2561-นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอไว้พิจารณา โดยร่างกฎหมายนี้เพื่อให้มีกฎหมายรองรับสิทธิและหน้าที่ในการเป็นคู่ชีวิต โดยไม่ขัดหลักการสิทธิมนุษยชน และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน
โดยเป็นกฎหมายรองรับสิทธิในการสร้างครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงในการเคารพสิทธิมนุษยชนเทียบเท่ากับระดับสากล
ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจ กฎหมายดังกล่าวจะเพิ่มแรงจูงใจให้นักธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความมั่นใจในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวได้จากการที่นักท่องเที่ยวมั่นใจว่าประเทศไทยให้ความเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
นายณัฐพร เปิดเผยว่าที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ กรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน สำหรับปี 2562 ที่เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 2.5 บวกลบ ร้อยละ 1.5 หรืออยู่ในกรอบร้อยละ 1 – 4 โดยเป็นกรอบเดียวกับปี 2561
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ออกมาตรการเพิ่มขีดความสามารถ และส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องตามมาตรการเดิม
สำหรับเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต มีทั้งสิ้น 70 มาตรา โดยระบุหลักการเหตุผลว่า ปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ใช้ชีวิตร่วมกันดั่งครอบครัวทั่วไป แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ สิทธิ์และหน้าที่ในการเป็นคู่ชีวิตเช่นเดียวกับคู่สมรส ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และขัดต่อหลักการที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังคงใช้คำว่าคู่ชีวิต เนื่องจากสถานภาพยังไม่ใช่คู่สมรส แต่ใกล้เคียงสถานภาพผู้จดทะเบียนสมรส โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับภาคประชาสังคมเสนอแนวคิด เทียบเคียงกับต่างประเทศ พร้อมแก้ไขปรับปรุง โดยสาระสำคัญยังเน้นการแก้ปัญหาให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการสร้างครอบครัว และใช้สิทธิ์ในการอยู่ร่วมกันที่ควรจะเป็นในการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะ รวมทั้งการระบุถึงทรัพย์สินที่ทั้ง 2 ฝ่ายสร้างมา หลังใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน และการจัดการมรดก หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงไป
ส่วนผู้ทำหน้าที่นายทะเบียนจดทะเบียนคู่ชีวิต ให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ เนื่องจากเป็นการจดทะเบียนครอบครัว หากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องการจดทะเบียนซึ่งทั้งสองต้องบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย สามารถเดินทางมาแจ้งความประสงค์ได้ทุกอำเภอทั่วประเทศ ทุกเขตใน กทม. หนือกรณีอยู่ต่างประเทศสามารถทำไ้ด้โดยให้พนักงานทูต หรือกงสุลไทย เป็นนายทะเบียน เช่นเดียวกับการจดทะเบียนสมรสของคู่ชาย-หญิง ยกเว้นมีคู่สมรส หรือได้จดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงบุคคลทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม
ที่น่าสนใจกรณีคู่ชีวิตไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้โดยปกติสุข หรืออีกฝ่ายมีชู้ อาจร้องต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้ต่างฝ่ายต่างอยู่ มีการกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามควร หรือแล้วแต่กรณี ซึ่งการจดทะเบียนคู่ชีวิตจะเป็นโมฆะ ต้องร้องขอให้ศาลพิพากษาเท่านั้น โดยทรัพย์สินที่ทำมาร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง นอกจากนี้กรณีสมัครใจเลิกกันจากการเป็นคู่ชีวิตจะสมบูรณ์ต้องทำหนังสือ และมีพยานลงชื่ออย่างน้อยสองคนต่อหน้านายทะเบียน เป็นต้น