อุทยานฯเดินหน้าต้านค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย จับมือ UNDP หยุดงาช้าง-นอแรด-เสือโคร่ง-ลิ่น
กรมอุทยานฯจับมือ UNDP เข้มการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในไทย เน้นงาช้าง-นอแรด-เสือโคร่ง-ลิ่น เตรียมจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ปีที่ 50
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) เปิดโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เน้นงาช้าง นอแรด เสือโคร่ง และตัวลิ่น ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย เสริมสมรรถนะและสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างโครงการที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) TRACE: Wildlife Forensic Network และ TRAFFIC: The Wildlife Trade Monitoring Network ในการพัฒนาโครงการดังกล่าว
สำหรับโครงการดังกล่าวจะมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 พร้อมกิจกรรมใน 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.การพัฒนาความร่วมมือ การประสานงาน และการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมายด้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย 2.การเสริมสมรรถนะของผู้บังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะสนับสนุนห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าของ อส. ในการใช้เทคนิคทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการสืบสวนเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
3.การลดอุปสงค์ต่อสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ซึ่งองค์ประกอบนี้ อส., IUCN และTRAFFIC จะร่วมกันดำเนินกิจกรรมศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งหาวิธีสร้างแรงผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมที่มีต่อการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย 4.การจัดการความรู้ สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนที่ได้รับผ่านการดำเนินงานโครงการกับผู้ที่เกี่ยวข้องภายในโครงการทุกภาคส่วน ตลอดจนสาธารณชนในวงกว้างทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดี อส. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพในการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ครอบคลุมทั้งการพัฒนากลไก ความเข้มแข็งของผู้บังคับใช้กฎหมาย สมรรถนะของบุคลากร เครื่องมือ เทคนิควิธีการ ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เสริมสร้างทัศนคติของคนไทย ให้มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และแสดงจุดยืนในการไม่ยอมรับการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่าในทุกรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
ขณะเดียวกัน อส. พร้อมทั้งหน่วยงานที่ร่วมดำเนินโครงการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ภายในประเทศไทย จะมีส่วนร่วมกันช่วยยกระดับและพัฒนาแนวคิดด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในเวทีสากล ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (UNTOC) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) และปฏิญญาลอนดอนว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฏหมาย (London Declaration on Illegal Wildlife Trade)
นอกจากนี้ อส.ยังได้เตรียมจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “สังคมอยู่เย็น สัตว์ป่าเป็นสุข” หวังให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่มีผลกระทบต่อชุมชน เพื่อสะท้อนปัญหาและร่วมหาทางแก้ไข อันจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ระหว่างวันที่ 24-27 ธ.ค. 2561 ที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีกิจกรรมและการเสนาหลายหัวข้อ เช่น ความสำเร็จของงานพิทักษ์ป่า ตลอดระยะเวลา 50 ปี รางวัล Asia Awards ประจำปี 2561 ของ อส. และรางวัลพิเศษอื่นๆ เป็นต้น
อนึ่ง งานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ มีประวัติยาวนานจากการคุ้มครองสัตว์ป่าในประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2443 ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.บ.ช้างป่า รศ.119 (พ.ศ.2443) เพื่อควบคุมการล่าช้างป่า ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2503 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณลงพระนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตรา พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 จึงถือได้ว่าการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทยได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
ต่อมาในปี พ.ศ.2511 หลวงสมานวนกิจ นายกนิยมไพรสมาคม ทำหนังสือถึง จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขออนุญาตจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมา ทุกวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี จึงมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งนิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมประกอบกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่ามาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน และในปี พ.ศ.2561 การจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ก็ได้ดำเนินงานมาถึงปีที่ 50